Thursday, August 2, 2007

บทความที่ ๑๙๒. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๕

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”
หนังสือของประมวล รุจนเสรี บรรยายไว้ว่า

“ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเมือง “ดุสิตธานี” ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในรัชสมัยนี้เกิดกบฏ ๑ มีนาคม ๒๔๕๕ แต่ถูกปราบปรามลงได้ กบฏครั้งนี้เกิดจากความไม่พอใจในความเหลื่อมล้ำในสถานะของข้าราชการด้วยกันเท่านั้น มิได้กระทำไปเพื่อประชาชนโดยรวมแต่อย่างใด”

คำอธิบายของประมวลฯ ดังกล่าวนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างขาวเป็นดำทีเดียว ดังข้อเขียนของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ และ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ที่ผมยกมาอ้างข้างต้นและดังที่ผมจะยกทัศนะของนายทหารหนุ่มคณะ ร.ศ.๑๓๐ บางคนที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในภายหลัง ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า และผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งในความตื่นตัวทางการเมืองของคณะ ร.ศ.๑๓๐ ด้วยถ้อยคำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือท่านปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญคนหนึ่งในคณะราษฎร

กล่าวคือภายหลังที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเช้าวันนั้นเอง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เชิญ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์(หรือหมอเหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะ ร.ศ.๑๓๐ กับคณะมาพบที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในตอนหนึ่งของการสนทนา พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กล่าวว่า

“ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม” และท่านปรีดีฯ ได้กล่าวสนับสนุนในโอกาสเดียวกันนั้นว่า

“พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.๑๓๐ จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.๑๓๐ ว่าพวกพี่ๆ ต่อไป”

ส่วนเรื่อง “ดุสิตธานี” ที่ประมวล รุจนเสรี อุตส่าห์ยกขึ้นมาอ้างนั้น ผมจะไม่ขอพูดถึง เพราะว่ามีนักวิชาการมากท่านได้พูดถึงกันมากมายแล้วว่าเป็นเพียงของเล่นส่วนพระองค์เท่านั้นเอง

แต่เรื่องที่ผมจะพูดถึงต่อไปอีก เรื่องที่ประมวลได้สร้างความคลาดเคลื่อนและสับสนเอาไว้ ตั้งแต่หน้า ๓๖ ถึงหน้า ๕๐ แต่ผมจะไม่ขอชี้แจงตามลำดับหน้า เพราะจะทำให้ผู้อ่านพลอยสับสนไปด้วย หากผมจะชี้แจงโดยรวมในข้อ ๔ ต่อไปนี้ นับแต่สภาต่างๆ ของพระปกเกล้าฯ ที่ประมวลฯ อ้างถึง ไปจนถึงการพระราชทานธรรมนูญการปกครอง ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก และจนกระทั่งสละราชสมบัติ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ แต่ผมจะขอทำโดยย่นย่อพอเข้าใจเท่านั้น หากต้องการรายละเอียดก็หาอ่านจากหนังสือที่ผมอ้างถึงก็แล้วกัน

ข้อ ๔ สภาต่างๆ ในสมัยพระปกเกล้าฯ มีด้วยกัน ๓ สภา (จากคำอธิบายกฎหมายปกครอง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) คือ

๑. อภิรัฐมนตรีสภา สภานี้ได้ทรงตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ (ดูราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒ หน้า ๒๑๖๘ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘)

หน้าที่ของสภา สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาราชการทั้งปวงเป็นนิตย์ เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่การที่ทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวง

สมาชิกขอสภานี้มี ๕ คน และมีคุณสมบัติตามที่ปรากฏในพระราชดำรัสว่า “ผู้ซึ่งสมควรจะเป็นสมาชิก จำต้องเป็นผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยและชำนิชำนาญราชการมาแต่ก่อนและประกอบด้วยเกียรติคุณ ทั้งความปรีชาสามารถ สมควรเป็นที่ทรงไว้ว่างพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนมหาชนทั้งหลาย

๒.เสนาบดีสภา เสนาบดีสภาได้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว เสนาบดีมิใช่มีหน้าที่แต่เพียงจะกระทำกิจในทางบริหารหรือทางธุรกิจอย่างเดียว คือยังถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดินด้วย แม้ราชการใดจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะก็ดี แต่ได้ทรงปรึกษาในเสนาบดีสภา

.สภากรรมการองคมนตรี สภานี้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ.๒๔๗๐ ภายหลังที่ได้ทรงยกเลิกพระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล ค.ศ.๑๒๓๖ ซึ่งมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

กรรมการองคมนตรีทรงแต่งตั้งจากจำนวนองคมนตรี (มาตรา ๑๒) ผู้ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์มีพระราชดำริเห็นว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและทรงคุณธรรม สมควรเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

หน้าที่ของสภาเพื่อประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา (มาตรา ๑๑) การพระราชทานลงมาให้ปรึกษาหารือนี้ อาจจะเป็นโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยพระองค์เอง (มาตรา ๑๓ วรรค ๑) หรือโดยกรรมการพร้อมกันห้าคนเข้าชื่อทำหนังสือยื่นต่อนายก (ประธานสภา) ว่ามีข้อความเกี่ยวกับสวัสดิภาพแห่งบ้านเมืองและประชาชน อันสมควรจะได้ประชุมปรึกษาถวายความเห็นเมื่อสภานายกกราบบังคมทูลของพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปรึกษากันได้แล้ว สภาก็อาจปรึกษาข้อความนั้นได้ (มาตรา ๑๓ วรรค ๒)

จำนวนกรรมการสภามี ๔๐ คน กรรมการเลือกกันองเป็นสภานายกฯ อุปนายกฯ เมื่อได้รับพระบรมราชานุมัติผู้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งได้ (มาตรา ๑๒) แต่สภาอาจเชิญผู้หนึ่งผู้ใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อที่ประชุมเพื่อประกอบข้อปรึกษาได้ (มาตรา ๑๓ วรรค ๓) ผู้รับเชิญไม่ใช่กรรมการไม่มีสิทธิ์ออกเสียง

คำปรึกษาหรือมติของสภากรรมการองคมนตรีนั้น สภานายกมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สุดแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คือจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามนั้นก็ได้”

No comments: