Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๒๔. ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก (๑)

ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
ก่อนจะพูดถึงพระไตรปิฎก ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร

พระพุทธศาสนา ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้นึกย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็คือต้องการมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จึงเป็นผู้ฟังที่เราเรียกว่าเป็นสาวก คำว่าสาวกนั้น ก็แปลว่าผู้ฟังนั่นเอง

เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาจึงมีความหมายทั้งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น

ถึงความหมายขยายไกล ก็จับหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้

ต่อมาก็มีการจัดตั้งเป็นชุมชน เป็นสถาบัน เป็นองค์กร หมายความว่า คนมารวมกันเรียน มาฟังคำสั่งสอน ขยายออกไป เรียกว่าเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติ ทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการจัดสรรดูแลต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายที่มาอยู่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนี้ ได้เรียนได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างได้ผล การจัดสรรดูแลให้มีการเล่าเรียน สดับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาด้วย ความหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยกว้างขวางออกไป

พอถึงขั้นจัดตั้ง การดูแลให้มีการเล่าเรียนและปฏิบัติ ก็เลยรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นชุมชน เป็นองค์กร เป็นสถาบันหรืออะไรๆ ที่กว้างขวางออกไป ความหมายของพระพุทธศาสนาก็ขยายออกไป เป็นอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็เลยลืมไปเลย ไม่รู้ว่าตัวพระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ทบทวนกันไว้ให้ดี ต่อไปก็จับไม่ถูก ว่าที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่จุดเริ่ม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง


เพราะฉะนั้น จะต้องจับตัวพระพุทธศาสนาไว้ ให้อยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีการปฏิบัติ มีการเชื่อถือกันไปมากมาย ใหญ่โต แต่เสร็จแล้วไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน เป็นอันว่า คนที่มาหาพระพุทธศาสนา ก็คือต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่เอาอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้ต้องการคำสั่งสอนของคนอื่น เป็นต้นเมื่อเราต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล จะทำอย่างไร เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ในวัดเดียวกับพระองค์ ก็ไปหาไปเฝ้าพระองค์ ไปที่ธรรมสภาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรม ไปฟังพระองค์ หรือซักถามพระองค์ ทูลถามปัญหาต่าง ๆ ให้พระองค์ตรัสตอบให้ ถ้าอยู่ไกลก็เดินทางมา บางคนมาจากต่างประเทศ ขี่ม้า หรือว่านั่งเกวียน เดินทางกันมาเป็นวัน เป็นเดือน ก็เพียงเพื่อมาฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอน

จุดเริ่มความคิดรวบรวมรักษาพระพุทธศาสนา ต้นแบบของการสังคายนา

ต่อมา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์จากเราไปแล้ว ถ้าเราต้องการพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเอาจากที่ไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็เป็นอันว่าหมดสิ้น

ฉะนั้น เรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก คือการรวบรวมและบันทึกจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ต่อจากนั้นก็นำสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าทำอย่างไร พวกเราเวลานี้จึงโชคดีที่มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนาขอย้อนไปเล่าว่า แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าเองและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ก็ได้คำนึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น ทั้งๆที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้มีการริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ ซึ่งเราเรียกว่าสังคายนา

สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี เป็นพระสูตรหนึ่งเลยตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร

ครั้งนั้น ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙)เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรอง ประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวดตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.๑๑/๒๒๕-๓๖๓/๒๒๔-๒๘๖)

หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร แปลง่ายๆ ว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ นี้เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกสูงสุด คือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเอง ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็เป็นอันว่าพระสารีบุตรไม่ได้อยู่ที่จะทำงานนี้ต่อ แต่ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ดำเนินงานนี้ต่อมาโดยไม่ได้ละทิ้ง กล่าวคือพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้ใหญ่ มีอายุพรรษามากที่สุด

No comments: