Sunday, September 9, 2007

บทความที่ ๒๗๓. ประวัติศาสตร์ ตอนที่ ๒ (จบ)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในเมื่อชนชั้นปกครองอันเป็นบริวารของกษัตริย์เป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ เขาผู้บันทึกประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็ต้องเชิดชูพระเกียรติ ชมบุญบารมีของเจ้าเหนือหัวของพวกเขา ดังนั้น พวกเรานักศึกษาประวัติศาสตร์จึงได้ศึกษาแต่ประวัติศาสตร์ของบรรดากษัตริย์ทั้งหลายเท่านั้น ส่วนเรื่องราวการเคลื่อนไหวของมวลมหาชน ประวัติศาสตร์หาได้บันทึกไว้ให้เราได้ศึกษาไม่

ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องเที่ยงธรรมจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของประชาชน และจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเอกชนได้ ก็ต่อเมื่อพฤติการณ์ของเอกชนเหล่านั้นเป็นพฤติการณ์แสดงออกแทนสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ซึ่งแผ่ไพศาลออกไปจากตัวเขา กล่าวคือเป็นการแสดงความเคลื่อนไหวของประชาชน

ต่อกรณีนี้ อีมิลเบิร์นส์ บัณฑิตทางประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ยกตัวอย่างครอมเวลล์ขึ้นมาตีแผ่ให้เห็นว่า ความสำคัญของครอมเวลล์จนถึงกับประวัติศาสตร์อังกฤษต้องจารึกเอาไว้นั้น หาได้เกิดจากการกระทำและทรรศนะของเขาไม่ หากแต่ความสำคัญของครอมเวลล์อยู่ที่ว่า เขาได้มีบทบาทสำคัญในความเคลื่อนไหวของประชาชนอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบเก่า ตัวเขาและขบวนการของเขาได้โจมตีทำลายระบบศักดินาจนพังทลาย และได้เบิกทางให้แก่ความขยายตัวอย่างไพศาลของลัทธิทุนนิยมในอังกฤษ

ข้อที่พึงสนใจในพฤติการณ์ของครอมเวลล์มิได้อยู่ที่ประวัติแห่งการรบพุ่งของเขาและกลอุบายต่างๆ ของเขา หากแต่อยู่ที่การศึกษาของครอมเวลล์ในฐานะที่ได้เบิกทางให้แก่ความคลี่คลายขยายตัวของผลิตกรรมและวิภาคกรรมของอังกฤษ อยู่ที่ทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงได้เกิดการโรมรันกันกับกระบบกษัตริย์ศักดินาขึ้นในระยะกาลนั้น และเหตุใดจึงได้เกิดขึ้นในอังกฤษก่อนประเทศอื่นๆ การศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงนานาประการตามความเป็นจริง ที่ได้เกิดขึ้นในกาลสมัยนั้น นั่นแหละ ที่เป็นกิจอันควรสนใจและเป็นความสำคัญ สิ่งเหล่านั้นนั่นแหละคือมูลฐานของวิทยาการแห่งประวัติศาสตร์

โดยอาศัยความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาดังกล่าวนั้น รวมทั้งการศึกษาพฤติการณ์ในสมัยอื่นและชนชาติอื่นในทำนองเดียวกัน ย่อมเป็นสิ่งอันอยู่ในวิสัยที่จะกำหนดทฤษฎีทั่วๆ ไปขึ้นได้ นั่นคือเป็นสิ่งอยู่ในวิสัยที่จะกำหนดทฤษฎีทั่วไป หรือนัยหนึ่งกฎแห่งพัฒนาการของสังคมขึ้นได้ และกฎเหล่านั้นก็จะเป็นกฎที่แท้จริงเช่นเดียวกับกฎต่างๆ

เมื่อใดที่เราได้รู้กฎต่างๆ ในเรื่องความคลีคลายของสังคม เราก็อาจนำกฎเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ดุจเดียวกับที่เราอาจใช้กฎวิทยการอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน เราไม่เพียงแต่อาจคาดคะเนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เราอาจปฏิบัติในอาการที่แน่ใจว่า เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมจะเกิดหรือเข้าจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งมิให้มันเกิดขึ้นได้ด้วย

บัณฑิต เนห์รู (ยวาหระลาล เนห์รู)ปรารภไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของโลกที่ท่านนิพนธ์ขึ้น ว่า

“ประวัติศาสตร์นั้นจะว่าไปก็คือบันทึกบรรดาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในโลกตั้งแต่ต้นมานั้นเอง การศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ถ้ามันได้นำเราให้ได้พินิจเห็นการเปลี่ยนแปลง ได้พินิจเห็นเหตุและผลของมัน ตลอดจนความขัดแย้งของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน และได้นำผู้ศึกษาไปสู่การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงชีวิตทางด้านวัตถุของมนุษย์ จนอำนวยผลให้สามารถบั่นทอนความชั่วร้ายทางจิตใจที่ถูกครอบงำไว้ด้วยอำนาจแห่งวัตถุ และคลี่คลายจิตใจของมนุษย์ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ไปสู่ธรรมเมตตา ไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติ เพราะได้ขจัดเหตุแห่งความขัดแย้งกันให้บรรเทาลงไปได้มากที่สุด นั่นก็จะเป็นการศึกษาและนำผลของการศึกษาประวัติศาสตร์ ไปใช้ในทางที่ถูกต้องและเป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ”

ท่านเมธีทางวิทยาศาสตร์สังคมอีกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“มันไม่ใช่วีรบุรุษดอกที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา แต่ทว่าประวัติศาสตร์ต่างหากที่สร้างวีรบุรุษ เพราะฉะน้นมันจึงไม่ใช่วีรบุรุษเป็นผู้สร้างประชาชน แต่ประชาชนเป็นผู้สร้างวีรบุรุษขึ้นมาและผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า”
อย่างไรก็ดี การศึกษาประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องเป็นการศึกษาถึงประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมวลชน อันรวมไว้ซึ่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง, การเศรษฐกิจ สังคม และตลอดจนความคิด ทั้งที่เป็นมาแล้วในอดีต กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่จะเป็นไปในอนาคต และแล้วก็นำผลของการศึกษาประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ไปใช้ในทางที่ถูกต้อง นั่นก็คือในทางเพื่อการสร้างสรรค์สังคมและความสมบูรณ์พูนสุขของมวลมนุษยชาติร่วมกัน.

No comments: