Thursday, September 13, 2007

บทความที่๒๘๔.การปฏิวัติของประชาชน ๒

ยังเติร์ก

การปฏิวัติในตุรกีระหว่างปี ๑๙๐๘-๑๙๐๙ โดยกลุ่มนายทหารหนุ่มตรุกี (Young turks) ที่ประกอบด้วยสมาชิกพรรค Unity and Progress เป็นผู้นำการปฏิวัติขับไล่ระบบทรราชย์ของสุลต่าน อับดุล ฮามิดที่ ๒ ผู้ได้ฉายายว่าเป็นจอมทรราชย์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ของตุรกี

การปฏิวัติดังกล่าวซึ่งเริ่มขึ้นด้วยการที่กองทหารในบังคับบัญชาของเติร์กหนุ่มก่อการกบฏขึ้น โดยมีกสิกรชาวนาให้การสนับสนุนด้วย สุลต่านทรราชย์ได้ยินยอมฟื้นฟูระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามคำเรียกร้องของคณะปฏิวัติ แต่ด้วยความเป็นทรราชย์ต่อประชาชน สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ได้รวบรวมทหารเพื่อทำการปฏิวัติซ้อนในเดือนเมษายน ๑๙๐๙ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ฮามิดหลบหนีไปได้ โดยอ้างไว้ว่าจะกลับมาสร้างระบอบปกครองของตนขึ้นอีกในตุรกี รัฐบาลใหม่ภายใต้คณะเติร์กหนุ่มก็ได้ตั้งขึ้นมาบริหารชาติบ้านเมืองต่อไป

ผลของการปฏิวัติในตุรกีได้ยังความแน่ใจให้ได้อย่างมากที่สุดว่า หากมีศึกกลางเมืองขึ้นอีก จะมีมวลมหาประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นอีก และมีผลแตกหักยิ่งกว่าที่แล้วมา ศึกกลางเมือง(จะในตุรกี หรือหน้าบ้านสี่เสาร์เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐)มิใช่บทเรียนที่เสียไปเปล่าสำหรับประชาชาติใดๆ เพราะบทเรียนการต่อสู้นี้ต้องได้มาด้วยความยากลำบากอย่างสาหัส โดยมีชัยชนะเหนือฝ่ายปฏิกิริยา ซึ่งจะต้องหาทางแก้มือ ทำการปฏิวัติซ้อนในช่วงหนึ่งช่วงใด แต่คนจำพวกขี้แยหรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อเท่านั้นจึงจะอาดูรในข้อที่ว่าประเทศชาติของตนจะต้องเผชิญกับการได้รับบทเรียนอันสาหัสเช่นนี้ แต่สำหรับประชาชนผู้ถูกกดขี่ การได้รับบทเรียนเช่นนี้ย่อมจะสอนพวกเขาให้รู้ว่า ควรจะทำศึกกลางเมืองอย่างไรและจะทำการปฏิวัติให้เป็นผลสำเร็จได้อย่างไร
ขณะเดียวกับที่บทเรียนนั้นย่อมทำให้มวลชนผู้เป็นทาสเกิดความชิงชังในผู้กดขี่ได้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยปรากฏมาแล้วว่า ความชิงชังดังกล่าวเคยนำไปสู่ปฏิบัติการที่ลบล้างความอัปยศของความเป็นทาสอย่างกล้าได้กล้าเสียเพียงใด

No comments: