Thursday, March 8, 2007

บทความที่ ๘๙. เรื่องราวของราชวงศ์โรมานอฟ

ราชวงศ์โรมานอฟ

ประเทศรัสเซียจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ ๒๓ ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า ๓๐๐ ล้านคน ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ของรัสเซียโดดเด่นตั้งแต่ยุคการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงการปกครองแบบสาธารณรัฐ

ช่วงประวัติศาสตร์ในยุคการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากเป็นระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเดิมสู่การปกครองแบบใหม่

นับตั้งแต่คริสตศักราชที่ ๑๘ เป็นต้นมา ประเทศรัสเซียมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์โรมานอฟปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึง ๕ พระองค์ ดังนี้

๑. พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)
๒. พระเจ้านิโคลัสที่ ๑ พระอนุชาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)บทบาทสำคัญคือ ทรงใช้อำนาจเด็ดขาดที่สุด
๓. พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๒ โอรสของพระเจ้านิโคลัสที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)บทบาทสำคัญคือ ทรงประกาศเลิกทาส
๔. พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ โอรสของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๙๔) บทบาทสำคัญคือ เป็นกษัตริย์องค์แรกที่เจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส
๕. พระเจ้าชาร์นิโคลัสที่ ๒ โอรสพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติต้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๔ จนถึงปีที่สละราชสมบัติ ในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งเป็นปีที่ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลายในที่สุด

ในระบอบการปกครองดังกล่าวถือว่า กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมือง ทรงมีสิทธิเหนือทรัพย์สินและชีวิตของพสกนิกรทุกคน ส่วนสภาที่มีอยู่เป็นสภาที่ปรึกษา มีคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงเลือกตั้งด้วยพระองค์เอง ในบรรดารัฐมนตรีทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสำคัญที่สุด เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

นอกจากกษัตริย์จะทรงอยู่เหนือกฎหมายแล้ว บุคคลสำคัญที่มีอำนาจสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ ตำรวจลับที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกประการ สามารถกระทำการใดๆ ในแผ่นดินได้ เข้าตรวจค้นบ้านเรือนของประชาชนได้ทุกโอกาส สังหารบุคคลใดก็ได้โดยไม่ต้องนำตัวขึ้นศาล ตำรวจลับ คือ บุคคลสำคัญที่กษัตริย์ทรงใช้ปฏิบัติการแทนอำนาจเด็ดขาดของพระองค์

ประชาชนพลเมืองในยุคนั้นไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีสิทธิในการประชุมหรือตั้งสมาคมใดๆ ไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ หรือออกความเห็นใดเกี่ยวกับกิจการของรัฐบาล สื่อมวลชนต่างๆ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ

ประชาชนในสมัยนั้นแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ
- พวกขุนนาง ทั้งขุนนางชั้นสูง ชั้นกลาง และขุนนางชั้นต่ำ
- บาทหลวง
- บุคคลชั้นกลาง คหบดี
- ชนชั้นกสิกร ชาวนา ชาวไร่

ในบรรดาประชากรทั้ง ๔ กลุ่ม ที่สำคัญที่สุดและมีผลต่อการเมืองการปกครองที่สุดก็คือ พวกขุนนาง และพวกกสิกร ขุนนางในสมัยนั้นมีจำนวนนับแสนกว่าครอบครัว บางครอบครัวมีสมาชิกมากถึงพันคน ตามธรรมเนียมหากใครดำรงตำแหน่งขุนนาง ก็ได้รับที่ดินด้วย ถือเป็นตำแหน่งที่ติดที่ดิน(ศักดินา)และเป็นมรดกตกทอดกันมา ด้วยเหตุนี้ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศจึงเป็นสมบัติของขุนนางแทบทั้งสิ้น และชาวไร่ชาวนาต้องอาศัยทำมาหากินในที่ดินของพวกขุนนางแทบทั้งสิ้น ชาวไร่ชาวนาทั้งหมด ถือเป็นทาสรับใช้ขุนนางมาโดยตลอด ในยุคแรกๆ รัฐบาลก็ยังดำเนินการกับพวกทาสแบบเดิมๆอยู่ เพียงแต่ชาวไร่ชาวนาบางกลุ่มมีนายผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา คือเปลี่ยนจากขุนนางมาเป็นคหบดีเชื้อสายพวกขุนนางเก่า การซื้อขายทาส หรือแม้แต่การสมรสของพวกทาส ต้องได้รับอนุญาตจากนายทาสเท่านั้น

พวกทาสดังกล่าว แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑.พวกทาสติดที่ดิน หมายถึง พวกที่พักอาศัยอยู่ในที่ดินของนาย ทำมาหากินด้วยการเพาะปลูกในที่ดิน สุดแต่นายจะกำหนดเขตให้ ผลผลิตทำได้ก็แบ่งกัน แล้วแต่นายจะเห็นสมควร

๒. พวกทาสในตัวคน หมายถึง พวกทาสไม่ต้องอาศัยประจำในที่ดิน จะไปทำมาหากินที่ใดก็ได้ และต้องนำค่าตอบแทนมาให้นายแล้วแต่นายจะกำหนด

๓. ทาสในบ้าน หมายถึง ทาสที่พักอาศัยภายในบ้าน คอยปรนนิบัติรับใช้นายแล้วแต่นายจะสั่ง ทาสพวกนี้นายจะซื้อหรือจะขายให้ใครก็ได้ ดังที่มีการประกาศขายทาส ราวกับสินค้าในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน

ภายหลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เสด็จสวรรคตแล้ว พวกทหารที่เคยไปรบประจำการในฝรั่งเศสก็คิดนำวิธีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญมาใช้ในรัสเซีย จึงได้รวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมลับ ดำเนินการหลายสมาคม

(ฝรั่งเศสได้โค่นล้มระบอบกษัตริย์ลงในการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ระหว่างปี ๑๗๘๙-๑๗๙๙ ซึ่งมีผลกระทบต่อหลายๆประเทศในทวีปยุโรปในขณะนั้น เพราะหากฝรั่งเศสสามารถโค่นล้มระบบกษัตริย์ลงได้และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศได้แล้ว ก็จะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นเห็นตามและนำมาซึ่งการโค่นล้มกษัตริย์ลง จึงทำให้ประเทศที่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ได้ร่วมกันแทรกแซง จนถึงเข้าทำสงคราม เพื่อทำทุกทางที่จะนำระบบกษัตริย์กลับคืนมาสู่ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสต้องสู้รบกับศึกหลายด้าน ทั้งศึกภายในประเทศและภายนอกประเทศ แต่ด้วยความเจนจัดและกล้าหาญของนายทหารฝรั่งเศส จึงสามารถต่อต้านและขับไล่กองทัพพันธมิตรของต่างชาติไว้ได้ ในเหตุการณ์สงครามหลายต่อครั้งได้สร้างนายทหารหนุ่มคนหนึ่งให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทหารฟันฝ่าศึกหลายสมรภูมิ จนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ นำฝรั่งเศสต่อสู้กับประเทศรอบด้าน อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ๑๗๙๙ นั้น ก็หาได้ร่มเย็นเป็นสุขอย่างใดไม่ เพราะหลังจากที่นโบเลียน โบนาปาร์ต สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแล้ว ก็ประหนึ่งจะหวนกลับไปหาระบบการปกครองที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของบุคคลเพียงคนเดียว ฝรั่งเศสเปิดศึกสงครามกับหลายประเทศในยุโรป และยังขยายไปถึงอียิปต์ จนในที่สุดฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียนก็พ่ายแพ้ต่อรัสเซีย แต่ก็ได้สร้างการยอมรับนับถือในการต่อสู้เพื่อสาธารณรัฐให้เกิดขึ้นในใจของนายทหารรัสเซีย)

ครั้นพระเจ้านิโคลัสที่ ๑ ครองราชสมบัติต่อมาอีก ๓๐ ปี พระองค์ทรงใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองบ้านเมือง ทำให้คนทั่วไปเดือดร้อนยิ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๒ ได้ครองราชสมบัติแล้ว ทรงพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในลักษณะผ่อนคลายความเดือดร้อนลง และที่สำคัญก็คือ ทรงประกาศเลิกทาสสำเร็จ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๐ และก่อนที่พระองค์จะทรงนำรัฐธรรมนูญมาใช้ตามแบบอย่างอารยประเทศ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระโอรสของพระองค์ทรงครองราชสมบัติต่อมาคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓

ครั้นตกมาถึงสมัยการปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ พระองค์ทรงดำเนินการปกครองเข้มงวดกวนขันหนัก และล้มเลิกกิจการสำคัญที่พระราชบิดาทรงดำเนินการไว้เกือบทั้งหมด ทำให้สภาพการปกครองกลับเลวร้ายลงเช่นเดิม

หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. ๑๘๙๔ โอรสของพระองค์ก็ทรงเสด็จครองราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า พระเจ้านิโคลัสที่ ๒

ในสมัยพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ นี้ พระองค์ทรงคิดวิธีการปกครองอย่างเคร่งครัด ตั้งพระทัยที่จะใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มรูปแบบ

พระเจ้านิโคลัสที่ ๒ หรือที่ประชาชนชาวรัสเซียทั่วไปเรียกกันว่า พระเจ้าซาร์ (มาจากคำว่า TZAR ซึ่งแปลว่า พระจักรพรรดิ เช่นเดียวกับไกเซอร์) พยายามที่จะปกครองบ้านเมืองที่ทรงประกาศไว้อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์อ่อนแอเกินไปที่จะปกครองประชาชนและประเทศใหญ่โตขนาดนั้น นอกจากนั้นอาจเป็นเพราะมีบุคคลชี้นำซึ่งเป็นบุคคลไม่สุจริต ทำให้การปกครองล้มเหลวโดยตลอด ประชาชนต่างก็ทวีความขุ่นเคืองมากขึ้น เมื่อผู้นำระดับสูงหลายฝ่ายได้มีพฤติการณ์เหลวไหล ฉ้อราษฎร์บังหลวง เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ทำให้มหาชนเสื่อมศรัทธาในพระองค์ก็คือ รัสเซียพ่ายแพ้สงครามต่อญี่ปุ่น

หลังจากนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองได้เลวร้ายลงเป็นลำดับ ถึงกับมีประชาชนลุกฮือขึ้นก่อจลาจลในเมืองสำคัญๆหลายเมือง พวกกรรมกรได้นัดหยุดงานทั่วไป แม้ว่าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ จะทรงยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองมากขึ้น โดยยอมให้ตั้งสภาดูมาขึ้น แต่ก็มิได้ให้อำนาจอะไรมากนัก ผลจากการตั้งสภาทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นระยะหนึ่ง แต่ก็เคราะห์ร้ายที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เหตุการณ์บ้านเมืองกลับทรุดหนักลงไปอีกเมื่อรัสเซียเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศสรบกับเยอรมนี ฝ่ายกองทัพเริ่มแข็งข้อต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ในที่สุดก็นำไปสู่การสละราชสมบัติอันเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมายาวนาน


สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟอวสาน

วิคเตอร์อเล็กซานดรอฟ ได้สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟอวสานในหนังสือชื่อ “ดิ เอน ออฟ เดอะ โรมานอฟ” เป็นทฤษฎีวิเคราะห์เหตุการณ์ล่มสลายที่น่าจะเป็นไปได้ไว้ ๓ ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เนื่องจากความปั่นป่วนทางการเมืองของประเทศ

ประเด็นที่สอง เนื่องจากความอ่อนแอในการบริหารประเทศของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒

ประเด็นที่สาม เนื่องจากพระเจ้าซาร์ฯ ทรงถือทิฐิ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของมหาชน ทรงหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ ในหมู่อิตถีสตรีเพศมากกว่าเรื่องการเมือง และโดยเฉพาะในกรณีที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอลิกซ์ พระธิดาของแกรนด์ดุ๊กแห่ง เฮซซ์ ประเทศเยอรมนี ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารและประชาราษฎร์ทั่วไป ที่ต่อต้านเยอรมนีอย่างหนัก

ต่อมามเหสีชาวเยอรมันพระองค์ใหม่ของพระเจ้าซาร์ฯ คือ พระนางอเล็กซานดรา ฟิโอโดร๊อฟนา(พระนามที่ตั้งขึ้นภายหลังจากที่ได้แสดงตนเป็นคริสตศาสนิกชนนิกายออร์โธด๊อกซ์) ซึ่งก้าวขึ้นมาปกครองไพร่ฟ้าประชาชาวรัสเซียอย่างแท้จริงยิ่งกว่าพระเจ้าซาร์ฯ กล่าวกันว่าในเวลาต่อมา เนื่องจากพระเจ้าซาร์ฯ ทรงเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอและพระทัยโลเลไม่กล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างเด็ดขาด ดังนั้นพระนางจึงเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดและถวายแนะนำการบริหารตามนโยบายการเมืองแต่พระเจ้าซาร์ฯตลอดมา

ต่อมาพระนางทรงแนะนำให้พระเจ้าซาร์ฯ ทรงคัดค้านข้อเรียกร้องจากมหาชนที่ให้มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด พระนางทรงเชื่อว่าหน้าที่อันสำคัญของพระนางก็คือ จะต้องกระทำทุกอย่าง ทุกวิถีทางให้พระเจ้าซาร์ฯทรงยึดมั่นในการปกครองแบบอัตตาธิปไตยตามบรรพบุรุษให้จงได้

ส่วนภายในพระราชสำนักได้พากันปิดกั้นข่าวความทุกข์ร้อนและปั่นป่วนของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทุกด้าน พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระนางอเล็กซานดรา ทรงมองปัญหาอันเกิดจากความปั่นป่วนของประชาชนว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในลักษณะธรรมดาเท่านั้น บรรดประชาชนชาวรัสเซียทั้งหลายต่างไม่พอใจ และได้กล่าวโจมตีพระนางอเล็กซานดราอย่างหนักหน่วงว่าเป็นบุคคลต้นเหตุที่จะทำให้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียต้องเสื่อมลงและถึงกาลวิบัติในที่สุด

ผลจากการกระตุ้นของพระนางอเล็กซานดรา เป็นเหตุให้พระเจ้าซาร์ฯ ทรงมีพระราชโองการประกาศออกมาว่า พระองค์จะยึดมั่นในหลักการ ดำเนินการปกครองรัสเซียตามแบบอัตตาธิปไตยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

จากพระราชโองการดังกล่าวนี้ ราวกับเป็นการกระพือไฟในหัวใจของมหาชนให้ลุกโพลงขึ้น นับว่าเป็นข้อขัดแย้งที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนภายในชาติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้มหาชนในเมืองหลวงและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศได้รวมตัวกันลุกฮือขึ้นต่อต้านพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทันที และเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงระบาดไปทั่วประเทศ การจลาจลได้แพร่สะพัดออกไปอย่างกว้าวขวาง และต่อมาภายหลังจากที่พระเจ้าซาร์ฯทรงประกาศสนับสนุนนโยบายดินแดน จนเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจของชาวรัสเซียทั้งชาติและก่อให้เกิดสงครามกับญี่ปุ่นขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วเหตุการณ์วุ่นวายภายในรัสเซียอันจะชักนำไปสู่การปฏิวัติโดยกองทัพประชาชนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ พระองค์ทรงหวังว่าการทำสงครามนั้น อาจเบนความสนใจของประชาชนในชาติที่กำลังปั่นป่วนอยู่ในขณะนั้นได้อีกทางหนึ่ง แต่แล้วพระองค์ทรงต้องพบกับความผิดหวังอย่างน่าสลดใจที่สุด

อิทธิพลของรัสปูตินที่มีต่อราชสำนัก

ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ใกล้จะเกิดขึ้น พระนางอเล็กซานดราทรงเสนอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงสถาปนาเจ้าชายอเล็กซี พระราชโอรสขึ้นเป็นรัชทายาทแห่งราชวงศ์โดยด่วน หลังจากนั้น ๖ สัปดาห์ต่อมาเจ้าชายอเล็กซีก็ประชวรเป็นโรคโลหิตเป็นพิษ พระนางอเล็กซาดราพยายามจัดหาหมอที่มีความสามารถจากทุกแห่งมารักษาแต่ก็ไร้ผล จนกระทั่งพระนางเริ่มหันมาสนใจในเรื่องลึกลับมหัศจรรย์ของผู้ที่อวดอ้างตนเป็นผู้วิเศษ แล้ว กิกอรี รัสปูติน นักสะกดจิตก็ก้าวเข้ามาครอบงำราชสำนักเหนือจิตใจของพระเจ้าซาร์และพระนางอเล็กซานดร้าได้อย่างสิ้นเชิง สามารถเข้าไปมีบทบาทและมีอำนาจทางการเมืองของรัสเซีย จนกระทั่งนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นผลทำให้ราชวงศ์โรมานอฟเสื่อมหนักลงไป

รัสปูตินเป็นผู้มีอำนาจจิต สามารถสะกดจิตช่วยรักษาโรค สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ จากความสามารถเหล่านี้ทำให้เขาได้รับการเสนอให้เข้าไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ เพื่อช่วยรักษาโรคพระโลหิตเป็นพิษของเจ้าชายอเล็กซีพระโอรสของพระเจ้าซาร์กับนางอเล็กซานดร้า ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ สามารถขจัดความเจ็บปวดและยับยั้งการไหลไม่หยุดของโลหิตภายในร่างกายของเจ้าชาย โดยใช้อำนาจสะกดจิตเพียงอย่างเดียว

รัสปูตินมีนิสัยพูดจาโอหัง วางอำนาจกับคนทั่วไป ทำให้เขาสร้างศัตรูไปทั่ว เขาได้กล่าวไว้ต่อหน้าคนทั้งหลายว่า “ไม่เพียงแต่จะรักษาโรคของเจ้าชายแห่งรัสเซียเท่านั้น ยังช่วยรักษาบาดแผลในหัวใจของชาวรัสเซียทั้งชาติได้อีกด้วย...และขอพยากรณ์ว่า เหตุการณ์ปั่นป่วนภายในรัสเซียขณะนี้จะคืบคลานเข้าไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอย่างรวดเร็ว”

จากคำกล่าวของรัสปูตินนี้เอง กระตุ้นให้มหาชนจงเกลียดจงชังพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งรัสปูตินด้วย และทำให้ประชาชนทุกแห่งหนลุกฮือขึ้นต่อต้านและประท้วงอย่างหนัก

แม้ว่าฝ่ายคณะรัฐบาลและบรรดาขุนนางชั้นสูงได้ถวายคำร้องทุกข์และคำเตือนที่เป็นประโยชน์ในการบริหารบ้านเมืองแด่พระเจ้าซาร์และพระนางอเล็กซานดร้าแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ไม่สนพระทัยทรงหลงใหลเชื่อมั่นในคำแนะนำของรัสปูตินเพียงฝ่ายเดียว

เหตุการณ์ปฏิวัติที่รุนแรง

พระเจ้าซาร์ทรงลืมบทเรียนแห่งประวัติศาสตร์อันล้ำค่าที่สร้างความชอกช้ำให้แก่รัสเซียในการปฏิวัติครั้งใหญ่ปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งก่อนจะเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติในครั้งนั้น ได้มีเหตุการณ์ระส่ำระสายของประชาชนทั่วไป พระองค์ทรงหลงลืมประชาชนและมิได้เข้าใจในความทุกข์ร้อนของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่ทหารรักษาพระองค์ได้สังหารหมู่ประชาชนในวันที่เรียกว่า “วันอาทิตย์สีเลือด” ในเดือนมกราคม ๑๙๐๕ แต่เหตุการณ์นั้นประชาชนมิได้หลงลืมแต่กลับทำให้เสื่อมความนิยมในสถาบันอย่างหนัก ความรุนแรงจากปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนกรพือโหมขึ้นแทบทุกแห่ง บรรดากรรมกรได้ผละงาน ลุกขึ้นฮือต่อต้านทั่วประเทศ อุตสาหกรรมปั่นป่วนมากขึ้น ครั้นถึงกลางเดือนตุลาคม เกือบทั้งประเทศก็ตกอยูในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด

กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สไตร์คหยุดงาน โรงงานอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลง กิจการทุกอย่างเป็นอัมพาตไปหมด ประชาชนได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงระบบการปกครองของประเทศ เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ ในที่สุดพระเจ้าซาร์ก็ยินยอมตามข้อเรียกร้องของมวลประชาชน แต่เหตุการณ์ในบ้านเมืองก็ยังระส่ำระส่าย พระเจ้าซาร์ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบกึ่งราชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ พระองค์เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งรัฐสภาดูมาและรัฐบาลขึ้นใหม่

ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี ปีเตอร์ เอ. สโตลีฟิน เขาสามารถทำให้รัสเซียกลับฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ต่อมาชาวรัสเซียได้รวมกันเป็นปึกแผ่นเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่จะอุบัติขึ้น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้น รัสเซียได้เข้าสู่สงครามร่วมกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านกองทัพของเยอรมัน ออสเตรีย และฮังการี พระเจ้าซาร์ต้องการกำลังสนับสนุนและความร่วมมือจากประชาชน ในปี ค.ศ. ๑๙๑๕ พระองค์เสด็จออกแนวหน้านำกองทัพเข้าบุกตะลุยกองทหารเยอรมันนี ปล่อยให้ราชสำนักตกอยู่ในกำมือของพระนางอเล็กซานดร้าภายใต้การแนะนำของรัสปูตินในกิจการบ้านเมือง ข่าวลือสะพัดไปทั่วว่าทั้งสองเป็นสายลับให้แก่เยอรมัน

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในเดือน ธันวาคม ๑๙๑๖ เมื่อรัสปูตินถูกฆาตกรรม โดยฝีมือของขุนนางในราชวงศ์พระองค์หนึ่ง คือ เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซซูป็อพ เพราะพระองค์ไม่อาจทนดูราชวงศ์ต้องเสื่อมเสียต่อไปได้ เจ้าชายได้วางยาพิษในอาหารแก่รัสปูติน แต่รัสปูตินยังไม่ตาย พระองค์จึงยิงซ้ำจากนั้นก็ห่อด้วยผ้าม่านแล้วนำศพไปทิ้งแม่น้ำเนวา เหตุการณ์นี้ทำให้พระนางอเล็กซานดร้าเสียพระทัย ต่อมาได้มีการนำศพรัสปูตินขึ้นมาฝังที่พระราชวัง ซาร์ยูเค เซโล แต่ได้ถูกขุดขึ้นมาเผาอีกครั้งในการปฏิวัติใหญ่

ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ดำเนินไปอย่างเต็มที่ ปรากฏว่ากองทัพรัสเซียต้องสูญเสียทหารไปถึง ๒ ล้าน ๕ แสน เกือบจะมีจำนวนมากเท่ากับกองทัพทหารอาสาพันธมิตรทั้งหมดรวมกัน ส่วนในประเทศรัสเซียต้องประสบภาวะทุกข์เข็ญ อาหารขาดแคลน อุตสาหกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก โรงงานต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง

ในหนังสือ “เดอะ โรมานอฟ” ได้สรุปว่า “ในวันที่ ๙ มีนาคม ๑๙๑๗ สภาพในกรุงมอสโก และเมืองต่างๆ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนเข้าคิวขอส่วนปันอาหารแต่ละแห่งยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ต่อมาประชาชนได้บุกเข้าไปร้านค้าต่างๆ เพื่อปล้นเสบียงอาหาร จุดเริ่มของการปฏิวัติได้แพร่สะพัดไปอย่างน่าสะพรึงกลัว”

ขณะที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ก็ยังทรงนำทหารออกปฏิบัติการรบอยู่ในแนวหน้า ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งโทรเลขไปถึงพระองค์เพื่อเรียกร้องให้พระองค์เสด็จกลับไปแก้ไขสถานการณ์ และแต่งตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับของสภาใหม่ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กองกำลังทหารที่รักษาการณ์อยู่ภายในประเทศลงมือปราบปรามการจลาจลทั่วไป แต่ปรากฏว่าบรรดาทหารหลายฝ่ายพากันกระด้างกระเดื่องไม่ยอมปฏิบัติตาม และหันไปให้ความร่วมมือกับประชาชน ต่อมาในวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ประชาชน กรรมกร และสมาชิกสภาดูมาที่ถูกยุบได้ก่อปฏิวัติ และได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น ดังนั้นในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๑๙๑๗ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ก็ทรงตัดสินพระทัยยอมรับรองรัฐบาลใหม่ และทรงสละราชสมบัติ ก็เป็นอันว่าอำนาจการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟที่ผ่านมาถึง ๓๐๐ ปี ต้องจบสิ้นลงในสมัยนี้เอง

ต่อมาพระเจ้าซาร์นิโคลัสพร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารได้ถูกจับ และนำไปกักขังไว้ที่พระราชวังซาร์คูเย เซโล ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม ๑๙๑๗ พรรคการเมืองบอลเชวิค ได้ก่อจลาจลขึ้น เป็นเหตุให้อเล็กซานเดอร์ เคอร์เรสกี้ ผู้นำการปกครองท้องถิ่นได้ย้ายที่คุมขังพระเจ้าซาร์และพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังเมืองเอคก้าเตอรินเบิร์ก และในที่สุดก็เกิดเรื่องราวการประหารหมู่อย่างโหดร้ายทารุณขึ้น สันนิษฐานว่า พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ถูกปลงพระชนม์โดยถูกยิงกราดด้วยปืนต่อหน้าเหล่าทหารเป็นจำนวนมากภายในห้องใต้ถุนที่คุมขังในเมืองเอคก้าเตอรินเบิร์ก ในคืนวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเชื่อกันว่าไม่มีใครรอดชีวิต.
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

1 comment:

natalie said...

Excellent information, thank you very much....
natalie