ความกล้าหาญของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง
เป็นความกล้าหาญของคุณจาตุรนต์ ฉายแสงที่ได้กล่าวสรรเสริญคุณงามความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่มีคุณูปการต่อชาติอย่างใหญ่หลวง ซึ่งนักการเมืองทุกวันนี้น้อยคนนักที่จะกล้าหาญอย่างคุณจาตุรนต์
จะเป็นด้วยว่าเรื่องราวและวีรกรรมของท่านปรีดี พนมยงค์ คนไทยส่วนใหญ่"ไม่กล้า" ที่จะพูดให้ดัง และไม่กล้าที่จะเชิดชูยกย่องให้เกรียงไกรสมกับคุณงามความดีของท่าน จึงมีแต่เสียงกระซิบกระซาบ
ที่น่าสลดใจก็คือแม้แต่ครูอาจารย์ นักวิชาการทั้งหลาย ที่สมควรจะได้รู้ความจริงมากกว่าประชาชนทั่วไป ก็กลับหลอกลวงตัวเองเพียงเพื่อลาภยศ ทำการเขียนตำราวิชาการบิดเบือนต่อสัจจะ มอมเมาคนไทยให้ไม่นับถือผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติที่เป็นสามัญชน
การกล่าวปาฐกถาของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง จึงเป็นการประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ถึงจิตใจที่กล้าหาญที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง และผมก็หวังใจว่าคุณจาตุรนต์จะกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วย คือเป็นผู้นำประชาชนเรียกร้องอำนาจของพวกเขากลับคืนมาสู่แผ่นดิน แม้ว่าการต่อสู้นั้นจะต้องค่อยเป็นค่อยไปก็ตามที
ถ้อยแถลงของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ในวาระครบรอบ ๑๐ ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์ (๗๓ ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
หัวข้อ “ปรีดี พนมยงค์ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕”
วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุม สถาบันปรีดี พนมยงค์
สำหรับหัวข้อที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ ถ้าหากท่านผู้ศึกษา ค้นคว้า จากตำราต่างๆ จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีผู้กล่าวไว้มากแล้วเกี่ยวกับ “ท่านปรีดีฯ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” ในแง่หนึ่งถือเป็นแง่ของการให้ความรู้ และในอีกแง่หนึ่งในการมากล่าวหัวข้อลักษณะนี้เท่าที่สังเกตุจากในหลายๆโอกาสในงานประชุมที่มีคนมากๆ
“ดูเหมือนว่าผู้กล่าวในบางครั้งต้องใช้ความกล้าพอสมควรที่จะกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคงมีอะไรผิดปกติอยู่บ้างในสังคมไทย ที่จะกล่าวถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เป็นคุณประโยชน์อย่างมากแก่ประชาชน และพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แต่กลับยังต้องใช้ความกล้าที่จะกล่าว ความกล้าที่จะกล่าวนั้นก็ยังเป็นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับท่านปรีดีฯ และคณะ ที่ได้ตัดสินใจดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
ผมจะขออนุญาตกล่าวถึงเพียงบางแง่มุม เพราะมีผู้รู้จำนวนมากได้กล่าวไว้ เขียนไว้จำนวนมากอยู่แล้ว หลายท่านในที่นี้ก็ทราบอยู่แล้ว ที่ผมมากล่าวในวันนี้เป็นการรำลึก ซึ่งอาจจะกล่าวได้ไม่ครบทุกแง่มุมก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยถ้าขาดตกบกพร่องในเรื่องสำคัญไป แต่จะพยายามกล่าวให้ตรงประเด็นและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามากล่าวถึงหัวข้อเหล่านี้กันในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ด้วยแล้ว
สิ่งที่ควรกล่าวถึงในการรำลึกถึงท่านปรีดี พนมยงค์ และรำลึกวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไปด้วยนั้น ก็คือ ความตั้งใจ เหตุผลจูงใจ หลักการ เจตนารมณ์ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ กับสิ่งที่ท่านปรีดีฯ ได้กระทำหลังจากนั้น คือ สิ่งที่ท่านคิดและทำ ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้นำเสนอในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสิ่งที่ท่านได้กระทำหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เป็นสิ่งที่มีความสอดคล้อง ต่อเนื่อง คงเส้นคงวาอย่างยิ่ง
ความตั้งใจ เหตุผลจูงใจ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ผมได้อ่านมาจากบทความที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เรียบเรียงไว้คือ “ความตั้งใจและเหตุผลจูงใจของท่านปรีดีฯ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา ที่ครูสอนให้เห็นถึงการปกครองระบบรัฐสภาที่มีเกิดขึ้นในหลายประเทศ และที่สำคัญคือการได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆที่พัฒนาไปโดยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย” ซึ่งในบางตอนของบทความได้กล่าวไว้ว่า “จะต้องก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของข้าพเจ้าให้ได้ แต่ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร” ซึ่งเป็นช่วงก่อนปี ๒๔๗๕ หลายปี เรื่องความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไปศึกษาในต่างประเทศ เราคงพอนึกภาพได้ว่าการศึกษาในต่างประเทศที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้รับรู้ความเป็นไปของอารยประเทศแล้ว ผู้ที่มีความตั้งใจเพื่อที่จะให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์ มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม เมื่อดูจากความตั้งใจ เหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มาดูถึงสาระ เจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อยู่ในหลัก ๖ ประการ ซึ่งหลัก ๖ ประการนี้ ท่านปรีดีฯ เป็นผู้เขียนขึ้น โดยแสดงให้เห็นชัดว่าสอดคล้องกับความตั้งใจ เจตนารมณ์นั้น
หลัก ๖ ประการนี้ ถ้ามาดูในปัจจุบัน ก็เหมือนว่าไม่ยากที่ใครจะคิดขึ้น แต่ว่าในขั้นตอนสมัยนั้นของการพัฒนาประเทศ การเสนอหลัก ๖ ประการ ดังกล่าวนี้ขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ความยิ่งใหญ่คงไม่อยู่ที่การนำเสนอหลักการนั้นเท่านั้น แต่อยู่ที่การดำเนินการหลังจากนั้นของท่านปรีดีฯ ที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกับสิ่งที่เสนอไว้ทุกประการ ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่และสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เพราะว่าจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ จะเห็นว่าบรรดาผู้นำและผู้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือผู้มีอำนาจในต่อๆมานั้น ก็แยกไปคนละทาง แต่เส้นทางที่ท่านปรีดีฯ เลือกเดิน เป็นเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เป็นไปตามเจตนารมณ์แถลงไว้ทุกประการ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้น แต่ผู้นำในบางท่านอาจมีทิศทางไปอีกทางหนึ่งเช่น การใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง ทำให้ประเทศล้าหลังไปในบางด้าน และถ้าพูดในแง่นี้จะมีเรื่องที่ขยายความได้มากมายกล่าวได้ไม่จบง่ายๆ ขอยกตัวอย่างเป็นบางเรื่อง เช่น
- เรื่องในด้านการปกครอง การให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สมัครรับเลือกตั้งได้
- การจัดระบบบริหารการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีการกระจายอำนาจเกิดขึ้น
- ในเรื่องการปกครองที่จัดให้มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และพยายามผลักดันให้ทำหน้าที่อย่างศาลปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของ
ความคิดด้านการปกครองอย่างมาก เพราะกว่าจะมีผลสำเร็จเป็นจริงขึ้นที่จะมีศาลปกครองในประเทศไทยใช้เวลาผ่านมาอีกประมาณ ๖๐ กว่าปี
- ทางด้านเศรษฐกิจ และความเป็นเอกราชของประเทศในด้านต่างๆ ท่านก็ได้กำเนินการในหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขและยกเลิก
สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่เสมอภาคกับประเทศต่างๆ , การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
- นอกจากนี้ยังมีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยกเลิกภาษีจำนวนมากที่เป็นธรรม เสนอให้ใช้หลักการเก็บภาษีที่
เป็นธรรมมากขึ้น คือ มีเงินมากก็จ่ายภาษีมาก เป็นต้น
- และยังมีการพัฒนาองค์กรกลไกทางด้านเศรษฐกิจ การตั้งธนาคารชาติ การสถาปนาประมวลรัชฎากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ
- ด้านการศึกษาได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี ๒๔๗๗ และการ ดำเนินการอีกหลายประการที่สอดคล้องกับหลัก ๖ ประการที่ได้เสนอไว้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ผมต้องการนำเสนอให้เห็นว่าการกระทำของท่านปรีดี พนมยงค์ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงเป็นไปตามที่ท่านได้เคยเสนอไว้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หมายความว่าที่เสนอหลักการเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ไม่ได้เสนอขึ้นเพื่อเป็นข้ออ้าง แต่เสนอเพื่อต้องการเห็น ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ ในประเด็นท้ายๆที่อยากกล่าวถึงคือ ท่านปรีดีฯ นอกจากมีคุณูปการในเรื่องของการเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ร่วมในคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี ๒๔๗๕ และมีการดำเนินการอีกหลายอย่างที่มีคุณค่าหลังจากนั้นดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีการดำเนินการอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องที่ทำให้ประเทศไม่ตกอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กอบกู้สถานะของประเทศในครั้งนั้น โดยการเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย
ผมเคยไปงานรำลึกถึงท่านปรีดี พนมยงค์ ในครั้งก่อนๆ ในหลายปีก่อนๆ และอาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่ไม่ได้ทำการศึกษา ค้นคว้ามากเท่าที่ควร เมื่อได้ไปเห็นเอกสารประวัติของท่าน ปรีดีฯ เมื่อหลายปีก่อน ทำให้รู้สึกว่าในบรรดาคนธรรมดาสามัญชนตั้งแต่เริ่มมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จะหาคนธรรมดาสามัญที่จะมีคุณูปการให้แก่ประเทศชาติเท่าท่านนั้นก็หายาก ที่ว่ายากนั้นไม่ใช่เพราะเรื่องที่หาได้ยากเท่านั้น เพราะเมื่อศึกษาประวัติท่านแล้วมีความรู้สึกได้ว่าต่อให้ผู้ที่มีความรู้ มีความเก่งในทางประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ให้มาประมวลความคิดเอาเอง สมมติเอาเองว่าตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ มาถึงปัจจุบันนี้ ให้นึกออกมาว่าอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเอามาเขียนรวมกัน แต่ไม่ให้ซ้ำกับที่ท่านปรีดีฯ ทำไว้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้เทียบเท่ากับที่ท่านปรีดีฯ ได้ให้ไว้แก่แผ่นดินไทยหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการสมมติก็ตาม สิ่งนี้เกิดจากความรู้สึกเองไม่ได้เกิดจากการวิจัยใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศนี้จริง
อีกประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ ในเรื่องความกล้าหาญที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้น มาถึงวันนี้แม้จะพูดถึงหรือกล่าวสดุดีก็ต้องอาศัยความกล้าแล้ว แต่การกระทำของท่านในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ต้องถือได้ว่าท่านและผู้ที่ร่วมงานมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ภาวะการณ์ของประเทศก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากที่คนจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่มีนัยยะ มีความหมายอย่างใหญ่หลวงในแง่ของการเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นจุดเริ่มต้นที่สืบต่อกันมาของประวัติศาสตร์ ในแง่นี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึง
แต่โดยสรุปแล้วคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความคิด ความตั้งใจ มีเจตนา ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เสนอหลักการที่เป็นประโยชน์ เป็นหลักสำคัญเพื่อเอกราช อธิปไตย และได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ดำเนินการอีกหลายๆอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ในโอกาสนี้ผมจึงมากล่าวรำลึกถึงท่าน และรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ด้วยความเคารพ เพื่อที่จะศึกษาเป็นแบบอย่าง และผมคิดว่าเราทุกคนควรจะได้คิดว่าจะทำอะไรได้อย่างไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่างที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นแบบอย่างที่ดีไว้แก่คนรุ่นหลัง
ขอบคุณครับ
No comments:
Post a Comment