Monday, February 12, 2007

บทความที่ ๔๐. Ultra-royaliste กับการฟื้นฟูและล่มสลายของกษัตริย์ฝรั่งเศส

Ultra-royaliste กับการฟื้นฟูและล่มสลายของกษัตริย์ฝรั่งเศส

กาฝากบางพันธุ์ทำลายต้นไม้ที่มันเกาะอยู่นั้นเองฉันใด ศักดินาบางกลุ่มในฝรั่งเศสก็ได้ทำลายระบบกษัตริย์ที่พวกตนแอบแฝงอาศัยเป็นเกาะคุ้มภัยลงโดยไม่คาดฝันฉันนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ได้เขียนเรื่องความล่มสลายของระบบกษัตริย์ในประเทศฝรั่งเศสไว้เมื่อครั้งที่ท่านได้ไปพำนักอยู่ที่ชานกรุงปารีส (ท่านเดินทางจากประเทศจีนไปพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศสในปี ๒๕๑๓ จนถึงวันที่ท่านอสัญกรรมในปี ๒๕๒๖) ด้วยความที่ท่านเป็นปราชญ์ผู้ค้นคว้าหาหลักฐานข้อเท็จจริงแล้วจึงกล่าว ท่านจึงมีงานเขียนที่ลึกซึ้งลงไปถึงรากฐานในเรื่องนั้นๆ

ในเรื่องการล่มสลายของระบบกษัตริย์ในฝรั่งเศสนี้ ผมเคยได้อ่านหนังสืองานเขียนของท่านปรีดี แต่ยังไม่ได้พิมพ์เก็บไว้ และบังเอิญมาพบบทความเรื่อง "Ultra-royaliste กับการฟื้นฟูและล่มสลายของกษัตริย์ฝรั่งเศส" ที่คุณปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนและปรากฏอยู่ในเวบไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งบทความนี้ คุณปิยบุตร ได้อ้างถึงคำที่ท่านปรีดีใช้แทนศัพท์ Ultra-royaliste ว่าผู้เกินกว่าราชา ผมก็ระลึกได้ว่าบัดนี้ได้มีผู้อ่านหนังสือของท่านปรีดีและเขาได้ค้นคว้าเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นนำมาอธิบายเพิ่มเติมให้ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังปฏิวัติฝรั่งเศส ได้เข้าใจขึ้นบ้างว่าหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และเชื้อพระวงศ์หลายคนถูกบั่นพระศอในช่วงปี ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๗๙๖ แต่ระบบกษัตริย์ก็ยังไม่สิ้นไป แต่มาจบสิ้นลงในอีกเกือบหนึ่งศตวรรษให้หลัง รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มีอยู่ในบทความนี้แล้ว

Ultra-royaliste กับการฟื้นฟูและล่มสลายของกษัตริย์ฝรั่งเศส
ปิยบุตร แสงกนกกุล

Ultra-royaliste หรือที่ท่านปรีดี พนมยงค์ แปลว่า “ผู้เกินกว่าราชา” คือ กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดนิยมเจ้าอย่างสุดโต่งในฝรั่งเศสมุ่งหมายจะรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมาใหม่ ต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจมากทั้งในทางความเป็นจริงและในทางสัญลักษณ์ มุ่งให้อภิสิทธิ์แก่พวกขุนนางรายล้อมกษัตริย์ มองประชาชนเป็นเพียง “ข้าแผ่นดิน” (Sujet) มากกว่าเป็น “พลเมือง” (Citoyen) หลายกรณี พวก Ultra-royaliste เรียกร้องอำนาจและอภิสิทธิ์ให้กษัตริย์มากกว่าที่กษัตริย์ต้องการเสียอีก

ภายหลังการล่มสลายของระบอบโบนาปาร์ต นโปเลียนต้องลี้ภัยไปอยู่เกาะเซนต์ เฮเลน่า ฝรั่งเศสเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูกษัตริย์ หรือที่เรียกว่ายุค “Restauration” หลุยส์ที่ ๑๘ ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๘๑๕ เป็นกษัตริย์ภายใต้การปกครองแบบปรมิตาญาธิปไตย (La Monarchie limitée) ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (La Monarchie absolue) และประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (La Monarchie constitutionnelle) โดยมี Charte ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๑๘๑๔ ทำหน้าที่เสมือนธรรมนูญการปกครองและกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจ เอกลักษณ์ของการปกครองในยุคนี้ คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ กษัตริย์มีอำนาจการบริหารประเทศอย่างแท้จริงโดยมีรัฐมนตรีที่แต่งตั้งเองเป็นมือไม้ มี ๒ สภา คือ สภาขุนนางมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ ดำรงตำแหน่งตลอดชีพและสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด ส่วนสภาล่าง มาจากการเลือกตั้งที่กำหนดให้เฉพาะผู้เสียภาษีมากๆเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง ประเมินกันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนเพียง ๑ ใน ๒๐๐ ของประชาชนทั้งประเทศ

กลุ่ม Ultra-royaliste ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุค Restauration ผ่านทางสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มการเมืองนิยมเจ้าทั้งสิ้น (ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแต่พวกเจ้า พวกขุนนางและคนร่ำรวย) เพียงแต่แบ่งเป็นสายสุดขั้วอย่าง Ultra-royaliste กับสายปฏิรูปอย่าง Royaliste libérale กลุ่ม Ultra-royaliste ออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองและปราบปรามขั้วตรงข้ามทางการเมืองของตน โดยเฉพาะการออกมาตรการความน่าสะพรึงกลัวสีขาว หรือ “Terreur blanche” (สีขาวเป็นสีของกษัตริย์ฝรั่งเศส) เพื่อทำลายกลุ่มนิยมสาธารณรัฐ กลุ่มนิยมระบอบโบนาปาร์ต และกลุ่มนิยมนิกายโปรเตสแตนท์

มาตรการ Terreur blanche นำมาซึ่งการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การปิดสื่อ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและเรียกร้องให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นภายใต้การ “อำนวยการ” ของกลุ่ม Ultra-royaliste ๑ ปีผ่านไป หลุยส์ที่ ๑๘ จำเป็นต้องยุบสภาเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง ผลจากความล้มเหลวของมาตรการ Terreur blanche ทำให้กลุ่ม Ultra-royaliste เสียที่นั่งในสภาให้กับกลุ่ม Royaliste libérale

เมื่อกลุ่ม Royaliste libérale เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็รีบยกเลิกมาตรการ Terreur blanche ทันที และเร่งรัดออกกฎหมายปฏิรูปหลายฉบับ ต่อมา ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๘๒๐ Duc de Berry หลานของหลุยส์ที่ ๑๘ ถูกลอบสังหารหน้าโรงละครโอเปร่า พวกนิยมเจ้าเชื่อว่าการลอบสังหารนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากนโยบายของกลุ่ม Royaliste libérale ที่เอียงไปทางเสรีนิยมมากเกินไปจนทำให้ผู้นิยมสาธารณรัฐมีโอกาสตีโต้กลับ

ผลพวงของการตายของ Duc de Berry ทำให้กลุ่ม Ultra-royaliste กลับมาเป็นเสียงข้างมากในสภาอีกครั้ง และจัดการยกเลิกนโยบายเสรีนิยมทั้งหมด หันกลับไปออกกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์และกฎหมายจำกัดเสรีภาพของประชาชน กลุ่ม Ultra-royaliste ยังต้องการขจัดเสียงของกลุ่ม Royaliste libérale จึงออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียภาษีมากมีสิทธิเลือกตั้ง ๒ รอบ

รอบแรกเลือกสมาชิกสภา ๒๕๘ คน จากนั้นผู้เสียภาษีมากที่สุดจำนวน ๑ ใน ๔ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกอีก ๑๗๒ คนในรอบที่สองที่ทำเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้สนับสนุนกลุ่ม Ultra-royaliste นั่นเอง

๑๖ กันยายน ๑๘๒๔ หลุยส์ที่ ๑๘ เสียชีวิต กลุ่ม Ultra-royaliste ได้ผลักดันน้องชายของหลุยส์ที่ ๑๘ ขึ้นครองราชย์แทนในนามชาร์ลส์ที่ ๑๐ กลุ่ม Ultra-royaliste และชาร์ลส์ที่ ๑๐ ร่วมมือกันสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเก่าด้วยการรื้อฟื้นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ก่อนปฏิวัติ ๑๗๘๙ กลับมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพิธีราชาภิเษก การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ซึ่งโดนคณะปฏิวัติประหารด้วยเครื่องกีโยติน การออกกฎหมายชดเชยค่าเสียหายให้แก่เจ้าและขุนนางที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ๑๗๘๙ ซึ่งคำนวณกันว่าต้องใช้งบประมาณถึง ๖๓๐ ล้านฟรังค์ ตลอดจนการออกกฎหมายกำหนดโทษแก่ผู้หลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่ขโมยหรือทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีโทษถึงประหารชีวิต นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดการเซ็นเซอร์สื่อและการจำกัดเสรีภาพการพิมพ์อีกด้วย

ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้ชาร์ลส์ที่ ๑๐ ต้องยุบสภา ผลการเลือกตั้งทำให้ได้สภาที่มีสมาชิกสายปฏิรูปมากขึ้น ชาร์ลส์ที่ ๑๐ จึงจำใจต้องตั้ง Martignac นักการเมืองนิยมเจ้าสายปฏิรูปเป็นหัวหน้ารัฐบาล การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาร์ลส์ที่ ๑๐ และกลุ่ม Ultra-royaliste ที่เห็นว่ารัฐบาลโน้มเอียงไปทางเสรีนิยม ในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมก็มองว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปแบบกระมิดกระเมี้ยน ในที่สุด Martignac จึงลาออกจากตำแหน่ง ชาร์ลส์ที่ ๑๐ ตัดสินใจตั้ง Prince de Polignac นักการเมืองกลุ่ม Ultra-royaliste ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน แต่ด้วยนโยบายแข็งกร้าว ทำให้อยู่ได้ไม่นานชาร์ลส์ที่ ๑๐ ก็ต้องยุบสภา

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าฝ่ายค้านได้สมาชิกสภาเพิ่มเป็น ๒๗๐ ที่นั่งจากเดิม ๒๒๑ ที่นั่ง ในขณะที่รัฐบาลเก่าได้เสียงลดลงเหลือ ๑๔๕ ที่นั่งจากเดิม ๑๘๑ ที่นั่ง ชาร์ลส์ที่ ๑๐ จึงตัดสินใจออกประกาศ ๔ ฉบับทันที ได้แก่ ประกาศยุบสภา (ห่างจากยุบสภาครั้งก่อนครั้งก่อนเพียง๗๐ วันและหลังเลือกตั้งไม่ถึงเดือน) ประกาศยกเลิกเสรีภาพการพิมพ์ ประกาศจำกัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เฉพาะคนที่เสียภาษีเกิน ๓๐๐ ฟรังค์และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน กล่าวกันว่าประกาศทั้ง ๔ ฉบับเสมือนเป็นการรัฐประหารโดยชาร์ลส์ที่ ๑๐ และกลุ่ม Ultra-royaliste ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก ในที่สุดนักหนังสือพิมพ์ กรรมกร ชนชั้นกฎุมพี จึงรวมตัวกันล้มล้างการปกครองของชาร์ลส์ที่ ๑๐ โดยใช้เวลาเพียง ๓ วันตั้งแต่ ๒๗ – ๒๙ กรกฎาคม ๑๘๓๐

เมื่อชาร์ลส์ที่ ๑๐ ถูกเนรเทศ กลุ่มการเมืองนิยมเจ้าสายปฏิรูปยืนยันให้มีกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องการกษัตริย์ประนีประนอม ไม่เอนเอียงไปกับกลุ่ม Ultra-royaliste เพื่อปูทางปฏิรูปประชาธิปไตย จึงตัดสินใจเอาเจ้าสายราชวงศ์ออร์เลอองอย่างหลุยส์ ฟิลิปป์ขึ้นเป็นกษัตริย์พร้อมกับออก Charte ลงวันที่ ๑๘๓๐ ใช้เป็นธรรมนูญการปกครองแทน โดยลดอำนาจของกษัตริย์ไม่ให้มีอำนาจในการเสนอกฎหมายและให้อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ เราเรียกยุคนี้ว่า “ Monarchie de Juillet” เพราะเหตุการณ์ที่ประชาชนร่วมกันขับไล่ชาร์ลส์ที่ ๑๐ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม (Juillet) นั่นเอง

รัฐบาลเริ่มนโยบายก้าวหน้าขึ้น ตั้งแต่การยกเลิกระบบสืบทอดตำแหน่งสภาขุนนางทางสายเลือด การขยายสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งออกไป (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้ชายอายุ ๒๕ ปีขึ้นไปและเสียภาษีเกิน ๒๐๐ ฟรังค์ จากเดิมที่ให้เฉพาะผู้ชายอายุ ๓๐ ปีขึ้นไปและเสียภาษีเกิน ๓๐๐ ฟรังค์ ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งก็เปลี่ยนเป็นผู้ชายอายุ ๓๐ ปีขึ้นไปและเสียภาษีเกิน ๕๐๐ ฟรังค์ จากเดิมต้องเป็นผู้ชายอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปและเสียภาษีเกิน ๑๐๐๐ ฟรังค์) การยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพในการพิมพ์ ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกไม่เป็นศาสนาประจำชาติอีกต่อไป ตลอดจนการนำธงไตรรงค์ “น้ำเงิน ขาว แดง” จากเดิมที่มีแต่สีขาว มาใช้เป็นธงประจำชาติแม้หลุยส์ ฟิลิปป์จะได้การยอมรับจากประชาชนมากถึงขนาดที่ชาวฝรั่งเศสขนานนามว่าเป็น “กษัตริย์ของพลเมือง” แต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาล Guizot ก็ยังโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมอยู่มาก ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี ๑๘๔๖ ถึง ๑๘๔๘ และอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลบอบอวล ยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มนิยมสาธารณรัฐเริ่มรวมตัวจัดตั้งองค์กรปฏิวัติกษัตริย์ด้วยการจัดงานเลี้ยงตามหัวเมืองใหญ่ๆเพื่อรณรงค์ทางการเมือง เช่น การเรียกร้องให้ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปให้ทั่วถึงไม่ใช่จำกัดเฉพาะผู้เสียภาษีมาก การชุมนุมทางการเมืองเริ่มขยายตัวกว้างขวางขึ้น รัฐบาล Guizot ไม่สนองตอบต่อข้อเรียกร้อง ตรงกันข้ามกลับปราบปรามการชุมนุม ยิ่งทำให้คะแนนนิยมตกต่ำลงกว่าหลุยส์ ฟิลิปป์จะตัดสินใจเปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาลและสัญญาว่าจะดำเนินการปฏิรูปให้เข้มขึ้นก็สายเกินไปเสียแล้ว ในที่สุด กลุ่มนิยมสาธารณรัฐได้โอกาสเข้ายึดอำนาจจากหลุยส์ ฟิลิปป์ และประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๑๘๔๘

ฝรั่งเศสเข้าสู่สาธารณรัฐที่ ๒ ได้ไม่นาน หลุยส์ นโปเลียน หลานของนโปเลียน โบนาปาร์ตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดการรวบอำนาจไว้กับตนเอง เปลี่ยนกลับไปปกครองแบบจักรวรรดิเหมือนโปเลียน พร้อมกับตั้งตนเป็นจักรพรรดิตลอดชีพในนาม นโปเลียนที่ ๓ จักรวรรดินี้ดำรงอยู่ได้ ๑๘ ปี จนกระทั่งเกิดสงครามกับปรัสเซีย นโปเลียนที่ ๓ และจักรววรดิที่ ๒ ก็ล่มสลายไป

หลังนโปเลียนที่ ๓ พ่ายแพ้สงครามกับปรัสเซีย ฝรั่งเศสเปลี่ยนมาปกครองแบบสาธารณรัฐ ฝ่ายนิยมเจ้าเรียกร้องให้เพิ่มคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายคำว่า “สาธารณรัฐ” ในขณะที่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐก็เกรงว่าหากให้พวก Ultra-royaliste ปกครองประเทศก็หนีไม่พ้นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและเข้าข้างอภิสิทธิ์ชนดังที่เคยเป็นมา

การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มนิยมเจ้ากับกลุ่มนิยมสาธารณรัฐดำเนินไปอย่างเข้มข้น อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเลือกปกครองในระบอบใดระหว่างสาธารณรัฐหรือประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งเกิดกรณี “ธงขาว” ซึ่งเริ่มจาก Comte de Chambord ออกมาเรียกร้องให้ฝรั่งเศสนำธงสีขาวที่มีดอกไม้สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์บูร์บ็อง (Fleur de lys) กลับมาใช้เป็นธงชาติแทนที่ธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ปลุกให้กลุ่ม Ultra-royaliste กลับมาร่วมมือกันรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง

ความจริงแล้ว แนวโน้มที่ฝรั่งเศสจะปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ยังพอมีอยู่บ้าง ประชาชนบางส่วนยังคงถวิลหาให้กษัตริย์เป็นประมุขเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและแสดงถึงความเป็น มาทางประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแม็คมานเองก็มีแนวโน้มจะช่วยฟื้นฟูให้กษัตริย์กลับมาเป็นประมุขของรัฐอีกครั้ง แต่ด้วยความแข็งกร้าวของ Ultra-royaliste โดยเฉพาะกรณี “ธงขาว” ซึ่งแสดงให้ เห็นว่าแม้เพียงเรื่องเท่านี้ พวก Ultra-royaliste ยังไม่ยอมประนีประนอม หากปล่อยให้ Ultra-royaliste ครองอำนาจเห็นทีคงหนีไม่พ้นการปกครองแบบระบอบเก่าเป็นแน่ ดังนั้น Henri Wallon นักการเมืองนิยมสาธารณรัฐจึงชิงตัดหน้าด้วยการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดว่า “ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมาจากการเลือกโดยเสียงข้างมากเด็ดขาดของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีวาระ ๗ ปี และสามารถถูกเลือกได้อีกครั้ง”

ผลการลงมติเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๑๘๗๕ ปรากฏว่า ฝ่ายที่เห็นควรให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐเฉือนชนะไปอย่างหวุดหวิดด้วยคะแนนเสียง๓๕๓ ต่อ ๓๕๒ จากนั้นความนิยมในสถาบันกษัตริย์ก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ จนกลุ่มนิยมกษัตริย์ไม่มีโอกาสกลับมามีบทบาททางการ เมืองอีกต่อไป

เป็นอันว่าฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด และกลุ่ม Ultra-royaliste ก็ปลาสนาการไปจากเวทีการเมืองพร้อมๆกับสถาบันกษัตริย์

................

นับแต่ปฏิวัติ ๑๗๘๙ ฝรั่งเศสเหมือนห้องทดลองระบอบการปกครอง กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองที่ตนปรารถนา Ultra-royaliste ก็เป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการอุ้มชูสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาสู่อำนาจหลายครั้ง แต่ด้วยนโยบายไม่ประนีประนอม ไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้มีรสนิยมแตกต่างกัน ไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ทำให้ระบบกษัตริย์ต้องล่มไป กลุ่ม Ultra-royaliste ต่อสู้จนระบบกษัตริย์กลับมาได้ แต่แล้วด้วยพฤติกรรมแบบเดิมๆ มุ่ง “อำนวยการ” โดยอาศัย “ กษัตริย์” บังหน้า ทำให้ระบบกษัตริย์ล่มไปอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งในท้ายที่สุด ความพยายามครั้งสุดท้ายในการฟื้นฟูกษัตริย์แบบมีอำนาจมาก ก็ทำให้กษัตริย์ไม่ได้ปรากฏในฝรั่งเศสอีกเลย

ไม่ว่า Ultra-royaliste จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสบอกเราว่าสถาบันกษัตริย์กลับมามีอำนาจก็ด้วย Ultra-royaliste และสถาบันกษัตริย์ต้องล่มสลายไปตลอดกาลก็ด้วย Ultra-royaliste อีกเช่นกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วใน “ฝรั่งเศส”

No comments: