Wednesday, September 19, 2007

บทความที่๓๑๓.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๖

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์

บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๔-
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ ไม่มีนโยบายที่จะทำให้ประเทศของเราเป็น “อาณานิคม” จะเห็นได้จากบันทึกที่จัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเตรียมเผื่อท่านประธานาธิบดีจะใช้ในการสนทนากับ มร.เชอร์ชิล และจอมพลสตาลิน ที่นครยัลต้า ในปีพ.ศ.๒๔๘๘ บันทึกนี้กล่าวถึงสถานภาพภายหน้าของสยาม ซึ่งข้าพเจ้าขอยกข้อความตอนหนึ่งมาดังนี้

“เหตุการณ์ที่ชาวยุโรปบีบบังคับประเทศไทย และการที่ชาวยุโรปได้ยึดเอาดินแดนแห่งเอเชียอาคเนย์ไปนั้น ยังอยู่ในความทรงจำของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ (ส.ร.อ.)ไม่อาจจะร่วมในการปฏิบัติต่อไทย ไม่ว่าในรูปแบบใดเยี่ยงจักรวรรดินิยมสมัยก่อนสงครามได้”

บันทึกนี้ยังกล่าวอีกว่า

“เรามิได้ถือว่า ประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตประเทศไทยในกรุงวอชิงตันเป็น “อัครราชทูตแห่งประเทศไทย” ฐานะเหมือนกันกับอัครราชทูตเดนมาร์ก เราสนับสนุนให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราชและมีเสรีภาพ พร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอนและปกครองโดยรัฐบาลที่ชาวไทยเลือกเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชอยู่ก่อนสงคราม แม้ว่าเราจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ แต่ถ้าหากผลแห่งสงครามทำให้ประเทศไทยต้องสญเสียดินแดนที่ตนมีอยู่ก่อนสงครามหรือเอกราชถูกบั่นทอน เราเชื่อว่า ผลประโยชน์ของ ส.ร.อ. ทั่วตะวันออกไกลจะถูกกระทบกระเทือน

ภายในประเทศไทยซึ่งเดิมยอมจำนนต่อญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือกับญี่ปุ่น อันเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบาลใหม่ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้สำเร็จราชการฯ ปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น”

นอกจากนี้นายคอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖ แจ้งไปยังรองผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์พุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่มีต่อประเทศไทย ดังความต่อไปนี้

“สหรัฐอเมริกาถือว่า ไทยเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น..

รัฐบาลอเมริกันหวังว่า จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับแสดงให้เห็นว่า ในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็มีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่า มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(หรือที่รู้จักกันในนามนายปรีดี พนมยงค์)คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ หลวงประดิษฐ์ฯ ยังมีส่วนสำคัญในขบวนการใต้ดิน ซึ่งมีจุดเพื่อฟื้นสถานภาพของรัฐบาลไทย ที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุกรานของญี่ปุ่น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อมาของรัฐบาลแห่งประเทศไทยสมัยนั้น (จอมพลป.พิบูลสงคราม)จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์)เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย

ด้วยเหตุนี้ โดยไม่เป็นการผูกมัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอนาคต เราจึงถือว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นตัวแทนและผู้นำสำคัญคนหนึ่งของชาติไทย ตราบใดที่ชาวไทยยังไม่ได้แสดงออกในทางตรงกันข้าม

คอร์เดล ฮัลล์”

No comments: