Thursday, September 20, 2007

บทความที่๓๑๔.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๗

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๕-
ส่วนท่าทีของสหราชอาณาจักรนั้น แม้ว่าผู้นำทหาร ดังเช่นลอร์ดเมานท์แบตเตน จะแสดงความชื่นชมต่อคุณูปการของเราที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตร (ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ ๓) ในเบื้องแรก รัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองที่มีแนวโน้มนิยมชมชอบลัทธิจักรวรรดินิยมไม่ยินยอมเจรจากับเราในทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับเอกราชของชาติไทยภายหลังที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ดังนั้น ลอร์ดเมานท์แบตเตน จึงได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของตนให้เจรจากับผู้แทนฝ่ายเราเพียงเฉพาะเรื่องกิจการทางทหารอย่างเดียวเท่านั้น นักการเมืองชาวอังกฤษในยุคนั้นทราบดีทีเดียวว่า การประกาศสงครามระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักรนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อังกฤษถือว่า ประเทศเราจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่อังกฤษ

เมื่อรัฐบาลอังกฤษมีท่าทีปฏิเสธการเจรจาทางการเมืองเช่นนี้ เราจึงได้หันเหมาใช้ความพยายามเจรจาในเรื่องนี้กับรัฐบาลอเมริกัน ที่นำโดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนสยาม และพยายามเจรจากับรัฐบาลผสมของจีน (ระหว่างจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์) โดยทางเราได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาเรื่องเอกราชของชาติ

เราได้ขอให้สถานอัครราชทูตเขาเราที่กรุงสต๊อค โฮล์มติดต่อสถานอัครราชทูตของโซเวียตที่นั่นเช่นกัน ให้ช่วยส่งบันทึกรายงานฉบับหนึ่งไปยังรัฐบาลโซเวียต เพื่อสนับสนุนความต้องการอันชอบธรรมของเรา

รัฐบาลของประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เราหลายครั้งหลายคราว เพื่อจะทำให้อังกฤษเปลี่ยนใจ หรืออย่างน้อยที่สุดให้อังกฤษมีท่าทีเดียวกับ ส.ร.อ.ในการยอมรับว่า ประเทศสยามมิได้เป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เราได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ขบวนการเสรีไทยจะต่อสู้การรุกรานขอญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แทนที่จะกระทำการอย่างลับๆ แต่ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการ เราได้ปรารถนาที่จะให้รัฐบาลอเมริกันและอังกฤษยืนหยัดต่อเราก่อนว่า จะเคารพความเป็นเอกราชของประเทศสยามแม้ว่า จอมพลป.พิบูลสงครามจะได้ประกาศสงครามกับประเทศทั้งสองโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ส่งโทรเลขลับด่วนมาก ๒ ฉบับ ซึ่งมีข้อความตรงกัน ฉบับหนึ่งถึงกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. และอีกฉบับหนึ่งถึงลอร์ดเมานท์แบตเตน ข้าพเจ้าขอยกข้อความในโทรเลขของข้าพเจ้า ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. ได้ตีพิมพ์ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนไปแล้ว ๒๕ ปี ดังนี้

๑)บันทึกจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ.เลขที่๓๔๐๐๐๑๑ P.W./๕๒๙๔๕ วอชิงตัน ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘

สาส์นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากรู้ธ(ปรีดี พนมยงค์)ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ.ได้รับเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ มีข้อความดังต่อไปนี้

“การต่อต้านเสรีไทยในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนั้น ได้ทำตามคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันเสนอมาในการที่มิให้ปฏิบัติการใดๆ ต่อสู้ญี่ปุ่นก่อนถึงเวลาอันควร แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้ากำลังใจรบของญี่ปุ่นจะลดน้อยลงไป ถ้าขบวนการเสรีไทยไม่คงอยู่ภายในฉากกำบังอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบีบให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรเร็วขึ้น เพราะการสลายตัวของสิ่งที่เรียกว่า วงไพบูลย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เราได้ถือตามคำแนะนำว่า ขบวนการเสรีไทยจะต้องพยายามขัดขวางความร่วมมือที่ญี่ปุ่นจะได้จากประเทศไทย เราได้ยึดถือนโยบายนี้อย่างเคร่งครัดที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ท่านย่อมเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นนับวันจะยิ่งมีความสงสัยขบวนการเสรีไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทย (รัฐบาลควงฯ) ไม่ยอมทำตามคำขอของญี่ปุ่นที่ขอเครดิตเพิ่มเติมอีก ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากรัฐบาลปัจจุบันว่า จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ถ้าหากญี่ปุ่นบีบบังคับให้ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว

ถ้าญี่ปุ่นยืนยันเช่นนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะตั้งขึ้นและปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น โดยประการแรกประกาศโมฆะกรรม ซึ่งหนี้สินและข้อตกลงซึ่งรัฐบาลพิบูลฯ กับญี่ปุ่นได้ทำกันไว้ตลอดทั้งสนธิสัญญาที่ผนวก ๔ รัฐมาลัยและรัฐฉานไว้กับประเทศไทย รวมทั้งการประกาศสงครามต่ออังกฤษและ ส.ร.อ.ด้วยพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ชาตินี้กับประเทศไทยจะสถาปนาขึ้นดังที่เป็นอยู่ก่อนญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก่อนที่จะดำเนินแผนการนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาแจ้งให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่า ข้าพเจ้าตระหนักว่า ส.ร.อ.มีเจตนาต่อเอกราชของประเทศไทย และมีไมตรีจิตต่อราษฎรไทย ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น ส.ร.อ.จะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศศัตรู ทั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทย ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง”

ข้าพเจ้าได้ส่งสาระในโทรเลขฉบับนี้ไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ด้วยเช่นกัน

๒) ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ข้าพเจ้าได้รับคำตอบจากผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. ดังมีความต่อไปนี้

“ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาส์นของท่านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อสู้ศัตรูทางปฏิบัติการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อแน่ว่า อย่างไรก็ตาม ท่านย่อมตระหนักว่า การต่อสู้ร่วมกันของเรานั้น ต้องสมานกับยุทธศาสตร์ทั้งปวงในการต่อสู้กับญี่ปุ่น และไม่เป็นผลดีถ้าไทยทำก่อนเวลาอันสมควร และก่อนที่จะมีหลักประกันพอสมควรว่าจะได้ชัยชนะ หรือถ้าลงมือปฏิบัติการอย่างเปิดเผยโดยมิได้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์

เราหวังว่า ท่านจะใช้ความพยายามต่อไปที่จะป้องกันการกระทำก่อนถึงเวลาอันควร โดยขบวนการเสรีไทยหรือการปฏิบัติอันเร่งให้ญี่ปุ่นยึดอำนาจจากรัฐบาลไทย(รัฐบาลควงฯ)

เราเชื่อมั่นว่า ท่านจะแจ้งให้เราและอังกฤษทราบ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทั้งๆ ที่ท่านพยายามยับยั้งไว้แล้วก็ตาม ส.ร.อ.เข้าใจแจ่มแจ้ง และเห็นคุณค่าในความปรารถนาจริงใจของท่านและมวลราษฎรไทยในการปฏิเสธการประกาศสงครามและข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับรัฐบาลพิบูลฯ นั้น แต่ยังไม่เข้าใจแจ้งชัดว่า เหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน(รัฐบาลควงฯ)จะลาออกขณะนี้ หรือจะมีการบีบบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องเลือกเอาการปฏิเสธการประกาศสงคราม และข้อตกลงกับญี่ปุ่นเป็นการกระทำในเบื้องแรก

ย่อมจะเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยจะบรรลุผลตามวัตถุประสงคืได้ดีกว่าเมื่อออกมาปฏิบัติการเปิดเผยแล้ว คือ โดยจู่โจมการลำเลียงการคมนาคมกองกำลังยุทโธปกรณ์ของศัตรูอย่างฉับพลันและอย่างมีการประสานงาน รวมทั้งยึดตัวนายทหาร พนักงาน เอกสาร จุดสำคัญของศัตรู แล้วการปฏิบัติทางการเมืองเพื่อปฏิเสธการประกาศสงครามและการเข้ามีฐานะเสมอกันกับสัมพันธมิตรก็จะตามภายหลัง

เราให้ความสำคัญต่อการมีรัฐบาลไทยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อที่จะทำการร่วมมือกับสัมพันธมิตร เราหวังว่า การเตรียมทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ จะต้องทำขึ้นในอันที่จะป้องกันการจับกุมหรือการแยกย้ายบุคคลสำคัญที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อว่ารัฐบาลดังกล่าวนั้นจะเข้ารับงานได้ทันทีในบริเวณที่ปลอดญี่ปุ่น และสามารถสั่งการทางทหารให้กองทัพไทยปฏิบัติการร่วมมือกับสัมพันธมิตร และสามารถฟื้นกลไกของรัฐบาลพลเรือนในบริเวณที่กู้อิสรภาพแล้ว

ส.ร.อ.ไม่อาจประกาศโดยลำพังได้ว่า ชาติอื่นชาติใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่จะมีความยินดีประกาศซ้ำอีกโดยเปิดเผยในโอกาสเหมาะสมถึงความเคารพความเป็นเอกราชของชาติไทย และประกาศว่า ส.ร.อ.ไม่เคยถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู

เรารอคอยวันที่ประเทศของเราทั้งสองสามารถที่จะเปิดเผยต่อสาธารณถึงจุดหมายร่วมกันในการต่อสู้ศัตรุร่วมกัน”

(ลงนาม) กรูว์
รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๓) แม้ว่าลอร์ดเมาน์ทแบทเตน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะรู้สึกเห็นใจในขบวนการของเรา แต่ก็ตอบได้เฉพาะในแง่ของแผนการทางทหารเท่านั้น โดยขอให้ข้าพเจ้าป้องกันมิให้มีการกระทำใดๆ ก่อนถึงเวลาอันควร

เมื่อเราส่งนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นไปที่ประเทศซีลอน เมื่อเจรจากับลอร์ดเมาน์ทแบทเตน บรรดาที่ปรึกษาทางการเมืองที่รัฐบาลอังกฤษส่งมาเจรจา ต่างก็ปฏิเสธที่จะยอมรับความเป็นเอกราชของสยาม

No comments: