Friday, September 14, 2007

บทความที่ ๒๙๒. การตื่นตัวของเอเชีย

การตื่นตัวของเอเชีย

เมื่อไม่นานมานี้เองยังมองเห็นกันว่าจีนเป็นประเทศที่ไม่ก้าวหน้ามาหลายศตวรรษแล้ว แต่บัดนี้ประเทศนั้นกลับกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองอย่างคึกคัก กับเต็มไปด้วยความตื่นตัวไปในทางประชาธิปไตย ภายหลังการปฏิวัติครั้งแรกในรุสเซียระหว่าง ปี ๑๙๐๕-๑๙๐๗ การปฏิวัติทางประชาธิปไตยก็พัดแพร่ไปทั่วเอเชีย รวมทั้งตุรกี เปอร์เซีย จีน และอินเดียด้วย

ทีน่าสังเกตโดยเฉพาะก็คือ ความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติทางประชาธิปไตยได้ขยายตัวไปถึงอินดีส์ตะวันออกชวา และอาณานิคมอื่นๆ ในปกครองของฮอลันดา ซึ่งมีพลเมืองประมาณ ๔๐ ล้านคน ในชวาได้เกิดขบวนการชาตินิยมอิสลาม ขณะเดียวกันที่กลุ่มปัญญาชนชาวยุโรปผู้อาศัยอยู่กับชนอินดีส์ตะวันออกทำการเรียกร้องเอกราชสำหรับดินแดนส่วนนั้น และชาวจีนจำนวนมากผู้อาศัยอยู่ในชวากับในเกาะอาณานิคมอื่นๆ ของฮอลันดาก็เกิดมีความเคลื่อนไหวไปในทางปฏิวัติตามอย่างประเทศจีน

การตื่นตัวของอินดีส์ตะวันออกดังกล่าวย่อมหมายความว่าระบบปกครองแบบทรราชของฮอลันดาดันดำเนินมานานเป็นยุคเป็นสมัยเหนืออาณานิคมแห่งนั้น ต้องเผชิญกับปฏิกิริยาประท้วงและต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยวจากมวลชนพื้นเมืองแล้ว เหตุการณ์ได้เป็นไปอย่างเคยในระยะก่อนการปฏิวัติจะเกิดขึ้นในที่ใดๆ โดยมีการจัดตั้งพรรคและสหภาพต่างๆ ขึ้นอย่างรวดเร็วในอินดีส์ตะวันออก กับมีการห้ามปรามโดยรัฐบาลผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งกลับกลายเป็นการกระพือเชื้อเพลิงของความเกลียดชังและเร่งรัดให้กระบวนการปฏิวัติขยายตัวออกไปมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ได้มีการสั่งยุบพรรรค “อินเดียปาร์ตี้” ซึ่งเรียกร้องเอกราช โดยอ้างว่าพรรคนั้นคิดจะแยกดินแดนอินดีส์ตะวันออกจากฮอลันดา แต่แล้วพรรคนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นอีกโดยการจัดตั้งพรรคใหม่และให้ชื่อพรรคเสียใหม่

อนึ่งได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติของชนพื้นเมืองขึ้นในชวาด้วย มีสมาชิกประมาณ ๘ หมื่นคนและทำการชุมนุมประชาชนอยู่เสมอจึงไม่มีทางจะยับยั้งการขยายตัวของกระบวนการประชาธิปไตยในอาณานิคมแห่งนั้นไว้ได้เลย

โดยนัยนี้ ลัทธินายทุนสากลกับการปฏิวัติในรุสเซียจึงได้ปลุกเร้าเอเชียให้ตื่นขึ้นในที่สุด ชนผู้ถูกกดขี่นับร้อยๆ ล้านคน ได้ตื่นขึ้นแล้วจากการตกอยู่ในหล่มของยุคสมัยกลาง ได้ย่างเข้าสู่การมีชีวิตใหม่และพากันลุกฮือขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษย์และประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน มวลชนกรรมาชีพในบรรดาประเทศพัฒนาก็กำลังเฝ้าดูการขยายตัวอย่างเข้มแข็งของการรณรงค์เพื่อปลดแอกในทุกรูปแบบและในทุกหนทุกแห่งทั่วโลก ด้วยความสนใจและทำให้เกิดแรงดลใจด้วย ส่วนชนชั้นเจ้าขุนมูลนายทางยุโรปก็พากันหวาดหวั่นในการพัฒนาพลังของชนกรรมาชีพ และพากันใช้วิธีปฏิกิริยาบ้าง วิธีทางทหารบ้าง วิธีอื่นๆ บ้าง เพื่อพยายามหยุดยั้งพลังมวลชนไว้ แต่มวลชนกรรมาชีพในนานาประเทศทางยุโรป และในประเทศประชาธิปไตยใหม่ทางเอเชีย ก็ยังคงเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ไม่เสื่อมคลายในพลังของตนเองและของมวลชนโดยทั่วไป และยังคงก้าวหน้าสืบไปเพื่อชิงความมีชัยจากชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย

การตื่นตัวของเอเชียและการรณรงค์ของมวลชนกรรมาชีพทางยุโรปได้เริ่มขึ้นแล้ว ย่อมเป็นสัญญลักษณ์ของศักราชใหม่ในประวัติศาสตรืโลกซึ่งได้เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้


วี.ไอ.เลนิน บทความลงใน นสพ. ปราฟดา ๗ พ.ค. ๑๙๑๓

No comments: