Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๒๒. ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๑

ช่ ว ง ห นึ่ ง แ ห่ ง ชี วิ ต ท่ า น ผู้ ห ญิ ง พู นศุ ข พ น ม ย ง ค์
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
ฝ่ายภาพสารคดี : ภาพ


พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เคยเขียนบทความกล่าวถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เนื่องในโอกาสที่ ท่านผู้หญิง มีอายุครบ ๘๔ ปี เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๙ ว่า

"ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่ง ที่มีชื่อ ผ่านเข้ามาใน ประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นภริยาของ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสแห่ง ความผันผวนปรวนแปร ของเหตุการณ์บ้านเมือง ที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข ถูกกระทบกระแทก อย่างหนักหน่วงรุนแรง ครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิต และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัว ลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ น่าสนใจศึกษาอย่างมาก"

ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ในตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง บิดาของท่าน คือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนแรกของประเทศ อายุไม่ถึง ๑๗ ปี ท่านผู้หญิงก็สมรสกับ ปรีดี พนมยงค์ ดอกเตอร์หนุ่ม นักกฎหมายชื่อดัง ในสมัยนั้น

สี่ปีต่อมา สามีของท่านก็กลายเป็น บุคคลสำคัญ ในประวัติศาสตร์สยาม ในฐานะ หนึ่งในผู้ก่อการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบ ประชาธิปไตย

อายุได้ ๒๒ ปี ท่านผู้หญิง ต้องลี้ภัยการเมือง ไปต่างประเทศ เนื่องจากนายปรีดี ถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ และเมื่อกลับมาจาก ต่างประเทศ ท่านก็ต้องติดตาม นายปรีดี ไปทุกหนทุกแห่ง ในฐานะ ภรรยาของ สามีที่ดำรงแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง อายุเพียง ๒๘ ปี ท่านก็ได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านผู้หญิง"

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยา ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดิน ส่งข่าวออกนอกประเทศให้แก่สัมพันธมิตรในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย

หลังจากนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม กล่าวหาว่า มีส่วนพัวพัน กับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในที่สุดทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ขับรถถังมาจ่อหน้าทำเนียบท่าช้าง และสาดกระสุนเข้าไปในบ้านที่ท่านผู้หญิงและลูก ๆ พำนักอยู่ เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีต้องหนีตายไปอยู่ต่างประเทศ

ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่ออายุได้ ๔๐ ปี ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จนท่านผู้หญิงไม่อาจทนอยู่เมืองไทยได้ ตัดสินใจติดตามไปอยู่กับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศสเป็นเวลา ๓๐ กว่าปี จนกระทั้งสามีอันเป็นที่รักได้จากไปเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

นายปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบ ๔๐ ปีแห่งการสมรสว่า

"ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุททิศตน เสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย..."

วันนี้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวัย ๘๙ ปี ความทรงจำยังแจ่มชัด จะมาเล่าประวัติศาสตร์บทหนึ่งผ่านภาพอดีตของท่านให้ลูกหลานได้ฟัง...

สารคดี : ท่านผู้หญิงกับอาจารย์ปรีดีรู้จักกันได้อย่างไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เป็นญาติห่าง ๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน ๑๑ ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้าน จึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุ เก้าขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ ๑๖ ปี นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๑

ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ standard 7 ตามหลักสูตรนี้เรียนภาษาไทยวันละชั่วโมงเท่านั้น วิชาอื่นสอนเป็นภาษาต่างประเทศหมด เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง

สารคดี : ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีถือเป็นคนเด่นในหมู่ข้าราชการไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : สมัยนั้นดอกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เราแต่งงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เราหมั้นกันก่อนประมาณหกเดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั่นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน

สารคดี : สมัยก่อนถนนสีลมเป็นอย่างไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เปลี่ยว ถนนสีลมเพิ่งมามีรถรางทีหลัง ตอนที่ครอบครัวเรามาอยู่ใหม่ ๆ เปลี่ยวมาก มีป่าช้าฝรั่ง มีคลอง แล่นเรือได้ดี อะไรอย่างนี้ คุณพ่อชอบฝึกพวกลูก ๆ คือมีบ้านเพื่อนอยู่ถนนสาทรเหนือ กลางคืนพาลูก ๆ ไปบ้านเพื่อน ท่านเดินนำหน้า ฉันอยู่สุดท้ายจนเคยแล้ว มันเป็นถนนดินเล็ก ๆ ไม่มีไฟฟ้าเลย ต้องถือไฟฉายไป อย่าว่าแต่ผู้ร้าย แม้แต่งูเงี้ยวเขี้ยวขอก็อาจจะมี แต่สมัยก่อนจากสีลมไปราชดำเนินก็ไม่ไกล ขับรถแป๊บเดียวก็ถึง เพราะรถไม่ติด กลายเป็นรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไกลกว่า


สารคดี : อยากให้ท่านผู้หญิงช่วยเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนนั้นอายุ ๒๐ ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ ๒๓ พอตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ ๒๔ มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูก ๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย

สารคดี : หมายถึงสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระองค์นะครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คนที่บ้านเราไม่รู้เรื่องเลย ไกลปืนเที่ยง อยู่ถึงสีลม จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร เรื่องมันเกิดแถวบางขุนพรหม เจ้าพระยายมราชท่านก็จะให้คุณพ่อออกไปสืบ ที่บ้านมีแต่รถเก๋ง ท่านก็บอกอย่าขี่รถเก๋งไปนะ เดี๋ยวคนเขาจะหมั่นไส้ พอดีมีเจ้าคุณเพื่อนอีกคนหนึ่ง มีรถประทุนมาที่บ้าน ก็เลยชวนนั่งรถประทุนไปด้วยกัน

คุณแม่บอกเจ้าคุณยมราชให้พักอยู่ที่บ้านด้วยกันก่อน เพราะท่านเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คุณแม่เกรงว่าไม่ปลอดภัย สักครู่ภรรยาคนหนึ่งของท่านก็ตามมาหาท่าน เล่าให้ฟังว่าเดินผ่านมาทางโรงพิมพ์นิติสาสน์ที่ศาลาแดง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ส่วนตัวของนายปรีดี พิมพ์หนังสือกฎหมายเผยแพร่ บอกว่าเห็นมีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์ ฉันชักจะกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด ตอนหลังจึงรู้ว่า มีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบกลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร

สารคดี : ตอนนั้นท่านผู้หญิงทราบหรือยังครับว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ยังไม่รู้ว่านายปรีดีเกี่ยวข้อง ยังไม่รู้จนกลางคืนประมาณสักห้าทุ่ม ที่หน้าบ้านป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นประตูเหล็กคล้องกุญแจ มีคนมาหาสองคน บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งกายนายปรีดี ขอผ้าม่วง เสื้อ เพราะว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมเสนาบดี แล้วก็ขออาหาร สมัยก่อนอาหารใส่ตู้เย็นไม้ที่ใส่น้ำแข็ง ไม่ใช่ตู้เย็นสมัยนี้ มีแต่ขนมปังครีมแคร็กเกอร์ ก็ให้ขนมปังไป หมูหยองก็ดูจะไม่มี คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน เพราะไม่รู้จักคนที่มา พอดีญาติที่อยู่ในบ้านรู้จักกัน บอกว่าชื่อนายซิม วีระไวทยะ เป็นทนายความ แต่คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไม่รู้จักคนแปลกหน้า พอรับของเสร็จกลับไป ก็เลยรู้แล้วว่านายปรีดีเป็นผู้ก่อการคนหนึ่ง


สาร
คดี : เมื่อทราบแล้วตกใจไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ฉันตกใจเหมือนกัน บางคนบอกว่ามีเจ้านายหนีไป แล้วจะทำการสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร นายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟัง เดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง

ภายหลังนายปรีดีย้ายจากพระที่นั่งอนันต์ฯ มาอยู่วังปารุสกวัน เลยมารับลูกเมียไปอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกลับบ้านได้ เพื่อความสะดวกในการอารักขาความปลอดภัย จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติจึงกลับบ้านได้

สารคดี : คนไทยในเวลานั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เท่าที่เราดูในหนังสือพิมพ์ ก็เห็นมีคนไปเชียร์กันแยะนี่ บริเวณที่นั่งอนันต์ฯ แต่ฉันไม่ได้ออกจากบ้านเลย เป็นห่วงแต่นายปรีดี

สารคดี : คิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นอย่างไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่มีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ตอนนั้นกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระองค์ปฤษฎางค์ เป็นคณะราชทูตไทยในอังกฤษ และคุณปู่ของฉันคือหลวงวิเศษสาลี เป็นผู้ช่วยทูต พวกนี้มีจดหมายกราบบังคมทูลขอให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาในการปกครองประเทศ แต่ในหลวงท่านก็ไม่เปลี่ยน แต่ท่านก็ไม่กริ้วนะ ก็นับว่าเป็นความกล้าหาญ มีเจ้านายกับข้าราชการรวม ๑๑ คน กราบบังคมทูลเพื่อเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง ปู่ของฉันก็เป็นคนหนึ่ง

สารคดี : ดูเหมือนหลักการหนึ่งของคณะราษฎรให้ความสำคัญกับผู้หญิงมาก

ท่านผู้หญิงพูนศุข : นายปรีดีเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้ เช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งมีก่อนกฎหมายเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศส

สารคดี : แล้วช่วงที่อาจารย์ปรีดี ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง สถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร เพราะท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เรื่องมันยืดยาว แต่สรุปสั้น ๆ ว่า ตั้งใจจะช่วยคนจน มีสหกรณ์ ก็ไม่ได้มีนโยบายจะไปยึดทรัพย์ใคร แต่ถูกคนในรัฐบาลใส่ความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บีบบังคับให้เราต้องเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว

สารคดี : เหตุการณ์นั้นทำให้อาจารย์ปรีดีเกิดความขัดแย้งกับคุณประยูร ภมรมนตรี ใช่ไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เวลาประชุมกัน คุณประยูรเป็นฝ่ายเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

สารคดี : แล้วกับพระยาทรงสุรเดชนั้น ความสัมพันธ์เป็นอย่างไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : พระยาทรงฯ เป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ด้วยกันกับนายปรีดี การที่ท่านต้องไปอยู่ต่างประเทศ (กัมพูชา) และพรรคพวกของท่านถูกประหารชีวิตกันไปทั้ง ๑๘ คน หลวงพิบูลฯ ก็ว่าหลวงอดุลฯ เป็นคนสั่ง หลวงอดุลฯ ก็ว่าหลวงพิบูลฯ เป็นคนสั่ง เราก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่ง เมื่อพระยาทรงฯ ถึงแก่กรรม ได้เชิญอัฐิกลับมาเมืองไทย นายปรีดีขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จัดให้มีการต้อนรับอย่างสมเกียรติ และไปบำเพ็ญกุศลที่วัดมหาธาตุ


สารคดี : ในบั้นปลายชีวิต จอมพล ป. เคยเขียนจดหมายมาขอโทษอาจารย์ปรีดี

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ถึงกับเขียนจดหมายหรอก เป็นการ์ด ส.ค.ส. แล้วก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Please อโหสิกรรม" เราก็เก็บอย่างดี แต่อะไรที่เก็บอย่างดีมักจะหาย ตอนนั้นจอมพล ป. อยู่ที่ญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ก็ส่งคนมาหา ก่อนที่จะถูกจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร มาติดต่อกับเราว่าเรื่องกรณีสวรรคต ทางจอมพล ป. จะรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ คิดว่าแกคงเริ่มรู้สึกตัวแล้ว แต่ก็ไปโดนจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร เลยต้องไปอยู่ต่างประเทศ

สารคดี : อยากจะเรียนถามถึงชีวิตส่วนตัวของอาจารย์ปรีดีครับ ไม่ทราบว่าท่านใช้จ่ายเงินในครอบครัวอย่างไร

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ นิติสาส์นรายเดือน พิมพ์หนังสือชุด ประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อมาก และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ ๑๐ บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์ต่อไปอีก พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเลย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสน์ การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

สารคดี : อาจารย์ปรีดีแบ่งเวลาอย่างไรเพราะต้องสอนหนังสือและบริหารแผ่นดินไปพร้อมกัน

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ได้สอนแล้ว ท่านเคยสอนช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๖ แต่เมื่อทำหน้าที่บริหารประเทศก็หยุดสอน เมื่อตั้งธรรมศาสตร์ เป็นผู้ประศาสน์การ ก็ทำหน้าที่วางนโยบายและหลักสูตร

สารคดี : งานอดิเรกของอาจารย์ปรีดีคืออะไรครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ค่อยมีเวลาว่างหรอก สมัยเป็นรัฐมนตรีเลิกจากงานกลับจากกระทรวง ก็ตรงมาบ้าน หรือไม่ก็แวะสมาคมฝรั่งเศส ยืมหนังสือไปอ่าน หากไม่ได้ยืมก็ตรงมาบ้าน หรือไม่ก็มีงานแต่งงาน งานศพ ท่านก็ไป นาน ๆ จึงจะทำอาหารรับประทานเอง

สารคดี : อาจารย์ปรีดีออกกำลังกายไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เคยเล่นกอล์ฟเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเวลา หมกมุ่นกับการงาน ตอนไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส รู้ว่าพวกอาจารย์คนอื่นเขาไปตีกอล์ฟกัน เราจะเอาเวลาที่ไหนไปตีล่ะ เราต้องเตรียมที่จะไปเล็กเชอร์ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ไปเล็กเชอร์ ฉันยังช่วยเลย ตั้งแต่แต่งงานกันมา ท่านก็สอนฉันในตัว คือเวลาท่านสอนกฎหมาย ท่านก็ dictate เรื่องที่จะไปเล็กเชอร์ ฉันก็ต้องจดตามคำบอกของท่าน ส่วนใหญ่เป็นวิชากฎหมายปกครอง เท่ากับสอนเราในตัวด้วย แทนที่ท่านจะนั่งเขียน แต่ตอนนั้นฉันยังไม่มีลูก พอมีลูกแล้วนายปรีดีไม่ได้ให้ทำ เพราะต้องดูแลลูก เราแต่งงานตั้งปีครึ่งถึงมีลูก ฉันมีเวลาก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศสถนนสาทร

เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ พวกอัสสัมนี่เป็นนักเรียนภาษาฝรั่งเศสทั้งนั้น

No comments: