Friday, February 9, 2007

บทความที่๑๒. คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

“ผมขายบ้านของผมในกรุงเทพฯ ไปแล้วก็ซื้อบ้านหลังหนึ่งในกรุงปารีสนี้ ปัจจุบันผมมีรายได้อยู่สองทางคือ เงินบำนาญของผมที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เดือนละ ๓,๖๕๓ บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในกรุงปารีส ด้วยเหตุนี้ผมจึงจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่งด้วยการเขียนหนังสือขายแก่ชาวฝรั่งเศสที่นี่และชาวอเมริกันที่เขาสนใจ ผมเขียนหนังสือเสร็จไปแล้วสองสามเล่ม ในจำนวนนี้มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมเขียนขึ้นเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม..ขณะนี้ผมกำลังเร่งการเขียนอยู่ทุกวัน ผมจะลงมือเขียนตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เมื่อหยุดรับประทานอาหารกลางวันแล้วผมก็จะลงมือเขียนต่อไปจนถึงตอนเย็น”
ปรีดี พนมยงค์
เดอะเนชั่น ๒๕๑๔


นายปรีดีหลบอยู่แถวฝั่งธนฯ นานหกเดือน จึงสบโอกาสปลอมตัวเป็นชาวประมงลงเรือเล็กหนีไปถึงสิงคโปร์ แล้วหาเรือเดินทางต่อไปยังฮ่องกงเพื่อขอลี้ภัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่นั่นนายปรีดีได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งประสบชัยชนะในการโค่นล้มรัฐบาลเจียงไคเช็ค รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมาตราหนึ่งที่กำหนดว่า
“บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่มเหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรมจนไม่อาจจะพำนักอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ”

เมื่อครั้งประธานเหมาเจ๋อตง ได้พบกับนายปรีดี ประโยคแรกที่ประธานเหมาเอ่ยขึ้น คือ
“รู้สึกยินดีที่ได้พบกับท่านปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมเองแต่เดิมมีอาชีพเพียงเป็นครูประชาบาลชั้นประถมเท่านั้น”

นายปรีดีมาอยู่กรุงปักกิ่งได้ไม่นานก็ได้ข่าวว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขและปาล บุตรชายคนโต ถูกรัฐบาลสั่งจับข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ดังนั้นในปี ๒๔๙๖ เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขต่อสู้จนพ้นข้อหาแล้วก็ตัดสินจะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ท่านผู้หญิงพาลูกเล็ก ๆ เดินทางนานเจ็ดวันเจ็ดคืน โดยรถไฟสายทรานไซบีเรีย ผ่านฝรั่งเศสและโซเวียตไปพบนายปรีดีที่กรุงปักกิ่ง ต่อมานายปรีดีได้ขอย้ายไปอยู่ที่เมืองกวางโจวทางใต้ของจีน เนื่องจากทนอากาศหนาวจัดในเมืองหลวงไม่ไหว ที่เมืองกวางโจวนายปรีดีรับฟังข่าวสารจากเมืองไทยผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ได้สะดวกขึ้นตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศจีน นายปรีดีถูกคนของรัฐบาลไทยกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนแดงเพื่อยึดประเทศไทย

นายปรีดีเขียนหนังสือระบายความในใจ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าต้องอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ด้วยเหตุผลเพียงเพราะข้าพเจ้าได้กลายเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีนานัปการ โดยเฉพาะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาหลายครั้งหลายคราว่าเป็นอาชญากรหรือก่อการกบฏอย่างร้ายแรง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลที่มิพึงปรารถนาในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งๆที่ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นั้น รัฐบาลเหล่านี้เคยกล่าวว่า เขาเป็นมิตรกับข้าพเจ้า แต่กลับ ‘หันหลัง’ ให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายดายเพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่”

ปี ๒๕๑๓ นายปรีดีในวัย ๗๐ ปี ตัดสินใจอพยพไปอยู่อองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้สามารถติดต่อกับญาติพี่น้องได้สะดวกว่าเมืองจีน ช่วงเวลานั้นนายปรีดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทสยามรัฐ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมชและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ลงข่าวหมิ่นประมาทว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต จนสุดท้ายจำเลยแพ้คดีต้องประกาศขอขมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ และทุกครั้งที่นายปรีดีฟ้องศาลเรื่องกรณีสรรคต ก็ปรากฏว่าชนะทุกครั้ง

วันหนึ่งในปี ๒๕๑๖ นายปรีดีได้ไปแสดงปาฐกถา ณ สามัคคีสมาคม แก่นักศึกษาไทยในอังกฤษ มีความตอนหนึ่งว่า

“ก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ผมก็ต้องผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมของฝากไว้แก่ท่านและชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะ ช่วยตอบให้ด้วย”

ตลอดระยะเวลาที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ นายปรีดีเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทยและสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด หลายครั้งได้แสดงจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องของสันติภาพ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ คัดค้านสงครามทุกรูปแบบ คัดค้านการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ต่อต้านเผด็จการทั้งซ้ายและขวา โดยผ่านการให้สัมภาษณ์ การพูดคุย และการเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ

ในปี ๒๕๒๔ บุตรชายคนโตของท่านคือ ปาล พนมยงค์ เป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่าอาจจะเสียชีวิต ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งได้บรรยายสภาพชีวิตในเวลานั้นของอาจารย์ปรีดีไว้ว่า

“ตอนนั้นท่านผู้หญิงก็บินไปอยู่เมืองไทยเพื่อเฝ้าลูก ผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์เลยได้ไปอาศัยอยู่กับท่านที่ปารีส วันหนึ่งขณะที่เราเดินไปสวนในช่วงบ่าย ๆ ท่านเดินอยู่กับผม แล้วมีเด็กเล็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ วิ่งมาใกล้ ๆ ท่าน ท่านก็ก้มลงคอยเอามือลูบศีรษะเด็กคนนั้น พอเด็กวิ่งออกไป ท่านก็แหงนหน้าดูฟ้า และหันมาบอกผมว่า ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมาเลย ได้ฟังแล้วผมก็น้ำตาไหล นึกถึงว่าคนที่ต้องอยู่ห่างไกลกับลูกที่กำลังไม่สบายหนัก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือไม่ สิ่งที่ท่านนึกถึงก็คือว่ายังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะได้ยินจากคนอื่นในชีวิตนี้ ผมประทับใจมากและรู้สึกว่านี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศชาติของเรา”

เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษของวันจันทร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ขณะเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงานภายในบ้าน นายปรีดีก็ฟุบลงสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวาย และสามปีต่อมาอัฐิธาตุของท่านก็ได้กลับแผ่นดินไทยและถูกนำไปลอยในท้องทะเลไทย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคคล มิตรสนิทคนหนึ่ง เขียนคำไว้อาลัยต่อการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าชีวิตของคนทุกคนย่อมจะต้องเป็นไปตามแนวแห่งกรรมประจำตัว จะไม่มีผู้ใดที่จะเลี่ยงพ้นจากกรรมได้ ดังนี้ดวงของท่านที่ได้พุ่งขึ้นสูงส่งอย่างน่าประหลาด คือ ท่านเป็นศาสตราจารย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐมนตรีมาแทบทุกยุคทุกสมัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และยังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นผู้สามารถธำรงเกียรติศักดิ์ของชาติไทยไว้ได้ ครั้นแล้วชะตาชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดีก็พลันกลับทำให้ท่านต้องตกต่ำลงมาจนถึงขั้นต่ำสุด ตลอดจนชะตาของท่านอาจารย์ปรีดีก็โหดร้ายต่อตัวท่าน ต่อลูกเมียท่านนานาประการ ถึงขนาดที่เกือบจะต้องตกเป็นคนไทยที่ไม่มีสิทธิ์ในแผ่นดินไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองที่รักของท่าน

ข้าพเจ้าเคยกล่าวเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ชะตาหรือดวงของคนคนหนึ่งนั้นอาจจะไปสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคนอีกหลายสิบล้านแม้แต่ดวงของประเทศและถ้าพิจารณากันให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ดวงของท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเช่นนั้น เพราะว่าชะตาหรือดวงของท่านนั้นมิใช่จะทำให้แต่ตัวท่านต้องตกระกำลำบาก และเป็นผู้ที่สูญเสียแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังทำให้คนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่ต้องพลอยถูกกระทบกระเทือนและสูญเสียไปด้วย...และต้องเสียไปอย่างที่จะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีกแล้ว”
จากหนังสือสารคดีฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๓

เอกสารประกอบการเขียน
ดุษฎี พนมยงค์. เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ สำนักพิมพ์บ้านเพลง, ๒๕๔๑
ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อขอนายปรีดี พนมยงค์. โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, ๒๕๒๖
ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. สำนักพิมพ์เทียนวรรณ,๒๕๒๙.
สันติสุข โสภณสิริ. หนึ่งศตวรรษปรีดี พนมยงค์. สถาบันปรีดี พนมยงค์, ๒๕๔๐.
ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร.ปรีดี พนมยงค์. บพิธการพิมพ์, ๒๔๙๓.
อนุสรณ์วันครบปีที่ ๒ แห่งการถึงอสัญกรรมของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ โรงพิมพ์ บรรณาคม, ๒๕๒๘
ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์โดยอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาโครงการ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, ๒๕๒๖

No comments: