Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๒๔.รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่๑๑

ปฏิบัติการมวลชน ของเหล่ากรรมกรไทย

"มติเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ เรียกร้องให้แกนนำและสมาชิกลงสู่มวลชนไปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมวลชน... ขยายงานจัดตั้งมวลชนด้วยรูปแบบต่าง ๆ เริ่มจากรูปแบบไร้สีสันทางการเมือง ค่อย ๆ ยกระดับความตื่นตัวทางการเมืองให้สูงขึ้นทีละขั้น"
ดำริห์ เรืองสุธรรม

ขณะที่เสรีไทยในประเทศโดยการนำของ ปรีดี พนมยงค์ ประสบความสำเร็จในการขยายแนวร่วมในหมู่ชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการ ทั้งนี้โดยหวังว่าจะใช้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังมวลชนที่เป็นประชาชนในเขตจังหวัดต่าง ๆ ของผู้แทนราษฎร หรือข้าราชการสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ แต่สำหรับกองอาสาต่อต้านญี่ปุ่น ได้ใช้รูปแบบเข้าถึงมวลชนโดยตรงด้วยการเข้าไปจัดตั้งกลุ่มศึกษาพร้อม ๆ กับช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในรูปแบบชมรมช่วยเหลือกันของกรรมกร แล้วยกระดับเป็นความคิดทางการเมือง โดยเป้าหมายมุ่งไปที่กรรมกร ที่ผลิตสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังกอบโกยแรงงานและทรัพยากร เพื่อใช้ในการสงครามอยู่นั้น พลพรรคของกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น ก็เริ่มนำกรรมกรต่อสู้เพื่อปรับปรุงค่าครองชีพ อย่างต่อเนื่องพร้อมกันด้วย

สัญลักษณ์สำคัญของการจัดตั้งมวลชน เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในขณะนั้น คือการที่กรรมกรโรงงานต่อเรือกัมปะนี หยุดงานและเรียกร้องสวัสดิการเพิ่ม ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้ามาจับกุมตัวแทนกรรมกร ปรากฏว่าเหล่ากรรมกรได้เผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นอย่างไม่สะทกสะท้าน จนในที่สุดทหารญี่ปุ่นจำต้องปล่อยตัวแทนกรรมกรออกมา หลังจากนั้นก็มีการหยุดงานต่อเนื่องอีก ๒๐ วัน

แม้ว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่สำเร็จ แต่การที่กรรมกรออกมาเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ นับว่าเป็นผลสำเร็จในทางการเมือง

หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมสหการช่างกลกรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่ประสานงานของกรรมกรที่จะทำการสไตรค์ เฉื่อยงาน รวมทั้งการทำลายผลิตผลของโรงงานที่จะเตรียมส่งไปให้กองทัพญี่ปุ่นโดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์

นอกจากนี้ในต่างจังหวัดก็มีการจัดตั้งเป็นองค์กรช่วยเหลือกันเช่นในกรุงเทพฯ และอาศัยจังหวะที่ญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นกรณีญี่ปุ่นมีแผนการสร้างทางรถไปสายคอคอดกระในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖ พลพรรคกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น ก็เข้าไปจัดตั้งกองกำลังขัดขวางการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว ที่อำเภอละอุ่นและอำเภอกระบุรี ด้วยการยุยุงให้กรรมกรจากมลายู โยนรางรถไฟลงข้างทางระหว่างลำเลียงมาจากมลายู หรือยุยงกรรมกรไต้หวันที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟให้เฉื่อยงาน และร่วมแผนทำลายการสร้างทางโดยการงัดตะปูเหล็กที่ยึดรางรถไฟแล้วทำลายไม้หมอนเหล่านั้นเสีย

แม้ว่าการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวจะเริ่มสร้างในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๖ และสร้างเสร็จในวันที่ ๒๕ ธันวาคมปีเดียวกัน แต่กว่าจะเริ่มใช้จริง ๆ ก็ล่วงเข้าเดือนมิถุนายน ๒๔๘๗ ญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าการก่อสร้างทำไปด้วยความเร่งรีบ จึงทำให้เกิดความบกพร่องมากมาย โดยเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า การก่อสร้างสะพานล่าช้าเพราะเหล่ากรรมกรขัดขวางการทำงาน

จนถึงต้นปี ๒๔๘๘ องค์กรของกรรมกรต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเป็นสหสมาคมต่อต้านญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และได้เข้าร่วมงานกับขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์

No comments: