Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๘. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่ ๘

วาระสุดท้าย

“เราได้อยู่ด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องแยกกันอยู่บางขณะ แต่ในที่สุด เราก็ได้มาอยู่ร่วมกันในบั้นปลายของชีวิต จนเธอได้จากไปตามกฎธรรมชาติ เธอเป็นคู่ชีวิตและมิตรที่ซื่อสัตย์ไม่ว่าเราจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน เธอเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้โดยไม่หยุดยั้ง เป็นตัวอย่างในความเป็นอยู่สมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ บำเพ็ญชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับใช้ประเทศชาติด้วยความเสียสละและมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณ ถึงคราวมีเคราะห์กรรมก็ไม่หวั่นไหว”

เดือนกันยายน ๒๕๒๔ พูนศุข-ปรีดีก็ต้องประสบความสะเทือนใจครั้งใหญ่ เมื่อปาลบุตรชายได้จากไปด้วยโรคมะเร็งในวัย ๕๐ ปี พูนศุขเผยความในใจว่า

“ปาลเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่หวังจะฝากผีฝากไข้ลูกในบั้นปลายชีวิต แต่ลูกก็ได้ด่วนจากพ่อแม่ไปก่อนตามกฎแห่งธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอำนาจหรือสิ่งใดที่จะเหนี่ยวรั้งได้”

ก่อนจะส่งร่างของลูกสู่ตึกกายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่บริจาคร่างกายของปาล แม่พูนศุขได้จูบลาลูกเป็นครั้งสุดท้ายและบอกลูกว่า

“ชาตินี้ลูกมีกรรมเกิดมาอาภัพและลำบาก ถ้าชาติหน้ามีขอให้ลูกมีชีวิตที่สบายกว่านี้”

บรรจุศพ ปรีดี พนมยงค์ ณ สุสาน Pere Lachaise กรุงปารีส ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖

สองปีต่อมา ปรีดีคู่ชีวิตก็ได้ละสังขารอย่างสงบในบ้านอองโตนี ด้วยวัย ๘๓ ปี พูนศุขเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลานั้นว่า

“อยู่ดี ๆ ก็นั่งเขียนหนังสือนั่นแหละ เขียนเสร็จแล้ว จะให้ลูกคนหนึ่งตรวจทาน ก็ให้ฉันออกไปตาม แต่ลูกไม่อยู่ออกไปทำงานก่อน ฉันก็กลับเข้ามา เห็นนายปรีดีถอดแว่น พูดอะไรสองสามคำ ฉันก็จำไม่ได้ แล้วเอนตัวลงพิงพนักเก้าอี้คอพับแล้วนิ่งไป ฉันก็รีบไปหยิบยาฉุกเฉินที่หมอเขาให้ไว้ แล้วก็รีบโทรศัพท์ ลูกอีกคนก็เช่าบ้านอยู่ข้าง ๆ เพราะบ้านเราเล็ก เขามีครอบครัว ให้คนไปตาม เผอิญมีหลานเรียนแพทย์จุฬาปี ๔ มาพักอยู่ที่บ้าน ก็ให้เขามาช่วยผายปอด แล้วก็โทรศัพท์เรียกแพทย์ฉุกเฉิน หมอสั่งไว้ให้เรียกรถแอมบูแลนซ์ก่อน เพราะว่าแอมบูแลนซ์ของเขามีเครื่องเคราครบ เขาก็มาปั๊มหัวใจ แต่ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว นายปรีดีไม่ได้ทรมานเลย สิ้นใจอย่างสงบ หมอประจำตัวมาทีหลังบอกว่าตายอย่างงดงาม...ร่างนอนอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ใส่หีบตั้งห้าวัน มีคนไทยจากที่ต่าง ๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปมาเยี่ยมเคารพ ท่านเสียวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ถึงได้ลงหีบ นอนอยู่บนเตียงนอนเฉย ๆ นี่ เหมือนคนนอนหลับ เล็บ แก้ม ไม่ได้ซีดเลย ผม หนวด เล็บ ยังงอกยาวออกมาเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่บอกไม่ให้เราถูกตัว แล้วมียาอะไรไม่รู้วางไว้ ทำสะอาด พอดีเดือนพฤษภาคมอากาศเย็น ความจริงถ้าเป็นโรคอื่นไม่ได้นะ เมืองฝรั่งไม่ให้ตั้งศพอยู่ที่บ้าน

“ท่านทูตมาส่วนตัว เพราะว่ารัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความเห็น ท่านไม่พูดก็เลยไม่ทำอะไร มีเพื่อนลูกอยู่ต่างประเทศโทรศัพท์ถามว่ารัฐบาลสั่งทำมั้ย ไม่มีเลย รัฐบาลไม่สั่งอะไรเลย รัฐบาลใบ้ เห็นใจทูตนะ เราเลยขอความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว พอดีท่านปัญญาฯ กำลังอยู่ที่อังกฤษ ท่านรู้ข่าว ท่านก็โทรศัพท์มาแสดงความเสียใจ เราจึงนิมนต์ท่านมาเป็นประธานประชุมเพลิง ยังมีพระจากเมืองอังกฤษอีกสามรูปมาสวดให้ เอาผ้าไตรมาช่วย เดินทางมาเอง แล้วมีพระในฝรั่งเศสอีก ท่านปัญญาฯ เป็นประธาน ท่านก็กล่าวสดุดี มีคนไทยในฝรั่งเศสและในยุโรปไปเผากันเยอะ นักบินและเจ้าหน้าที่การบินไทยที่เผอิญไปปารีสขณะนั้น อุตส่าห์ไปเผากันหมด คนรู้จัก ไม่รู้จักนะ อุตส่าห์ไปกัน ก็เผากันเดี๋ยวนั้น เก็บกระดูกเดี๋ยวนั้น ละเอียดเชียว สั่งไว้นี่ บอกให้เป็นขี้เถ้า ไม่มีชิ้นเลย แล้วยังมีอดีตทูตฝรั่งเศสในเมืองไทย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ส่งพวงหรีดมาแสดงความเสียใจ”

เมื่อจัดการศพของสามีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พูนศุขจึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นการถาวรในปี ๒๕๓๐ ใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านพักย่านถนนสวนพลู และช่วยงานสังคมเป็นระยะโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ อาทิการจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในปี ๒๕๔๓ พูนศุขเคยเล่าถึงชีวิตประจำวันให้ฟังว่า

“ตี ๓ ตี ๔ ก็ตื่นแล้ว เปิดวิทยุฟังข่าวบ้างหรือดูรายการโทรทัศน์บ้าง ยังไม่ถึง ๖ โมงก็ลงมาข้างล่างเตรียมอาหารเช้าสำหรับตัวเอง อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ฟังวิทยุ อ่านหนังสือธรรมะบ้าง แล้วเดินเล่นในบริเวณบ้าน พอตอนสาย ๆ มีญาติมิตรมาเยี่ยมเสมอ บางวันอาจมีงานเกี่ยวกับนายปรีดีที่ต้องไปร่วม หรือถ้าเป็นวันศุกร์มีตลาดนัดที่จุฬาฯ ก็จะไปจ่ายตลาดซื้อของกิน หลังอาหารกลางวันเป็นเวลาพักผ่อนก็จะไม่รับแขกจนถึงเวลาบ่าย ๔ โมง ถ้าวันไหนมีงานศพของผู้ที่รู้จักคุ้นเคยก็จะไปลาและอโหสิกรรมกันเป็นครั้งสุดท้าย เย็น ๆ เดินเล่นอีกรอบหนึ่ง ก็ถึงเวลาอาหารค่ำ รับประทานอาหารเบา ๆ หรืออาหารที่เหลือตั้งแต่กลางวันประเภทน้ำพริกมะม่วงกับปลาสลิด สลับกับสลัด ดูข่าวภาคค่ำเสร็จแล้ว ประมาณ ๓ ทุ่มก็สวดมนต์เข้านอน”

ในวัย ๙๐ ปี พูนศุขผู้มีความทรงจำแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบ มิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกัน รำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตรายช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้นด้วยความขอบคุณ”

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ พูนศุข พนมยงค์ มีอาการทางโรคหัวใจทรุดหนักลง กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบเมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. (ย่ำรุ่งของวันที่ ๑๒) ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน

ชีวิตของพูนศุขได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ในการฝ่าฟันมรสุมชีวิตมาโดยตลอด

หลักธรรมที่ว่านี้คือ

“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

No comments: