Friday, February 16, 2007

บทความที่ ๕๑. สงครามอินโดจีน ตอนที่ ๔

สงครามอินโดจีน : สงครามเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้ (๒)

การเพิ่มการปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกา

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๐๘ ประธานาธิบดีจอห์นสัน สั่งทหารหน่วยรบอเมริกันขึ้นบกที่ฝั่งดานัง ทางเหนือของเวียดนามใต้เป็นครั้งแรก เป็นทหารนาวิกโยธิน จำนวน ๓,๕๐๐ คนเพื่อปกป้องฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ที่นั่น ทหารนาวิกโยธินอเมริกันได้พบว่า จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีอยู่กับที่ไม่ได้ และต้องเคลื่อนที่ออกไปไกลๆ ในการป้องกันฐานทัพ

การเพิ่มจำนวนทหารอเมริกันในเวียดนามใต้เป็นการใช้งบประมาณที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลให้ชาวอเมริกันต้องประท้วงรัฐบาลของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมหาวิทยาลัยประท้วงอย่างรุนแรง

คู่ศึกเริ่มเสนอให้มีการเจรจาแต่ยังไม่เป็นผล ในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๘ รัฐบาลอเมริกันแถลงว่าทหารอเมริกันจะทำการรบตามลำพังในเวียดนามด้วย แทนที่จะผสมกำลังกับทหารเวียดนามใต้ แต่ภารกิจหลักยังคงเดิม

การรบที่ไม่ค่อยจะได้ผลเริ่มแว่วไปยังกรุงวอชิงตัน และรัฐมนตรีกลาโหมโรเบอร์ต แมคนามารา สรุปไว้ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๘ ว่า สถานการณ์ทางทหารในเวียดนามเลวร้ายตั้งแต่เกิดรัฐประหารล้มประธานาธิบดีโงดินห์ เดียม

ประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน เริ่มใช้นโยบายใหม่ “บีบเวียดนามเหนือเข้าโต๊ะประชุม” โดยเพิ่มเงื่อนไขเอาเงินเข้าล่อว่า ถ้าสงครามเวียดนามจบลงได้จะให้เงินบูรณะเวียดนามทั้งสองเป็นจำนวน ๑ พันล้านดอลล่าร์ พร้อมกับเสนอแผนทางทหารแผนใหม่ต่อรัฐสภาเพื่อขอเงินต่อไปอีก

แผนปฏิบัติการใหม่ของสหรัฐฯขณะที่จำนวนทหารอเมริกันเพิ่มขึ้นและกระจายไปยังสนามรบที่ “ไม่มีแนวรบ” นั้น จะเป็นโล่กำบังให้เวียดนามใต้จัดการแนวหลังให้มีความมั่นคงและดำเนินการ “ชนะใจ” ประชาชนที่ทางสหรัฐฯ เรียกว่า “การแย่งประชาชน”

สหรัฐฯส่งพลเรือนนับพันๆ คนไปยังชนบทในเวียดนามเพื่อช่วยเหลือชาวชนบทโดยมุ่งหวังที่จะให้ชาวไร่ชาวนาสนับสนุนรัฐบาลไซ่ง่อน

งานที่พลเรือนอเมริกันเรียกตนเองว่า “ที่ปรึกษา” เหล่านี้มีตั้งแต่ขุดบ่อเลี้ยงปลา สอนภาษาอังกฤษ พิมพ์ใบปลิวโฆษณา จนกระทั่งงานที่พวกหน่วยราชการลับอเมริกันเอาพลเรือนเหล่านี้บังหน้าด้วย คือการปฏิบัติงานทางลับอันน่าสะพรึงกลัว ที่จะทะลายโครงสร้างทางการเมืองของเวียดกงตามหมู่บ้านในเวียดนามใต้

แผนงานใหม่นี้ได้รับการวิจารณ์ว่าน่าจะเป็นงานราชการของเวียดนามใต้มากกว่า เพราะดูๆไปแล้วรัฐบาลไซ่ง่อนติดต่อช่วยเหลือประชาชนของตนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ทางเวียดนามใต้เองหาว่า “ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน” เหล่านี้ เจ้ากี้เจ้าการไปเสียหมด จนกระทั่งนายทหารเวียดนามใต้ประชดเอาว่า “ปล่อยให้อเมริกัน เขาทำเถอะ”

การแตกแยกกันเองในเวียดนามและสหรัฐอเมริกา

บทบาทของสหรัฐฯ ในเวียดนามได้เปลี่ยนรากฐานสังคมของชาวเวียดนามใต้ไปมาก การทิ้งระเบิดและการรู้รบในชนบททำให้ชาวไร่ชาวนาหนีถิ่นฐานของตนเข้าเมืองหรือเข้าอยู่ในค่ายลี้ภัย ภาวะเงินเฟ้อเป็นไปโดยรวดเร็ว และเฟ้อมากยิ่งขึ้นจากการใช้จ่ายอย่างมหาศาลของสหรัฐฯ บรรดาผู้ดี ข้าราชการ นักฉวยโอกาส นายทหารใหญ่ๆที่ติดต่อกับสหรัฐฯ เป็นประจำต่างร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีไปตามๆกัน

การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นไปแสดงออกทางหนึ่งที่เมืองเว้ และดานัง ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙ จากชาวพุทธที่ดำเนินการประท้วงต่อรัฐบาลทหารไซ่ง่อนและการแทรกแซงของสหรัฐฯ รัฐบาลไซ่ง่อนได้ปราบปรามอย่างรุนแรง ตัวนายพลเหงียนเกากีผู้เคยเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศเวียดนามใต้และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบตลอดเวลาหลังการรัฐประหารถึงกับขึ้นเครื่องบินอเมริกันไปโจมตีชาวพุทธเหล่านี้ด้วยตัวเอง

ช่วงเวลานี้เองมีเสียงจาก “กลุ่มที่สาม” ที่ประกอบด้วยพวกเป็นกลางที่ไม่สนับสนุนคอมมิวนิสต์หรือเข้าข้างอเมริกัน ได้ดังขึ้นในเวียดนามใต้ให้ยุติสงคราม ทางวอชิงตันแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไซ่ง่อนจะปราบปรามพวกประท้วง

แผนบีบเวียดนามเหนือเข้าโต๊ะประชุม ยังดำเนินไปด้วยการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือหนักมือและเพิ่มจำนวนทหารอเมริกันพร้อมกับเรียกร้องให้มีการประชุมหลายครั้งโดยสหรัฐฯ เสนอตารางเวลาถอนทหารทั้งสองฝ่าย แต่เวียดนามเหนือเกี่ยงให้สหรัฐฯ หยุดการทิ้งระเบิดเสียก่อนอื่นใด

จำนวนทหารฝ่ายเวียดนามใต้ได้เพิ่มขึ้น ๕๔,๐๐๐ คนจากทหารต่างชาติที่เป็นทหารเกาหลีใต้และไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายร่วมกับหน่วยรบพิเศษของออสเตรเลียจำนวนหนึ่งที่ทำการรบในป่าทางตะวันออกของกรุงไซ่ง่อน

สำหรับทหารอเมริกันที่ทำการรบอันปราศจากแนวรบและไม่ค่อยจะได้รับการสนับสนุนจากทางบ้าน ทำให้ว้าวุ่นและประสิทธิภาพต่ำกว่าควร การปฏิบัติการบางครั้งสับสนด้วยอารมณ์และความหวาดกลัวดังเช่นกรณีหมู่บ้าน มีลายทางฝั่งทะเลด้านเหนือของเวียดนามใต้ หมวดทหารอเมริกันในกรมที่ ๑๑ ในบังคับบัญชาของร้อยโทคัลลีย์ ได้เข้าไปในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๑ และยิงชาวบ้านเวียดนามที่เป็นคนแก่ ผู้หญิง และเด็ก เป็นส่วนใหญ่ล้มตายไป ซึ่งการสอบสวนต่อมาว่ามีจำนวน ๑๗๕ ศพ แต่บางกระแสว่ามีถึงกว่า ๔๐๐ ศพ เป็นต้น

ความสงสัยและการประท้วงสงครามเวียดนามมีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกตั้งแต่กลางปี ๒๕๑๐ รัฐบาลอเมริกันพยายามขจัดข้อสงสัยด้วยการออกข่าวต่างๆอย่างระมัดระวังตัว รัฐมนตรีต่างประเทศ ดีน รัสก์ เองก็ออกโทรทัศน์ในหัวข้อ “งานหนักอันยาวนาน” เพื่ออธิบายสงครามที่ดำเนินมา แต่ก็ยังย้ำที่จะไม่ลดระดับการสงครามลงจนกว่าทางเวียดนามเหนือจะตอบสนองข้อเสนอของสหรัฐฯ ก่อน

การสงครามถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๑ เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้กำลังประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ทำการโจมตีอย่างกว้างขวางในโอกาสวันตรุษญวน การโจมตีกระทำต่อทุกหัวเมืองใหญ่กับ ๓๖ จังหวัด และต่อที่ว่าการอำเภอ ๔๖ แห่ง รวมทั้งเข้าไปยึดสนามบางส่วนของสถานทูตอเมริกันในกรุงไซ่ง่อนด้วย ฝ่ายใต้ได้ตอบโต้ด้วยกำลังทางอากาศอย่างขนานใหญ่ จนพื้นดินที่สู้รบแย่งชิงกันแหลกหลาญไป นายทหารอเมริกันคนหนึ่งผู้ไปสำรวจความเสียหายของหมู่บ้านเยนตรี บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงบันทึกไว้ว่า “เราจำต้องทำลายหมู่บ้านเพื่อรักษามันไว้”

การตอบโต้การรุกรานใหญ่ของคอมมิวนิสต์ในวันตรุษญวนใช้เวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงไซ่ง่อนและเมืองเว้ ที่เมืองเว้เมืองหลวงเก่าของเวียดนาม ทหารเวียดนามใต้ตอบโต้เวียดกงไม่ได้ผลจนทหารนาวิกโยธินอเมริกันต้องช่วยรบแบบบ้านต่อบ้านและสูญเสียอย่างหนักจึงคืนได้ มีผลให้ทางการอเมริกันคลางแคลงในสมรรถภาพของทหารเวียดนามใต้

ผู้นำอเมริกันทั้งทางทหารและการทูตพิจารณาการรุกใหญ่ของคอมมิวนิสต์ในวันตรุษญวนว่าเวียดนามเหนือไม่ประสงค์การเจรจา แต่การสนับสนุนสงครามจากคนอเมริกันกลับตกต่ำลง ดูได้จากวุฒิสมาชิก ยูจีน แมคคาร์ธี ผู้มีนโยบายเลิกสงครามเวียดนามได้รับคะแนนเสียงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ในการเลือกหาตัวผู้สมัครประธานาธิบดีสมัยหน้า ในเดือนมีนาคม ๒๕๑๑ ที่นิวแฮมเชียร์

สามสัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีจอห์นสัน จำกัดขอบเขตการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือไม่ให้เกินเส้นขนานที่ ๒๐ พร้อมกับแถลงว่าตัวท่านจะไม่สมัครเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๑ ทางฮานอยประกาศพร้อมที่จะเจรจาเรื่องที่สหรัฐฯ จะยุติการโจมตีเวียดนามเหนือเพื่อให้ “การเจรจาเริ่มขึ้นได้” วันที่ ๔ พฤษภาคม นายซวนทุยผู้แทนจากกรุงฮานอยก็พบกันนายฮาริแมนและนายวานซ์ จากกรุงวอชิงตันที่กรุงปารีสเพื่อเตรียมประชุม

ในขณะเดียวกัน สงครามยังคงรุนแรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๑ ประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนามใต้ เหงียนวันเทียวประกาศระดมพลใหญ่ครั้งแรก และแถลงว่าเวียดนามใต้เตรียมการรับมือสงครามสงครามที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีก ไล่หลังกับการที่ประธานาธิบดีจอห์นสันพบปะกับเทียวที่โฮโนลูลู ย้ำว่า สหรัฐฯยังสนับสนุนอยู่ แต่เวียดนามใต้จะต้องรับภาระมากขึ้น

โครงการ “มอบภาระให้เวียดนาม” เป็นโครงการของประธานาธิบดีนิกสันที่รับหน้าที่ต่อจากจอห์นสันในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาในเดือน มกราคม ๒๕๑๒ การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสเพิ่งจะเริ่มขึ้น แต่เดือนกุมภาพันธ์ต่อมา ฝ่ายคอมมิวนิสต์รุกใหญ่ในเวียดนามอีก ทำให้รัฐบาลใหม่ที่วอชิงตันมีท่าทีเย็นชาต่อการประชุมอีกครั้ง

ในปีนั้น เดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีนิกสันหารือกับเทียวที่เกาะกวม แล้วประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ก็แถลงที่จะถอนทหารอเมริกันในเวียดนามรุนแรก ๒๕,๐๐๐ คน และว่าจะมอบการทำสงครามให้แก่ทางการเวียดนามใต้เป็นขั้นๆไป ขณะนั้นจำนวนทหารอเมริกันในเวียดนามถึงจุดสูงสุด ๕๔๑,๐๐๐ คน

ตลอดปี ๒๕๑๒ สหรัฐฯ ได้ถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้เป็นลำดับ พร้อมกับมอบฐานทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียดนามใต้เป็นจำนวนมหาศาล

No comments: