Tuesday, September 4, 2007

บทความที่๒๕๔.คุยกันเรื่องท่านปรีดีฯ ตอนที่๑

คุยกันเรื่องท่านปรีดีฯ

เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ผู้ที่ได้ใกล้ชิดรับรู้เรื่องราวของท่านปรีดีในช่วงเวลาที่ท่านปรีดีฯพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศส,โดยคณะผู้จัดทำหนังสือ “วันปรีดี พนมยงค์”

ถาม หลายคนเห็นว่าท่านโชคดีที่ได้เคยใกล้ชิดกับ ดร.ปรีดีฯ ไม่ทราบว่าท่านใกล้ชิดในช่วงใดครับ ?

ตอบ ผมโชคดีจริงๆ ครับที่มีโอกาสได้รู้จักและใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ปรีดีฯ พอสมควร ตอนที่ท่านอาจารย์และท่านผู้หญิงย้ายมาอยู่ที่ปารีสแล้วในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ น่ะครับ ช่วงนั้นผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่อังกฤษ ท่านทั้งสองรวมทั้งครอบครัวกรุณาผมมากครับ ผมได้ไปกราบท่านที่ปารีสหลายครั้ง

ถาม เห็นเรียกอาจารย์ปรีดีฯ เคยเป็นลูกศิษย์หรือครับ ?

ตอบ จะว่าเป็นก็เป็นน่ะครับ เป็นลูกศิษย์เพราะได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรจากท่านมากจริงๆ รวมทั้งการดำรงชีพอย่างเรียบง่าย สมถะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คิดแต่จะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อสนองคุณประเทศชาติและราษฎรไทย ไม่อาฆาตมาดร้าย ให้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และทำเพื่อมวลชนส่วนใหญ่เป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ท่านดำรงตนเป็นตัวอย่างตลอดชีวิตก็ว่าได้นะครับ

ผมโชคดีได้เป็นศิษย์ท่าน ก็คงได้อะไรมาบ้าง ก็หวังว่าอย่างนั้นน่ะครับ แต่ถ้าจะมองในแง่ที่เคยเป็นลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอย่างพวก ต.ม.ธ.ก. แล้ว ก็ไม่เคยหรอกครับ ผมเกิดไม่ทัน เกิดมาท่านก็ต้องลี้ภัยไปเมืองจีนเสียแล้ว คุณพ่อผมสิครับเคยเป็นลูกศิษย์ท่านที่โรงเรียนกฎหมายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

คุณพ่อยังเคยเล่าว่าได้ไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมที่บ้านท่านปรีดีฯ แต่ท่านไม่เคยคิดเงินเลย ท่านสอนเพราะอยากให้ลูกศิษย์รู้วิชา และตอนที่คุณพ่อจบเนติบัณฑิตแล้ว ท่านปรีดีฯ กำลังจัดตั้งเทศบาลขึ้นปกครองท้องถิ่น ก็ได้กรุณาแนะนำคุณพ่อผมให้ไปสอบเลยครับ เรื่องเหล่านี้ผมมาทราบหลังจากได้มีโอกาสรู้จักท่านและกลับไปรับราชการที่เมืองไทยแล้ว

ถาม แล้วทำไมคุณจริย์วัฒน์ ถึงรู้จักและใกล้ชิดท่านปรีดีฯ ได้ละครับ ?

ตอบ เรื่องมันยาวน่ะครับ เมื่อตอนที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นน่ะครับ ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับท่านอาจารย์ปรีดีฯ มากนักนอกจากว่าท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย เมื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษแล้วก็ยังไม่ได้รู้จักอะไรนักหนาน่ะครับ อ่านๆ เขียนๆ ก็ได้เรียนทาทางรัฐศาสตร์ด้วย ทางกฎหมายด้วย ก็กลับไปอ่านที่เมืองไทยบ้าง พอรู้เรื่องราวบ้างว่ามีใคร มีอะไร อย่างไร จนกระทั่งได้ข่าวมาว่าท่านอาจารย์ปรีดีฯ มาอยู่ที่ปารีส แล้วก็ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับท่านบ้าง รู้สึกทึ่งว่าท่านมีความสามารถ เช่น เมื่ออายุ ๓๒ ปี ก็ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน และเมื่ออายุ๓๔-๓๕ ท่านก็เป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง จนกระทั่งท่านได้นำชาติให้พ้นภัยช่วงสงคราม ก็สนใจนะครับ

ความสนใจจริงๆ จังๆ เริ่มตอนที่ผมเป็นกรรมการของสามัคคีสมาคมที่อังกฤษ และได้เป็นตัวแทนไปร่วมงานสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนี ท่านปรีดีฯ ได้แสดงปาฐกถาซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจผมที่สุด คือ ท่านเริ่มปาฐกถาโดยบอกว่า สิ่งที่ท่านจะพูดต่อไป ไม่ต้องเชื่อ แต่ให้นำกลับไปตรองว่ามีตรรกะ ความเป็นจริง หรือหลักฐานสนับสนุนหรือไม่ ถ้ามีแล้วค่อยเชื่อ แต่ถ้าไปเจอหลักฐานอะไรที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้ง ก็ไม่ต้องเชื่อและขอความกรุณาแจ้งหลักฐานเหล่านี้ให้ท่านทราบบ้าง ท่านก็จะเข้าใจได้ถูกต้อง ตอนฟังก็ทึ่งแล้วล่ะครับ

พอผมกลับมาอยู่ที่มหาวิทยาลัย เมื่ออยู่คนเดียวก็มานั่งพิจารณาดู ก็เห็นว่า โอ้โห คนขนาดนี้น่ะครับ เปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีส่วนนำชาติพ้นภัยช่วงสงคราม เป็นรัฐมนตรีมาตั้งเท่าไร เป็นนายกฯก็แล้ว อะไรก็แล้ว จะว่าไป ท่านเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ในความเห็นของผมน่ะครับ ท่านยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ท่านยังไม่เคยบอกว่าต้องเชื่อท่าน แต่ให้ทุกคนกลับไปคิดดู แสดงว่าข้อคิดของท่านต้องมีเหตุมีผลจริงๆ ไม่อย่างนั้น ใครจะกล้า ไม่ค่อยเหมือนนักการเมืองหรือใครที่ผมรู้จักในสมัยหลังๆ น่ะครับ ที่บอกว่าผมเป็นนั่นเป็นนี่แล้วคุณต้องเชื่อผม

สิ่งนี้ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับท่าน ศึกษาเกี่ยวกับท่านมากขึ้นน่ะครับ และเมื่อมีโอกาสก็ไปกราบท่าน และได้พบท่านผู้หญิง(คุณป้า)และพี่ๆ ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านหลังจากนั้น และได้มีโอกาสไปมาหาสู่ ผมไปฝรั่งเศสทีไร ก็ต้องมุ่งไปหาท่าน หลังๆ บางทีท่านก็กรุณาให้ไปพักอยู่ที่บ้านแล้วก็ได้ศึกษาอะไรจากท่านอีกเยอะแยะ

No comments: