Monday, September 17, 2007

บทความที่ ๓๐๑.คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย


คุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้กล่าวปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์เนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ความตอหนึ่งว่า

นี่เป็นคำอภิปรายของนายฟื้น สุพรรณสาร ซึ่งเป็นห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรจะนึกถึงคุณูปการของคณะราษฎรเป็นอย่างมากที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง เพื่อให้สถาบันนี้ยืนยงคงอยู่ชั่วฟ้าดิน แต่อีกพวกหนึ่งที่อ้างตัวว่าจงรักภักดีกลับดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเกือกกลั้วกับการเมือง อย่างที่นายฟื้น สุพรรณสาร ได้อภิปราย

ยังมีอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ อภิปรายปัญหานี้เช่นกัน บุคคลสำคัญคนนี้และสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ลูกชายท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี คนนั้นคือ คุณพโยม จุลานนท์ ผู้แทนจังหวัดเพชรบุรี คุณพโยมบอกว่า

“ข้าพเจ้าเองก็เคยได้รับราชการทหารมหาดเล็กในราชสำนักพระปกเกล้า มาเป็นเวลา ๔ ปี ข้าพเจ้าเคารพและเทิดทูนราชบัลลังก์พระเกียรติของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่น้อยไปกว่าท่านผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี ๒๔๙๒-แด่บรรพชนฯ)แต่ว่าเป็นผู้ที่รักษาอำนาจเหมือนกัน ได้อ่านได้พิจารณาดู รวมทั้งได้ยืมบันทึกการอภิปรายไปดูแล้ว ในหมวดที่ ๒ นี้เท่าที่บันทึก ท่านผู้ร่างได้ถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์เกินกว่าที่ได้มีมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของเราทีได้ใช้มา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความจริงนั้นการที่เราจะพยายามถวายอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ ถ้าพูดถึงในทางดี ข้าพเจ้าก็รับรองเหมือนกันว่า อาจจะมีผลดีมาก แต่ในทางเดียวกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอให้สภานี้ พิจารณาทางกลับกันบ้าง เพราะธรรมดาทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีคุณมีโทษ การที่เราถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินไปนั้น ได้มีผู้ทักท้วงหลายท่านว่า เราได้เทิดทูนว่าไว้พระมหากษัตริย์นั้น เราถือว่าเป็นยอดแห่งความเคารพสักการะ เราจะละเมิดมิได้ อันนี้เรารับรองกันมานานแล้วว่า เราเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของเราอย่างนั้น แต่ว่าในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมอบพระราชภาระให้แก่พระมหากษัตริย์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งส่วนพระองค์และในส่วนนิติบัญญัติ และบริหารก็เป็นเช่นนั้น แล้วธรรมดาใครๆ ก็ย่อมรู้ว่า สี่ตีนยังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลัง ฉะนั้นแล้วจะไม่มีการผิดพลาดอย่างไร

ก็เมื่อมีการพลาดพลั้งแล้ว ปัญหาเรื่องเคารพสักการะและละเมิดต่างๆ ก็จะกระทบสั่นคลอนได้ ทั้งนี้ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว รองลงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติพระชนมายุไว้ ซึ่งท่านอ้างว่าต่างประเทศเขาบัญญัติกัน ข้าพเจ้าก็ไม่เถียง ท่านอ้างได้

พระชนมายุให้ทรงบรรลุนิติภาวะของกษัตริย์อายุ ๑๘ ปีนั้น ในเมื่อพระมหากษัตริย์เรายังไม่ได้จุติมาจาดดวงอาทิตย์เหมือนญี่ปุ่น แล้วก็ทำไมคนไทยอายุ ๑๘ ปี จะทำอะไรไม่ผิดพลั้ง อายุ ๔๐ หรือ ๕๐ ก็ผิดพลาดได้ (คือตอนจะแก้รัฐธรรมนูญให้กษัตริย์บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ ๑๘ ปี ไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการ คุณพโยม แกคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่ากษัตริย์จะทำผิด-สุพจน์)..

ได้มีการอภิปรายกันมากแล้วว่าในเรื่องผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้ อันนี้ใคร่จะขอชี้ให้เห็นว่ามันขัดกับหมวด ๓ มาตรา ๒๗ ที่บอกว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ข้าพเจ้าข้องใจว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ชาวไทยอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นเอาแบบญี่ปุ่นสิ (นี่เป็นคำของคุณพโยม) เพราะพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ยอมรับว่าไม่ใช่คนธรรมดา

ความจริงมาตรา ๕ ก็บัญญัติไว้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ก็ไม่เคยบัญญัติบอกว่าฟ้องร้องใดๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้น สืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้นบังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชบัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้

เราได้รับรองว่าเราพูดไปอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าตำหนิว่า การที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไทยว่าให้สิทธิว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประชาชนเชื่อว่า ต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด ๒ ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบางทีเราพูดกับทำไม่ตรงกัน”

นี่เป็นข้อสังเกตของคุณพโยมเรื่องการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์


จากหนังสือ "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕"

No comments: