Friday, September 7, 2007

บทความที่ ๒๖๗. ชีวทรรศน์

ชีวทรรศน์

คือ ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ หรือ ทรรศนะของการมองความเป็นอยู่หรือมองดูความเคลื่อนไหวของชีวิต ชีวทรรศน์อาจจะแตกต่างกันตามภาวะความเป็นอยู่หรือภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ในทรรศนะของผู้กดขี่ขูดรีด เขาจะมีความพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ที่เขามีโอกาสได้กดขี่ขูดรีด แต่หากในทรรศนะของผู้ถูกกดขี่ขูดรีดเล่า เขาจะไม่พอใจต่อภาวะที่เขาได้รับ คือถูกกดขี่ขูดรีด และจากชีวทรรศน์ที่ขัดแย้งกันนี้เองได้ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น คือ ชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกดขี่ขูดรีด หรือชนชั้นที่เบียดเบียนกับชนชั้นผู้ถูกเบียดเบียน และความขัดแย้งขั้นมูลฐานต่อชีวทรรศน์ของชนชั้นทั้งสองจะไม่มีวันตรงกันได้เลย

พวกนายทุนทั้งหลายเข้าใจว่า ทรัพย์สมบัติต่างๆ นานาที่พวกเขามีอยู่นั้นเกิดด้วยผลบุญบารมีและสติปัญญาที่พวกเขาได้อบรมสั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน พวกนายทุนทั้งหลายจะมองดูคนยากจนด้วยสายตาอันชิงชังและดูถูกเหยียดหยามประดุจหนึ่งว่า อ้ายคนยากจนทั้งหลายนั้นเป็นเสนียดจัญไรต่อสังคม เป็นพวกที่ไม่มีความสามารถและไม่มีสมองที่จะสร้างความร่ำรวยขึ้นมาได้เลยในชีวิตนี้

ส่วนพวกคนยากจนทั้งหลายเขาก็จะมีชีวทรรศน์ไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้าม พวกเขาเข้าใจว่าที่พวกเขาต้องยากจนค่นแค้นนั้น หาใช่เพราะผีห่าซาตานตนใดดลบันดาลไม่ ไม่ใช่เพราะวิบากกรรมชาติปางก่อน และก็ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่มีสติปัญญาความรู้ความสามารถ แต่หากมันเป็นเพราะพวกเขาถูกพวกนายทุนยื้อแย่งปัจจัยในการผลิตและกองทุนไปเสียนั่นต่างหาก ทรัพย์สมบัติต่างๆ นานาของบรรดานายทุนทั้งหลายนั้น หาใช่มันหล่นลงมาจากฟ้าหรือเกิดด้วยผลบุญบารมีแต่ประการใดไม่ หากมันเกิดขึ้นด้วยการกดขี่ขูดรีดหรือกอบโกยเอาแรงงานส่วนเกินไปจากคนยากจน ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของมูลค่าส่วนเกิน ดอกเบี้ย ค่าเช่า กำไร และอื่นๆ สุดแท้แต่จะเรียก พวกนายทุนทั้งหลายนั้นแหละที่เป็นเสนียดจัญไรต่อสังคม ที่เป็นกาฝากต่อความสมบูรณ์พูนสุขของมวลมนุษยชาติและเป็นตัวอันตรายต่อสันติภาพ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า นั่นก็เพราะพวกนายทุนเป็นพวกปล้นที่ร้ายกาจนั้นเอง และร้ายยิ่งกว่าพวกปล้นธรรมดา มากกว่ามากนัก เพราะนักปล้นธรรมดากฎหมายลงโทษได้ แต่นักปล้นนายทุนซึ่งทำการปล้นอย่างกว้างขวาง เช่น ปล้นแรงงาน ปล้นกำไร ปล้นดอกเบี้ย ปล้นค่าเช่า กลับได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายและทรัพย์สมบัติที่พวกนายทุนปล้นเอาไปแล้วแอบอ้างว่าเป็นของตัวนั้น ที่แท้มันเป็นทรัพย์สมบัติของมวลประชาชนผู้ทำงานทั้งหลาย ที่ถูกปล้นไปโดยรู้สึกตัวบ้างไม่รู้สึกตัวบ้าง บรรดาทรัพย์สมบัติทั้งหลายซึ่งรวมทั้งปัจจัยในการผลิตและกองทุน ที่บรรดามวลพวกนายทุนทั้งหลายในสากล ปล้นเอาไปจากประชาชนคนทำงานไปเป็นสมบัติส่วนตัวนั้น มีจำนวนมากพอที่จะสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่มวลมนุษย์ได้ทุกตัวคน

นายทุนเป็นภัยต่อสันติภาพจริงหรือ มันไม่น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่ประวัติศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ สงครามที่เกิดขึ้นทุกครั้งเป็นเพราะแรงผลักดันของชนชั้นนายทุน ดังเช่นสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ สงครามล่าเมืองขึ้นในครั้งอดีต หรือดังเช่น สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศอาณานิคมต่างๆ ในขณะนี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้เล่า นั่นก็เพราะว่าพวกนายทุนไปมีผลประโยชน์ในประเทศอาณานิคมเหล่านั้น ถ้าหากอาณานิคมเหล่านั้นหลุดมือไป ผลประโยชน์ในประเทศอันเกิดจากการกดขี่ขูดรีดที่พวกเขาเคยได้รับอยู่ก็จะหลุดลอยไปด้วย ดังนั้น พวกนายทุนจึงสนับสนุนและผลักดันให้รัฐบาลของเขา ทำสงครามปราบการปลดแอกของประชาชนแห่งประเทศอาณานิคม สงครามเกิดขึ้นแต่ละครั้งได้นำความทุกขเวทนามาสู่ประชาชนส่วนใหญอย่างเอนกอนันต์ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอดอยากยากแค้น พ่อต้องพลัดลูก ลูกต้องพลัดแม่ สับสนอลเวงกันไปหมด

แต่ท่ามกลางความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสและท่ามกลางกองกระดูก เลือดเนื้อ และน้ำเหลืองในสมรภูมิ บรรดาพวกนายทุนขุนคลังทั้งหลาย ต่างพากันสุขเกษมเปรมปรีจากความร่ำรวย จากการถือโอกาสยามข้าวยากหมากแพงกักตุนและขึ้นราคาสินค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการผลิตอาวุธขายให้แก่รัฐบาลหรือประเทศที่ทำสงคราม ดังเช่น บริษัทเยนเนอรัลอีเล็คทริค บริษัทแห่งกลุ่มมอร์แกนแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

และด้วยเหตุดังนี้แหละ ที่ทำให้บรรดาพวกนายทุนกระหายสงคราม เพราะสงครามถึงแม้ว่าจะนำความวิบัติฉิบหายมาสู่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ได้นำความร่ำรวยมาสู่พวกเขานายทุนคนส่วนน้อยของสังคม ดังกล่าวแล้ว

สรุปแล้ว ชีวทรรศน์ คือความเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่และชีวทรรศน์จะเป็นไปในรูปใดย่อมขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อม คนที่อยู่ในคฤหาสน์กับคนที่อยู่กระต๊อบ ชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด จะมีชีวทรรศน์ขัดแย้งกันตราบเท่าที่ผลประโยชน์ของพวกเขาขัดแย้งกัน และผลประโยชน์ของพวกเขาจะขัดแย้งกันจนกว่าชนชั้นจะสลายไปจากสังคม หรือนัยหนึ่งชนชั้นจะสลายหมดสิ้นไปก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคมไม่ขัดแย้งกัน และผลประโยชน์ของพวกเขาจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคมไม่ขัดแย้งกัน และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคมจะไม่ขัดแย้งกันก็มีแต่เศรษฐกิจในระบบสังคมนิยมเท่านั้น จึงสรุปได้ว่ามีแต่เศรษฐกิจในระบบสังคมนิยมเท่านั้น ที่จะนำความอยู่ดีกินดีมาสู่ประชาชนและสันติสุขมาสู่สังคม.

No comments: