Monday, September 3, 2007

บทความที่๒๔๙.ราษฎรควรมีหลักประกันว่าจะไม่อดตาย ?

นายปรีดีมองเห็นว่าเศรษฐกิจตกต่ำมิใช่มีสาเหตุทางธรรมชาติอย่างเดียว แต่เพราะน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองที่เอารัดเอาเปรียบผู้ที่ต่ำต้อยกว่า จึงมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างหลักประกันในชีวิตให้ราษฎรทั้งหลาย ดังนั้นเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหมวดที่ ๓ จึงระบุไว้ว่า

"ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการหรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยงแท้ดังได้พรรณนามาแล้ว"

และยังได้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ด้วยการเสนอให้รัฐบาลจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ โดยเงินทุนสำรองของรัฐบาลและเงินกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ

นายปรีดีแจกจ่ายเค้าโครงการเศรษฐกิจให้อ่านกันในคณะราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่นานจึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นแนวทางของ "คอมมิวนิสต์" เมื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๗๕ (นับตามปฏิทินเดิม) มีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วยมากกว่าผู้เห็นด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรี) ยังได้นำพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๗ มาเสนอต่อที่ประชุมด้วย พระบรมราชวินิจฉัยมีความตอนหนึ่งว่า

"แต่ในส่วนโครงการเศรษฐกิจแบบหลวงประดิษฐ์ ควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติดังกล่าวนั้น จะกลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จนเป็นหายนะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศ และชาติบ้านเมืองอันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ และโครงการนี้เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้ง ๒ นี้เหมือนกันหมด"




จากหนังสือ "ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย" โดย ภาณุมาศ ภูมิถาวร




No comments: