Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๙. สยามราชอาณาจักรใต้ดิน

สยามราชอาณาจักรใต้ดิน

“ช่วงนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมากที่สุดเชียว ทำเนียบท่าช้างเป็นที่บัญชาการของเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า พออยู่มาวันหนึ่ง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ แล้วก็เดินเข้ามาที่ศาลาริมน้ำซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้เป็นที่ทำงาน โตโจคงอยากเห็นส่วนที่เราอยู่ทั้งหมด น่ากลัวเหมือนกันแต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย”

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะอุบัติขึ้น นายปรีดีเล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก ในปี ๒๔๘๒ ท่านจึงสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เพื่อสะท้อนความคิดของท่านที่คัดค้านการทำสงคราม ผ่านไปยังผู้นำประเทศ ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มเรื่องแรก
เช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่อ่าวไทยพร้อมกันหกแห่ง ทูตทหารญี่ปุ่นในเมืองไทยยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้กองทัพลูกพระอาทิตย์เดินทัพผ่านแผ่นดินไทย ภายในวังสวนกุหลาบทำเนียบรัฐบาลในเวลานั้น คณะรัฐมนตรีแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นด้วยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่อีกฝ่ายนำโดยนายปรีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านอย่างรุนแรง และเสนอว่าจะต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นที่ละเมิดอธิปไตย แต่สุดท้ายนายปรีดีก็แพ้เสียงข้างมาก ไทยกับญี่ปุ่นเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันต่อหน้าพระแก้วมรกตเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนเดียวกัน

ไม่นานนักนายทหารญี่ปุ่นก็มาที่วังสวนกุหลาบอีก และกดดันให้จอมพล ป. ปลดนายปรีดี “ออกไปให้พ้นวงการรัฐบาลทีเดียว” ผลสุดท้ายนายปรีดีก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลุดพ้นจากอำนาจทางการเมืองสมใจปรารถนาของทหารญี่ปุ่น

๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. ที่มีญี่ปุ่นเป็นลูกพี่ใหญ่ ก็หาญกล้าประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอันเป็นการผิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. ๒๔๘๒ ฝ่ายอังกฤษประกาศสงครามตอบโต้ ส่วนสหรัฐอเมริกามิได้ประกาศสงครามด้วย โดยถือว่าไทยถูกญี่ปุ่นรุกราน อย่างไรก็ตามนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้น โดยเดินทางหลบไปบ้านที่อยุธยา แม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะติดตามไปหา แต่นายปรีดีก็ยืนกรานไม่ยอมลงนามด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย

นายปรีดีเริ่มงานกู้ชาติตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทย ครั้นได้เป็นผู้สำเร็จราชการฯ และย้ายมาอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง เขาได้ประสานสามัคคีกับทุกฝ่าย ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ทหาร ตำรวจ นักศึกษา พ่อค้า กรรมกร ชาวนา และชาวไทยในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษและสหรัฐฯ จัดตั้งขบวนการเสรีไทย มี “รูธ” เป็นหัวหน้า ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง มีภารกิจเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของญี่ปุ่น และเริ่มต้นติดต่อกับประเทศสัมพันธมิตรโดยส่งนายจำกัด พลางกูร ลอบออกไปยังประเทศจีนเพื่อที่จะส่งข่าวผ่านไปยังสหรัฐอเมริกาหรืออินเดียให้รับทราบว่าในเมืองไทยมีขบวนการเสรีไทยที่ไม่ยอมรับการประกาศสงครามของรัฐบาล แต่นายจำกัดได้เสียชีวิตที่ประเทศจีนเสียก่อน นายปรีดีจึงส่งพลพรรคเสรีไทยอีกหลายคนลอบออกนอกประเทศ จนในที่สุดสามารถติดต่อกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรู้ว่ามีขบวนการกู้ชาติในประเทศ และส่งคนเข้ามาประสานงานกัน เช่นเดียวกับที่นายพลชาร์ลส์ เดอโกล ได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านทหารเยอรมันที่เข้ายึดครองประเทศฝรั่งเศส

การทำงานของเสรีไทยในเวลานั้น ไม่ว่าการประชุมลับ การส่งข่าวความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นทางวิทยุ การแอบพบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศ การแอบฝึกอาวุธให้แก่พลพรรคเสรีไทย ทั่วประเทศ ฯลฯ เต็มไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายยิ่ง ไหนจะต้องเผชิญกับความระแวงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยด้วยกันเอง ตลอดจนทหารและสายลับญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เคมเปไต” ที่มีอำนาจมาก คอยสะกดรอยติดตามความเคลื่อนไหวของนายปรีดีและพรรคพวกตลอดเวลา ซึ่งนายปรีดีก็ระวังตัวเป็นอย่างดี เพราะรู้ถึงความเหี้ยมโหดของฝ่ายญี่ปุ่น

เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทย ต้องทำงานเสี่ยงตายในสองบทบาทตลอดเวลาสามปีกว่าของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน แม้กระทั่งพลพรรคเสรีไทยเองต่างก็ไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่เป็นพวกเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือต่อสู้กับญี่ปุ่นและเจรจาให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจว่าการประกาศสงครามของจอมพล ป. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ เชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ เคยกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหลวงประดิษฐ์ทำงานในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วยความพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ อดทนมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มิได้เห็นแก่ตัวและภยันตรายที่จะมาถึงตน จนพวกเราทั้งหลายที่เข้ามาจากต่างประเทศต้องพากันขอร้องหลายครั้งหลายคราวให้เตรียมตัวที่จะคิดป้องกันตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้นการงานของประเทศจะเสียหมด ถ้าหลวงประดิษฐ์เป็นอะไรไป....”

ช่วงปลายสงคราม เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักในกรุงเทพฯ บางครั้งนักบินก็ทิ้งผิดเป้าหมายไปทิ้งระเบิดลงในพระบรมมหาราชวัง นายปรีดีเกรงว่าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่จะได้รับอันตรายจึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเจ้านายหลายองค์เสด็จไปประทับพระราชวังบางปะอินเพื่อความปลอดภัย นายปรีดีมาเข้าเฝ้าถวายความอารักขาอยู่เป็นประจำ ทั้งยังส่งวิทยุไปบอกฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ให้ทิ้งระเบิดผิดเป้าหมาย โดยเฉพาะพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามและบ้านพักอาศัย

ในเดือนพฤษภาคม ๒๘๘๘ นายปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่าเสรีไทยจำนวน ๘ หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอร้องให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

หลังญี่ปุ่นยอมจำนน รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็คคิดจะส่งกองทัพจีนมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเขตแดนสยามเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไปคือเหนือจังหวัดตาก ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ขณะที่ใต้เส้นขนานที่ ๑๖ เป็นหน้าที่ของทหารอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายไทยเกรงว่าอาจจะทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลคลั่งชาติที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศอาจก่อความวุ่นวาย นายปรีดีจึงโทรเลขแจ้งไปยังรัฐบาลอเมริกันว่า เสรีไทยพร้อมที่จะปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเอง อเมริกันเข้าใจถึงเหตุผลที่นายปรีดีไม่ยอมให้ทหารจีนปลดอาวุธ จึงมีคำสั่งให้กองกำลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อลอร์ด เมาท์แบตเทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ส่วนทหารจีนได้รับมอบหมายให้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางตอนเหนือของอินโดจีนเท่านั้น

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษได้อนุญาตให้ลอร์ด เมานท์แบตเทน ส่งสารส่วนตัวไปยังนายปรีดี เพื่อให้รีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ดังนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ก็ประกาศสันติภาพมีสาระสำคัญว่า การประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นโมฆะ มีผลทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม ประเทศไม่ต้องถูกยึดครองจากต่างชาติ กองทัพไทยไม่ต้องถูกปลดอาวุธ ทั้งๆที่ในระหว่างสงครามไทยเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปรุกรานและยึดครองประเทศอื่นๆ

ความสำเร็จในการรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดจนเกียรติภูมิและเกียรติศักดิ์ของประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับในครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลให้เกิดขึ้น แต่มาจากความกล้าหาญและเสี่ยงตายของขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ลอร์ด เมานท์แบตเทน เคยกล่าวชื่นชมนายปรีดีในงานเลี้ยงรับรองในฐานะแขกของรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี ๒๔๘๙ ว่า

“หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามในเอเชียอาคเนย์ เป็นที่ทราบกันว่า ในระหว่างสงครามนั้น ไม่มีการกล่าวถึงชื่อของเขาอย่างเปิดเผย และเรื่องราวทั้งปวงเกี่ยวกับเขาก็ถูกถือว่าเป็น ‘ความลับสุดยอด’ แม้กระทั่งทุกวันนี้คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบเท่าไรนักถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้กระทำสำเร็จมาแล้ว....และภยันตรายที่เขาต้องเผชิญตลอดเวลาสามปีนับว่าเป็นสิ่งที่น่าพรั่นพรึ่งอย่างยิ่ง แต่ก็อาศัยความมีวินัยของเขาเองประกอบกับที่เขาได้ชักจูงให้บรรดาผู้เชื่อถือเลื่อมใสในตัวเขาปฏิบัติตามนั่นเอง ที่ทำให้ได้ประสบชัยชนะในที่สุด เขาไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลย”

No comments: