Friday, September 7, 2007

บทความที่ ๒๗๒. ประวัติศาสตร์ ตอนที่ ๑

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติโดยเนื้อแท้แล้วก็คือประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของมวลมหาชนนั้นเอง แต่เรื่องราวที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นๆ ได้กลายเป็นเรื่องราวของกษัตริย์ไปเสีย โดยเฉพาะมวลมหาชนได้ถูกกล่าวขวัญถึงไม่

ประวัติศาสตร์ของชาติหรือของมหาชนได้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ของราชันผู้พิชิต แทนที่จะเป็นของมหาชนผู้รังสรรค์สังคม

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงเต็มไปด้วยการสรรเสริญเยินยอบุญบารมีของกษัตริย์แทบทั้งนั้น มวลมหาประชาชนผู้เคลื่อนไหวอยู่ในเหตุการณ์ และเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริงไม่ได้รับการเชิดชูแต่ประการใด ทั้งนี้ ก็เพราะผู้บันทึกประวัติศาสตร์ล้วนแต่เป็นชนชั้นปกครองอันเป็นบริวารของกษัตริย์ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้บันทึกประวัติศาสตร์เหล่านั้น จะต้องสรรเสริญเยินยอและผูกขาดชมบุญบารมีของกษัตริย์เจ้าเหนือหัวของตัวเองแต่ด้านเดียว นอกจากสรรเสริญเยินยอและชมบารมีแล้ว ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ยังบังอาจบิดเบือนความจริงให้ผิดแผกไป เพื่อผลประโยชน์ของกษัตริย์เจ้าเหนือหัวของตนอีกด้วย

อย่างเช่นในกรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถ้าหากว่าผู้บันทึกประวัติศาสตร์เป็นบริวารของพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว พวกเราที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็คงจะพบกับประวัติศาสตร์ที่ให้ความจริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคงจะผิดแผกไปจากความจริงที่เราได้รับจากประวัติศาสตร์ปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์จะต้องเป็นประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของมวลชน เพราะมวลชนได้เป็นตัวจักรสำคัญที่เคลื่อนไหวอยู่ในเหตุการณ์อย่างแท้จริง อย่างเช่นกำแพงเมืองจีน ปิรามิดในอียิปต์ นครวัดในเขมร ทัชมาฮัลในอินเดีย หาใช่สำเร็จขึ้นด้วยบุญบารมีหรืออภินิหารของกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดไม่ หากมันสำเร็จขึ้นด้วยหยาดเหงื่อ หยดเลือดและชีวิตของมวลมหาประชาชนนับจำนวนล้านๆ คน แต่นักบันทึกประวัติศาสตร์กลับไปบันทึกเชิดชูบารมีอภินิหารของกษัตริย์ ซึ่งมันเป็นการไม่ชอบธรรมที่การเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเหล่านั้น ไม่ได้รับการเชิดชูยกย่องจากนักประวัติศาสตร์แต่ประการใด

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่เพราะบุญบารมีของพระองค์ท่านแต่พระองค์เดียว หากเพราะบุญบารมีของมวลมหาชนทุกคน นับตั้งแต่ประชาชนผู้อยู่แนวหลังและคนตะพุ่นหญ้าช้างไปจนถึงแม่ทัพนายกอง หากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่มีบรรดาท่านเหล่านั้น การกู้ชาติครั้งนั้นก็จะสำเร็จไปไม่ได้เป็นอันขาด แต่กลับกัน ถ้าไม่มีพระองค์การกู้ชาติครั้งนั้นจะเป็นไปในรูปแบบใดเราก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่เราทราบได้อย่างเดียวว่า
“กำลังของมหาชนที่ผนึกเข้าเป็นเอกภาพแล้วนั้น ไม่มีกำลังอื่นใดจะมาสู้ได้” แต่อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ก็หาได้เชิดชูการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนเหล่านั้นไม่

No comments: