คุณทักษิณเป็นนายกคนแรกที่ถูกรัฐบาลปฏิวัติยึดหนังสือเดินทางทูต
จากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้ถอนพาสปอร์ตเล่มสีแดงหรือพาสปอร์ตทูต ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ได้ลงข้อความเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ มีใจความว่า ตั้งแต่ไทยมีนายกมา ๒๔ คนมีแต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรที่ถูกยึดพาสปอร์ต
ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คุณดุษฎี พนมยงค์บุตรสาวของท่านปรีดี พนมยงค์ จึงได้เขียนจดหมายชี้แจงไปยัง สำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์โดยไม่ช้า แต่กว่าที่เดลินิวส์จะนำลงเป็นก็ล่วงเข้าวันฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ (ก็ยังนับว่าในยุคสมัยที่สื่อสารมวลชนมืดบอดทางจริยธรรม กลับดำเป็นขาว สนับสนุนการทำรัฐประหารปิดหูปิดตาประชาชน ยังพอมีแสงสว่างเล็กๆจากบทความหนึ่งใน น.ส.พ.เดลินิวส์)
ในจดหมายของคุณดุษฎี พนมยงค์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงของหนังสือเดินทางที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ใช้เมื่อเดินทางออกนอกประเทศ เป็นข้อๆ ผมจึงขอเรียบเรียงมาไว้ให้ประชาชนได้อ่านดังนี้
๑. ท่านปรีดี ถูกบังคับให้ต้องเดินทางไปต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เพราะถูกกลุ่มเจ้าศักดินาที่ยังมีอิธิพลอยู่ในสภาในเวลานั้นกล่าวหาว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจที่รัฐสภาเป็นผู้ขอให้ท่านปรีดีเร่งร่างขึ้นนั้น เป็นเค้าโครงของลัทธิคอมมิวนิสต์(นี่เป็นการโต้อภิวัฒน์ครั้งแรกของกลุ่มศักดินาและทหารที่เสียอำนาจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ท่านปรีดีเดินทางออกนอกประเทศโดยถือหนังสือเดินทางทูต
๒. ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหล พลพยุหเสนา ได้ส่งท่านปรีดีเป็นตัวแทนของประเทศไปกรุงลอนดอน เพื่อเจรจาขอให้รัฐบาลอังกฤษลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไทยได้กู้ยืมจากอังกฤษซึ่งดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตอนกู้อยู่ที่ร้อยละ ๖ ต่อปี ท่านปรีดีเจรจาจนรัฐบาลอังกฤษลดดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ ๔ ต่อปี การเดินทางครั้งนั้นท่านถือหนังสือเดินทางทูต
๓. ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านปรีดีได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสจากรัชกาลที่ ๘ ต่อมาในช่วงปลายปีนั้นเอง ท่านได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ การเดินทางครั้งนั้นท่านถือหนังสือเดินทางทูต
๔. ในเดือนพฤษาคม ๒๔๙๐ ท่านปรีดี เดินทางไปเจรจาปัญหาเรื่องดินแดน ณ สหประชาชาติ การเดินทางครั้งนั้นท่านถือหนังสือเดินทางทูต
๕. ในการปฎิวัติครั้งอัปยศของชาติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กลุ่มทหารปฏิวัติที่มีแกนนำอย่าง ผิน ชุณหะวัน, สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ได้ส่งรถถังเข้ามาบุกยิงบ้านพักของท่านปรีดี โดยมุ่งหมายเอาชีวิตไม่ใช่เพียงข่มขู่ แต่ด้วยชะตาของวีรบุรุษสามัญชนท่านนี้ยังไม่ถึงฆาตท่านปรีดี ได้รับข่าวล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง ท่านจึงหลบลงเรือแจวรับจ้างกลืนไปในความมืด และต้องหลบซ่อนตัวจากการถูกติดตามของทหาร จนผ่านไปหลายวันท่านจึงออกนอกประเทศโดยอาศัยเรือบรรทุกน้ำมันไปลงที่สิงคโปร์ ในครั้งนั้นท่านปรีดีไม่ได้ใช้หนังสือเดินทาง
ท่านปรีดีลี้ภัยออกต่างประเทศโดยไม่ได้ถือหนังสือเดินทาง แต่ต่อมาไม่นานท่านก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากสหายในยามยากคือ นายดิเรก ชัยนาม เอกอัครราชทูตไทยประจำสำนักเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน ออกหนังสือเดินทางประเภท บุคคลธรรมดา เพื่อเดินทางไปประเทศจีน
๖. ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๓ ท่านปรีดีเดินทางจากประเทศจีน เพื่อมาพำนักที่ฝรั่งเศส รัฐบาลจีนได้ออกใบรับรองสัญชาติให้
๗. เดือนตุลาคม ๒๕๑๓ กองกำลังพิเศษ Special Force ได้เชิญท่านปรีดีกับท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์ไปอังกฤษ และมีมติเอกฉันท์รับท่านปรีดี เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ แต่เนื่องจากท่านมีแต่ใบรับรองสัญชาติในการเดินทางที่ รัฐบาลจีนออกให้ชั่วคราว ท่านจึงขอหนังสือเดินทางจากไทย เป็นหนังสือเดินทางประเภทธรรมดาเพื่อใช้เดินทาง เมื่อท่านได้ยื่นเรื่องต่อสถาเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ขอให้ออกพาสปอร์ตและหนังสือเดินแสดงการมีชีวิต เพื่อรับบำนาญตามกฎหมาย แต่รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจรมีมติไม่ยอมและยืนยันมายังกระทรวงเจ้าของเรื่องโดยหนังสือเลขที่ สว. ๐๔๐๒/๗๙๖๐ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๓
แต่เมืองไทยไม่เคยสิ้นคนดีคนที่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง, คำคัดค้านของ ศ.ดร.มนู อมาตยกุล อดีตอธิบดีกรมสหประชาชาติ และทูตอีกหลายประเทศที่ยืนยันว่าเป็นการรอนสิทธิ ผิด รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ (ในขณะนั้น) และเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่ ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม ต้องยอมจำนนและกลับมติ อนุมัติให้ออกหนังสือทั้งสองฉบับให้
ในที่สุดท่านปรีดีก็ได้หนังสือเดินทาง “ประเภทบุคคลธรรมดา” และถือจนสิ้นอายุขัย สรุปว่าท่านปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยถูกยึดหนังสือเดินทางไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม.
No comments:
Post a Comment