Tuesday, February 27, 2007

บทความที่ ๗๑. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๗

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
หยัดยืนขึ้นสู้

ในระยะนั้น ทั้งนักการเมืองและนักสังคมสงเคราะห์ได้มุ่งความสนใจไปยังพวกอธิศูทรหรือพวกนอกวรรณะมากขึ้นโดยลำดับ ต่างก็มีความคิดเห็นเป็นอันเดียวกันว่า ความเชื่อถือในเรื่องอธิศูทรควรจะหมดไปจากสังคมอินเดีย และพยายามหาทางให้บุคคลเหล่านี้ได้มีสิทธิ และมีโอกาสได้รับการศึกษาทัดเทียมกับคนในวรรณะอื่นๆ นักสังคมสงเคราะห์และนักการเมืองได้มีการประชุมสัมมนากันหลายครั้งที่บอมเบย์และที่เมืองใหญ่ๆแห่งอื่นๆเกือบทั่วอินเดีย ในการประชุมสัมมนาที่บอมเบย์ได้เลือกตัวแทนของอธิศูทรให้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ตอนนั้นเอ็มเบ็ดก้าร์ยังเก็บตัวเงียบอยู่ เพราะความขมขื่นที่ได้รับจากเมืองบาโรด้ายังระอุอยู่ในหัวอกของเขา เขาคิดอยู่ว่า ก่อนที่เขาจะไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมวรรณะของเขา เขาจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้เสียก่อน เขารู้ว่าอธิศูทรคนอื่นๆก็คงมีความเจ็บช้ำเช่นเดียวกับเขา แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยที่คนว่ายน้ำไม่เป็นจะไปคิดช่วยเหลือคนตกน้ำ เขาจะต้องสร้างตัวเขาเองให้แข็งแกร่ง สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้เสียก่อน เขาจึงจะออกโรงเพื่อแสดงบทบาทช่วยเหลือเพื่อนร่วมวรรณะ

ครั้งแรกเขาคิดจะดำเนินชีวิตโดยการเป็นนักกฎหมาย ซึ่งอาชีพนี้จะทำให้เขากว้างขวางและเป็นที่เชื่อถือในสังคมได้ แต่วิชากฎหมายที่เขาได้ศึกษาอยู่ที่ เกรส์ อินน์ (Gray’s Inn)ยังไม่จบ (สภาเนติบัณฑิตของอังกฤษผู้ที่จะเป็นทนายความจะต้องผ่านโรงเรียนของสภาเนติบัณฑิต ซึ่งมีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน คือ Inner Temple, Middle Temple, Lincoln’s Inn และ Gray’s Inn) เขาจึงเลิกคิดในการเป็นนักกฎหมายไว้เสียก่อน แต่ความคิดจะศึกษาวิชากฎหมายยังไม่หมดไปจากความพยายามของเขา เขาหันมารับเป็นครูสอนพิเศษ ให้แก่นักเรียนปาซี ๒ คน และพร้อมกันนั้นเขาก็เปิดสำนักงานเล็กๆขึ้น ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ขายหุ้นส่วนและบริษัท ทำให้เขามีรายได้ดีพอสมควร แต่ก็ไม่นานนักเพราะเมื่อพวกซื้อขายหุ้นได้ทราบว่า ผู้ให้คำแนะนำอันลึกซึ้งและคมคายผู้นี้เป็นคนนอกวรรณะ จึงพากันเลิกทำการติดต่อขอคำแนะนำอีก เขาจึงต้องปิดสำนักงานเล็กๆของเขาลง ครั้นแล้วไม่นานเขาก็ได้รับงานเป็นผู้โต้ตอบจดหมายและเป็นคนทำบัญชีของร้านปาซี ซึ่งเป็นงานที่พอมมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

ในตอนนี้จิตใจของเขาได้หมกหมุ่นอยู่กับความคิดที่สุขุมและแยบยลในการที่จะปรับปรุงระบบสังคมอันเลวร้ายของพวกฮินดู เขาได้เริ่มเขียนหนังสือเป็นรูปบทความบ้าง เป็นรูปเล่มเล็กๆบ้าง ครั้งหนึ่ง เขาได้เขียนบทความลงในหนังสือวารสารของสมาคมเศรษฐศาสตร์อินเดีย (Indian Economics Society)ในบทความนั้น เขาให้ความเห็นว่า การบูรณะสังคม ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอันถูกต้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่นักสังคมลืมนึกถึงไป และเขายังได้เขียนหนังสืออื่นๆอีก ซึ่งเขามิใช่ว่าจะมีประโยชน์แก่คนในวรรณะเดียวกับเขาเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่ชาวอินเดียทั้งมวลด้วย

ด้วยดวงจิตอันอับเฉาและคิดมากนี้ นาวาแห่งชีวิตของเอ็มเบ็ดก้าร์จึงดำเนินไปไม่สู้จะราบเรียบรื่นนัก แต่แล้วเขาก็ได้ทราบข่าวว่ามีตำแหน่งอาจารย์ว่างลงใน วิทยาลัยซิดนาห์ม (Sydenham College) ที่เมืองบอมเบย์ เขาจึงได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาแห่งนั้น โดยได้เขียนจดหมายถึงท่าน ลอร์ด ซิดนาห์ม อดีตผู้ว่าราชการรัฐบอมเบย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เขาเคยสนิทสนมเมื่อตอนที่อยู่ในกรุงลอนดอน ขอร้องให้ท่านผู้นี้แนะนำฝากเขาเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยดังกล่าว หลังจากสอบสัมภาษณ์แล้ว รัฐบาลแห่งรัฐบอมเบย์ได้แต่งตั้งเขาเป็นอาจารย์ในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองประจำสถาบันในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๑ เขาคิดอยู่เสมอว่า จากรายได้ในการเป็นอาจารย์นี้ เขาสามารถจะเก็บหอมรอมริบไว้เป็นทุนเพื่อเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ในลอนดอนที่เขาทิ้งไว้กลางคันให้สำเร็จได้

ในระยะแรกๆ นักศึกษาแห่งวิทยาลัยนั้นไม่ได้ทราบว่าอาจารย์คนใหม่ของพวกเขาเป็นคนนอกวรรณะ เพราะพวกเขาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่อธิศูทรจะมาสอนนักศึกษาฮินดูในวรรณะอื่น พวกนักศึกษาไม่รู้เลยว่า อาจารย์หนุ่มที่ยืนบรรยายให้ความรู้อยู่เบื้องหน้าพวกเขาด้วยท่าทางองอาจแต่งตัวเรียบร้อยสง่าผ่าเผย แต่เคร่งเครียดต่อวิชาการนั้นคือใคร มาจากไหน เอ็มเบ็ดก้าร์มีความสามารถเป็นพิเศษหรือจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์สำหรับเขาก็ได้ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ด้วยวิธีการสอนที่ดีและชวนให้คนคิด การสอนของเขาเป็นที่ประทับใจของนักศึกษาทุกคน จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วในกลุ่มนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ นักศึกษาจากวิทยาลัยอื่นได้ขออนุญาตพิเศษเข้าฟังคำบรรยายเวลาเอ็มเบ็ดก้าร์เข้าทำการสอน นับว่าเขาได้ทำชื่อเสียงให้แก่วิทยาลัยแห่งนั้นไม่น้อยทีเดียว แต่ไม่นานนักชีวิตการเป็นอาจารย์ของเขาก็เริ่มอับเฉาลง เพราะเงาแห่งความเป็นอธิศูทรของเขาได้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศอันมีเกียรติของสถาการบันศึกษา โดยอาจารย์บางคนที่เป็นพราหมณ์มีความรังเกียจในตัวเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ยอมให้เขาร่วมดื่มน้ำที่จัดไว้สำหรับคณาจารย์ของวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอาจารย์มิใช่จะเป็นเส้นทางสุดท้ายที่เขาต้องเดิน สังคมอันน่าขบขันได้เล่นตลกกับชีวิตเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เอ็มเบ็ดก้าร์เป็นคนทำงานด้วยอุดมการณ์ เขาได้ครุ่นคิดถึงสภาพและชะตากรรมของพวกอธิศูทรโดยเริ่มคิดถึงพระเจ้า แต่มิใช่อ้อนวอนให้พระเจ้า(ของฮินดู)ทรงโปรดช่วยยกระดับการเป็นอยู่ของเขาและหมู่ชนนอกวรรณะของเขาให้ดีขึ้น หรือขอให้พ้นจากการกดขี่ของคนวรรณะอื่น แต่เขาคิดถึงพระเจ้าด้วยการตั้งปัญหาว่า พระเจ้ามีอยู่จริงหรือ พระเจ้านั้นเป็นที่เคารพบูชาของสัตว์โลกทั้งมวล ถ้าเป็นจริงตามที่ชาวโลกเชื่อแล้วไซร้ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงไม่โปรดคนอย่างเขาและพวกอธิศูทรทั้งหลายบ้าง บรรพบุรุษของเขาได้พากันกราบไหว้อ้อนวอนพระเจ้ามาเนิ่นนานหลายชั่วคนแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทารุณปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับการกดขี่ของพวกวรรณะอื่นอยู่ตลอดมา เอ็มเบ็ดก้าร์เชื่อการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เขาคิดเสมอว่า พระเจ้ามิได้ลิขิตชีวิตให้ แต่เขาต่างหากที่ลิขิตชีวิตของเขาเอง เขามิได้เคร่งในทางจิตนิยม (Idealism) จนเกินไป และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เคร่งในสสารนิยมจนเกินควร (Materialism) เขาพยายามเสมอมาที่จะเชื่อมโยงโลกแห่งความคิดและโลกแห่งการกระทำเข้าหากันด้วยอุดมการณ์อันมั่นคงและการดำเนินงานด้วยความสุขุมรอบคอบ มีการยกระดับอธิศูทรและปรับปรุงสังคมฮินดูเป็นจุดหมายปลายทาง เขาจึงได้เริ่มเข้าพบและทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญทั้งในวงการเมืองและทางสังคม เพื่อหาลู่ทางก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงต่อไป

จุดเปลี่ยนแปลง

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ชื่อเสียงของเจ้าชายองค์หนึ่งแห่งโคลัคปูระ (Prince of Kolakpur) ก็ได้ปรากฏขึ้นในวงการนักปฏิรูปสังคม เจ้าชายองค์นี้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาเช่นเดียวกับมหาราชาแห่งบาโรด้า พระองค์มีพระประสงค์อย่างแรงกล้าในการที่จะถอนรากถอนโคนแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์และการกดขี่กีดกันอันเกิดจากระบบวรรณะ และได้ทรงช่วยให้พวกวรรณะต่ำได้เป็นอิสระพ้นจากการบีบบังคับนานาประการอันปราศจากความยุติธรรม พระองค์ได้ปลุกใจพวกอธิศูทรทุกวิถีทางเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ ทรงให้การศึกษาฟรีแก่พวกอธิศูทร และทรงแต่งตั้งอธิศูทรให้มีโอกาสเข้ารับราชการในสำนักของพระองค์ แม้กระทั่งนายควาญช้างพระองค์ก็ทรงเลือกจากพวกอธิศูทร

ในปี ๒๔๖๒ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าชายแห่งโคลัคปูระพระองค์นั้น เพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินทุนที่จะออกหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่ง ที่จะคอยทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่พวกอธิศูทร เจ้าชายได้ทรงพระกรุณาให้ความช่วยเหลือแก่เอ็มเบ็ดก้าร์อย่างดียิ่ง โดยพระราชทานกระดาษให้เป็นรายปักษ์ เอ็มเบ็ดก้าร์จึงได้ดำเนินการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตออกหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เขาต้องต่อสู้อย่างหนักเพราะถูกกลั่นแกล้งต่างๆนาๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้เขาออกหนังสือพิมพ์ได้ แต่ในที่สุดเขาก็เอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้ หนังสือพิมพ์ของเขาออกมาสู่สายตาชาวโลกได้เป็นฉบับแรกในเดือนมกราคมปี ๒๔๖๓ ภายใต้ชื่อว่า “มุขนายก” ซึ่งแปลว่า “ผู้นำคนใบ้” แต่ตัวเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ได้เป็นบรรณาธิการเองเขาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังโดยเป็นคนเขียนบทความ ในฉบับแรกนั้น เอ็มเบ็ดก้าร์ได้เขียนบทความธรรมดาๆ แต่ใช้ภาษาคมคายชวนให้คิด ในตอนหนึ่งเขากล่าวว่า อินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สังคมฮินดูนั้นช่างสูงส่งประดุจหอคอยอันสูงตระหง่าน มีหลายชั้นหลายตอน แต่ไม่มีบันไดหรือช่องทางที่จะเข้าไปสู่หอคอยอันนั้นได้ คนที่อยู่ในหอคอยไม่มีโอกาสจะลงมาได้ และจะติดต่อกับคนในหอคอยเดียวกันในอีกชั้นหนึ่งก็ทำไม่ได้ ใครเกิดในชั้นใดก็ตายในชั้นนั้น เอ็มเบ็ดก้าร์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับสังคมฮินดูด้วยว่า เป็นสังคมที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน ๓ ชิ้น คือ พวกพราหมณ์,พวกมิใช่พราหมณ์ และพวกอธิศูทร โดยเหน็บแหนมว่า พวกพราหมณ์ที่ทำการสอนศาสนามักจะพูดเสมอว่า พระเจ้ามีอยู่ทุกหนแห่งรวมทั้งในมนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ทำไมผู้สอนนั่นเองได้ดูถูกเหยียดหยามพวกอธิศูทรว่าเป็นตัวบาป ตัวราค จะถือว่าบุคคลเหล่านี้กำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีได้ไหม?

ในบทความเดียวกันนั้นเขาได้ปลุกใจพวกอธิศูทรทั้งหลายให้ตื่นจากความหลงใหลที่เข้าใจว่าตัวเองถูกพระเจ้าสาปมา พวกเขาจะพ้นจากการถูกสาปได้ด้วยการต่อสู้มิใช่ด้วยการวิงวอน ขอความเมตตา ในบทความอื่นๆของหนังสือพิมพ์มุขนายก เอ็มเบ็ดก้าร์เขียนว่า ยังไม่เป็นการสมควรที่อินเดียจะได้รับเอกราช ถ้าพลเมืองของอินเดียยังไม่อยู่ในสภาพที่มีความเสมอภาคกันทางศาสนา ทางสังคม ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ในทุกๆด้านและทุกๆกลุ่มชน อินเดียจะต้องให้โอกาสแก่ทุกๆคนได้มีโอกาสยกและสร้างฐานะของตนเพื่อความก้าวหน้าและอยู่ดีกินดี ถ้าพวกพราหมณ์จะกล่าวว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่อังกฤษไม่ยอมให้เอกราชแก่อินเดีย พวกอธิศูทรก็ได้กล่าวมาไม่น้อยกว่าร้อยครั้งพันครั้งแล้วว่า พวกพราหมณ์ไม่ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา เอ็มเบ็ดก้าร์กล่าวต่อไปว่า ประชาธิปไตยทางสังคมมีความสำคัญมากกว่าประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะถึงแม้อังกฤษจะให้เอกราชแก่อินเดีย แต่ระบบสังคมยังไม่ถูกปฏิรูปให้ดีขึ้นกว่านี้ พวกอธิศูทรก็คงไม่มีสภาพดีขึ้น คือยังคงมีสภาพเป็นทาสอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เอ็มเบ็ดก้าร์ยังไม่พร้อมที่จะออกโรงต่อสู้กับสังคมฮินดูได้อย่างจริงจัง เพราะคลังแสงของเขายังมีอาวุธไม่เต็มที่ จึงเป็นการเสี่ยงอย่างมากถ้าจะประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับพวกพราหมณ์ เขาจึงคงมีอาชีพเป็นอาจารย์ต่อไป...

No comments: