Wednesday, September 5, 2007

บทความที่ ๒๖๐. ต้องช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจเศรษฐกิจและวัฒนธรรม



การปกครองของรัฐที่เป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงประชาชนมีประชาธิปไตย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งปวงชนมีอธิปไตยสมบูรณ์ในการที่จะกำหนดวิถีชีวิตของเขาทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมได้ตามความปรารถนาของเขาเองแล้ว นั่นก็หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้กุมอำนาจแห่งสังคมหรือรัฐนั้นๆ อย่างแท้จริง

และตามเนื้อหาการปกครองเช่นนี้ ประชาชนจึงจะกำหนดผู้แทนของเขาเองได้ตามความปรารถนาตามวิถีทางของประชาธิปไตย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้แทนหรือคณะผู้แทนก็คือผู้รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นแห่งสังคม ซึ่งถูกกำหนดหรือเลือกตั้งโดยประชาชนของสังคมนั้นๆ นั่นเอง อันหมายถึงเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไม่ได้อยู่ในกำมือของประชาชนส่วนใหญ่ หากแต่ตกอยู่ในมือของชนกลุ่มน้อย ดังปรากฎการณ์ที่ผ่านมาในยุคทาส ยุคศักดินาและยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ก็เป็นธรรมดาที่ชนกลุ่มน้อยนี้จะต้องเลือกหรือแต่งตั้งผู้แทนชนชั้นของเขาขึ้นเป็นผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชนชั้น และในขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงไม่มีโอกาสที่จะกำหนดผู้แทนและมีคณะผู้แทนชนชั้นของตนเองได้ตามปรารถนา และดังนั้น คณะผู้แทนในสังคมเช่นนี้ก็เป็นเพียงคณะผู้แทนของชนกลุ่มน้อยเท่านั้นเอง ดังที่เป็นอยู่ในระบอบเผด็จการธนาธิปไตยในขณะนี้

กล่าวแต่โดยย่อก็คือ ระบอบการปกครองของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงจะมีโอกาสมีคณะผู้แทนดำเนินกิจการทางการเมืองแทนชนชั้นของเขาได้อย่างแท้จริง และระบอบการปกครองของสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสมีคณะผู้แทนพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของเขาเลย หากคณะผู้แทนในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนั้น ก็เป็นเพียงคณะผู้แทนรักษาผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยที่กุมอำนาจเศรษฐกิจไว้ในกำมือเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มศักดินาหรือกลุ่มนายทุน ตามกาลสมัย หรือนัยหนึ่ง ชนชั้นใดเป็นผู้กุมอำนาจในทางเศรษฐกิจแห่งสังคม ชนชั้นนั้นก็จะมีคณะผู้แทนดำเนินกิจการทางการเมือง เพื่อพิทักษ์รักษาไว้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของเขา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้แทนของประชาชนส่วนใหญ่ หรือคณะผู้แทนของชนกลุ่มน้อย ต่างก็มีเจตจำนงตรงกันอยู่ประการหนึ่ง คือเจตจำนงที่จะพิทักษ์รักษาไว้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตนเป็นผู้แทน หรือพิทักษ์รักษาไว้และนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งชนชั้นของตัว

ด้วยประการฉะนี้ กฎหมายที่ถูกตราออกมาโดยคณะผู้แทนของชนชั้นใดก็เป็นกฎหมายที่มีลักษณะและสาระเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของชนชั้นนั้น

ดังเช่นกฎหมายในยุคทาส ก็พิทักษ์รักษาไว้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของนายทาส เช่น กฎหมายแห่งบาบิลอน ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลหนึ่งอาจมีสิทธิเหนือบุคคลหนึ่งได้ เช่นเดียวกับที่เขามีสิทธิ์เหนือโคเหนือกระบือตัวหนึ่งฉะนั้น”

กฎหมายในยุคศักดินา ยุคทุนนิยม ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่พิทักษ์รักษาไว้ และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของพวกศักดินาและพวกนายทุนดังเช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับและหลายมาตราของไทยในปัจจุบันนี้

กฎหมายก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก ในข้อที่ว่าไม่เป็นสิ่งคงกระพันหากย่อมเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เสมอ ตามเจตจำนงของชนชั้นที่กุมอำนาจในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของสังคม

ดังนั้น การที่จะให้ได้มาซึ่งกฎหมายเพื่อพิทักษ์รักษาไว้และนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ชนชั้นนั้นจะต้องช่วงชิงอำนาจทางการเมืองให้ได้เสียก่อน เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นปัจจัยประการแรกและประการสุดท้ายในการเข้ากุมอำนาจรัฐ และเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจซึ่งจะยังผลให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่จะรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นของตน

ในยุคทาส เจ้าทาสเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ จึงตรากฎหมายออกมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าทาส

ในยุคศักดินา เจ้าศักดินาเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ จึงตรากฎหมายออกมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าศักดินา

ในยุคทุนนิยม เจ้าสมบัติหรือนายทุนเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ จึงตรากฎหมายออกมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเหล่าเจ้าสมบัติหรือนายทุน ดังที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

ฉะนั้น หากมหาชนอันเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งอยู่ร้อนนอนทุกข์เพราะถูกกดขี่ขูดรีดตลอดมา นับแต่ยุคทาส ยุคศักดินา และยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ดังการมีกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นของตน มหาชนก็จะต้องเจริญรอยตามเจ้าทาส เจ้าศักดินาและเจ้าสมบัติหรือนายทุน นั่นคือ การเข้ากุมอำนาจรัฐ และเมื่อนั้นมหาชนจึงจะมีกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของมหาชน และนั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และความผาสุก ที่มหาชนพึงจะได้รับจากสังคมร่วมกัน.
จากปทานานุกรม การเมือง ฉบับชาวบ้าน สุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: