หากไม่ประมาท ก็ไม่เสื่อม
จากบทความที่แล้วเกี่ยวกับการล่มสลายของแคว้นวัชชีอันเนื่องมาจากการแตกสามัคคี ในคราวนี้ผมจะขอนำเสนอเรื่องของความเสื่อมและความไม่เสื่อม ซึ่งจะเป็นความรู้ให้เราสามารถนำมาพิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดในสังคมไทยได้
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ การที่ทรงแสดงอปริหานิยธรรม ก็เป็นการเตือนชาววัชชีว่า เธอทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติมั่นในธรรมเหล่านี้ ๗ ข้อ คือ อปริหานิยธรรม ๗ ประการนั่นเอง
อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เช่นการหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมใจกันเลิก เมื่อมีกิจใดที่เป็นของส่วนรวมเกิดขึ้น ก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดช่วยกันทำ ตลอดจนให้มีความเคารพนับถือสักการะ อนุสาวรีย์ปูชนียสถาน ซึ่งเป็นหลักใจของบ้านเมือง หรือของสังคม
พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงหลักการเหล่านี้ไว้และทรงสรุปว่า
“ถ้าชาววัชชี คือกษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ก็จะไม่มีความเสื่อม จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว” (ที.ม. ๑๐/๖๘)
นี่คือการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสเตือนอยู่เสมอว่า ให้พยายามตั้งตนอยู่ในธรรมเหล่านี้ แต่ในที่สุดความเสื่อมก็เข้ามา เพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ตรัสในโอกาสอื่นอีก ให้เห็นว่า เท่าที่เป็นมา กษัตริย์ลิจฉวีนั้น เป็นผู้ที่แข็งแกร่ง มีความหมั่นขยันในการฝึกฝนตนเอง เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เห็นแก่ความสุขสำราญ จะนอนหมอนไม้ และหมั่นฝึกการรบตลอดเวลา
แต่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น เมื่ออาณาจักรของตนมั่นคงเข็มแข็งรุ่งเรืองขึ้น ก็จะเพลิดเพลินหลงมั่วเมาในความสุขต่างๆ หาความสุขจากการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ความเสื่อมก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา จนพ่ายแพ้แก่มคธ ถึงความพินาศในที่สุด
ในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นพระดำรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายไม่ให้ประมาท ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี พระองค์ได้ตรัสเตือนไว้ดังนี้
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ราชาแห่งแคว้นมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส”
“แต่ในกาลข้างหน้า พวกกษัตริย์ลิจฉวี จะกลายเป็นผู้สำรวย อ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น แล้วพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ราชาแห่งมคธ ก็จะได้ช่อง ได้โอกาส”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เหล่าภิกษุยังนอนหนุนหมอนไม้ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบำเพ็ญเพียร มารร้ายย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส”
“แต่ในกาลนานไกลข้างหน้า เหล่าภิกษุจะเป็นผู้สำรวยอ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น มารร้ายก็จะได้ช่อง ได้โอกาส”
“เพราะเหตุดังนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้หนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบำเพ็ญเพียร ภิกษุทั้งหลาย เธอจงศึกษาอย่างนี้”
(สํ.นิ.๑๖/๖๗๔-๖)
นี้คือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าศึกษา ให้เข้าใจถึงความเสื่อมและความเจริญของบ้านเมือง ตลอดจนสังคมต่างๆ เป็นคติสอนใจพุทธศาสนิกชนจากเรื่องราวที่เป็นมาในประวัติศาสตร์
จากบทความที่แล้วเกี่ยวกับการล่มสลายของแคว้นวัชชีอันเนื่องมาจากการแตกสามัคคี ในคราวนี้ผมจะขอนำเสนอเรื่องของความเสื่อมและความไม่เสื่อม ซึ่งจะเป็นความรู้ให้เราสามารถนำมาพิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดในสังคมไทยได้
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ การที่ทรงแสดงอปริหานิยธรรม ก็เป็นการเตือนชาววัชชีว่า เธอทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติมั่นในธรรมเหล่านี้ ๗ ข้อ คือ อปริหานิยธรรม ๗ ประการนั่นเอง
อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เช่นการหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมใจกันเลิก เมื่อมีกิจใดที่เป็นของส่วนรวมเกิดขึ้น ก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดช่วยกันทำ ตลอดจนให้มีความเคารพนับถือสักการะ อนุสาวรีย์ปูชนียสถาน ซึ่งเป็นหลักใจของบ้านเมือง หรือของสังคม
พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงหลักการเหล่านี้ไว้และทรงสรุปว่า
“ถ้าชาววัชชี คือกษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ก็จะไม่มีความเสื่อม จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว” (ที.ม. ๑๐/๖๘)
นี่คือการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสเตือนอยู่เสมอว่า ให้พยายามตั้งตนอยู่ในธรรมเหล่านี้ แต่ในที่สุดความเสื่อมก็เข้ามา เพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ตรัสในโอกาสอื่นอีก ให้เห็นว่า เท่าที่เป็นมา กษัตริย์ลิจฉวีนั้น เป็นผู้ที่แข็งแกร่ง มีความหมั่นขยันในการฝึกฝนตนเอง เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่เห็นแก่ความสุขสำราญ จะนอนหมอนไม้ และหมั่นฝึกการรบตลอดเวลา
แต่พวกกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น เมื่ออาณาจักรของตนมั่นคงเข็มแข็งรุ่งเรืองขึ้น ก็จะเพลิดเพลินหลงมั่วเมาในความสุขต่างๆ หาความสุขจากการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ความเสื่อมก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา จนพ่ายแพ้แก่มคธ ถึงความพินาศในที่สุด
ในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นพระดำรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายไม่ให้ประมาท ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี พระองค์ได้ตรัสเตือนไว้ดังนี้
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ราชาแห่งแคว้นมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส”
“แต่ในกาลข้างหน้า พวกกษัตริย์ลิจฉวี จะกลายเป็นผู้สำรวย อ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น แล้วพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ราชาแห่งมคธ ก็จะได้ช่อง ได้โอกาส”
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เหล่าภิกษุยังนอนหนุนหมอนไม้ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบำเพ็ญเพียร มารร้ายย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส”
“แต่ในกาลนานไกลข้างหน้า เหล่าภิกษุจะเป็นผู้สำรวยอ่อนแอ มีมือเท้าอ่อนนุ่ม นอนบนเตียงฟูกฟู หนุนหมอนใหญ่หนาอ่อนนุ่ม จนตะวันขึ้น มารร้ายก็จะได้ช่อง ได้โอกาส”
“เพราะเหตุดังนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้หนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความขะมักเขม้นในการบำเพ็ญเพียร ภิกษุทั้งหลาย เธอจงศึกษาอย่างนี้”
(สํ.นิ.๑๖/๖๗๔-๖)
นี้คือเรื่องราวต่างๆ ที่น่าศึกษา ให้เข้าใจถึงความเสื่อมและความเจริญของบ้านเมือง ตลอดจนสังคมต่างๆ เป็นคติสอนใจพุทธศาสนิกชนจากเรื่องราวที่เป็นมาในประวัติศาสตร์
No comments:
Post a Comment