Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๑๘. ท่านปรีดีกับสถาบัน ตอนที่๓

เสด็จสวรรคต



หลังจากที่ท่านปรีดีฯ เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทตามรับสั่งเมื่อคืนวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๘๙ แล้ว รุ่งขึ้นเช้าวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน ก็ได้ทรงพระกรุณาประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภาและนายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

แต่ยังไม่ทันที่ท่านปรีดีฯ จะได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เหตุการณ์อันเศร้าสลด อันยังความเศร้าโศกให้กับคนไทยทั้งชาติก็เกิดขึ้นในตอนเช้าเวลาโดยประมาณ ๐๙.๒๕ นาฬิกา ของวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เมื่อเยาวกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทั้งชาติ ถูกพระแสงปืนสวรรคตบนพระแท่นบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ท่านปรีดีฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วนและได้เปิดประชุมเมื่อเวลา ๒๑.๑๐ นาฬิกาของวันที่ ๙ มิถุนายน นั่นเอง มีสมาชิกพฤฒสภาเข้าร่วมประชุม ๖๔ นาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๖๓ นาย รวมเป็น ๑๒๗ นาย

ท่านปรีดีฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงเหตุการณ์สวรรคตที่เกิดขึ้น เมื่อรายงานจบแล้วสมาชิกแห่งรัฐสภาได้ลุกขึ้นยืนไว้อาลัยแก่พระองค์ผู้จากไป และได้มีการซักถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายสอ เศรษฐบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ธนบุรี) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซักถามว่า

"ข้าพเจ้าอยากจะขอเรียนถามท่านอธิบดีกรมตำรวจในข้อที่สำคัญ คือว่านอกจากพระญาติวงศ์ซึ่งเข้าออกห้องพระบรรทมแล้ว มีใครบ้างที่เข้าได้บ้าง..."

พล ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ : เท่าที่ได้ฟังมาแล้วมีพระราชชนนี พระอนุชา และพวกมหาดเล็กห้องบรรทม (นายชิต สิงหเสนี, นายบุศย์ ปัทมศริน) พระพี่เลี้ยง (พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์) ส่วนคนอื่นใดนั้นข้าพเจ้ายังไม่ทราบ..."

พอมาถึงตอนนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนราษฎร (พระนคร) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ยุติการซักถามกันไว้ก่อน เพื่อคอยฟังแถลงการณ์ของรัฐบาล การถามตอบจึงยุติลง รัฐบาลจึงได้เสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งราชจักรีวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หมวด ๔ มาตรา ๙ ข้อ ๘ และด้วยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙ ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นที่น่าสังเกตว่าการขึ้นเสวยราชย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนั้นมีเลข ๙ เป็นกำลังสำคัญ คือ
เป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งราชจักรีวงศ์
ขึ้นเสวยราชย์ วันที่ ๙ มิถุนายน
ปีขึ้นเสวยราชย์ พ.ศ. ๒๔๘๙
ตามกฎมณเฑียรบาล หมวด ๔ มาตรา ๙ (๘)
และด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา ๙
แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙

หลังจากรัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์แล้ว นายกรัฐมนตรีท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้ว และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัย ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ"

ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโยสามครั้ง ต่อจากนั้นประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานพฤฒสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าไปถวายพระพรในพระบรมมหาราชวัง และกราบบังคมทูลอัญเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชนให้ขึ้นครองราชย์สมบัติตามมติของรัฐสภา

มีประกาศอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ ดังนี้

"ประกาศ
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
โดยที่ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎหมายมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
โดยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ที่ร่วมพระราชชนนี ตามความในมาตรา ๙ (๘) แห่กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗
โดยที่รัฐสภาได้ลงมติ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ แสดงความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี"


ต่อกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ฯ ปฏิปักษ์ทางการเมืองของท่านปรีดีฯ ทั้งที่ปฏิปักษ์ทางชนชั้นคือพวกเศษเดนศักดินากับปฏิปักษ์ทางทรรศนะคือ พวกเผด็จการ ต่างได้ฉวยใช้กรณีสวรรคตของพระองค์ท่านมาเป็นเครื่องมือทำลายท่านปรีดีฯ กล่าวหาท่านปรีดีฯ ด้วยวิธีการปล่อยข่าวลือและโฆษณาชวนเชื่ออย่างลับ ๆ ว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์

ท่านปรีดีฯ ได้ชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภาในวันประชุมที่อ้างแล้วข้างต้น ต่อข่าวลือใส่ร้ายป้ายสีมีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

"...เสียงลืออกุศลว่าคนนั้นคนนี้ออกมาแล้วไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องลือสืบเนื่องมาจากความอิจฉาริษยาเป็นมูลหรือมีบ่าวข่างยุ เป็นต้น เป็นมูลเหตุสืบเนื่องอย่างนั้น ... และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่องพระองค์นี้ ข้าพเจ้ารูสึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ซึ่งจงรักภักดีท่านมากที่สุดกว่าหลาย ๆ คน ในขณะที่ท่านประจำอยู่ในต่างประเทศหรือที่ท่านได้กลับมาแล้วก็ดี สิ่งใดอันเป็นสิ่งที่ท่านพึงปรารถนาในส่วนพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าจัดถวาย หรือบางสิ่งบางอย่างเมื่อท่านทรงรับสั่งถามข้อความอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงตามระเบียบแบบแผนของแนวรัฐธรรมนูญตามนิสัยของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าไม่อ้างพระนามหรือเอาพระนามของท่านไปอ้างในที่ชุมนุมชนใด ๆ ซึ่งบางแห่งทำกัน หรือในกรณีที่ท่านสวรรคตแล้ว ข้าพเจ้าก็พยายามที่สุดที่จะพยายามทำในเรื่องนี้ให้ข่าวกระจ่างเพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เราจะทำให้เรื่องเงียบอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทำอย่างคนบางคนทำโดยฉวยโอกาสเอาเรื่องสวรรคตของท่านไปโพทะนากล่าวร้าย

"และวันนั้นจะต้องกล่าวเสียด้วย ข่าวที่ข้าพเจ้าได้ทราบเกี่ยวแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น ข้าพเจ้าได้ทราบราวประมาณเกือบ ๑๐ นาฬิกา เวลานั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับอธิบดีกรมตำรวจได้มาที่บ้าน เนื่องจากกรรมกรมักกะสันสะไตร๊ค์ ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์เชิญราชเลขาไปด้วย เมื่อไปถึงแล้วเราอยู่ข้างล่าง ไม่ได้ขึ้นไปข้างบน เพราะเหตุว่า เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์จึงได้เชิญเจ้านายผู้ใหญ่มาพร้อมแล้วจึงขึ้นไปชั้นบน ส่วนในทางชั้นบนของท่านเป็นเรื่องที่ท่านทำปฐมพยายามในชั้นบน

"ข้าพเจ้าและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยเจ้านาย อันมีกรมขุนชัยนาทฯ เป็นผู้นำขึ้นไป ได้ขึ้นไปเป็นเวลาเที่ยงเศษ ๆ แล้ว ขึ้นไปดูพระบรมศพ และความจริงในการตรวจ เราจะไปถือกรณีพระมหากษัตริย์เหมือนเอกชนไม่ได้ ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้ารู้เรื่องวิธีพิจารณาความอาญาว่าเป็นอย่างไรและจะต้องทำอย่างไร? ก็ได้บอกกับอธิบดีกรมตำรวจว่าเราจะต้องทำให้แน่ชัด เช่น เหมือนอย่างว่าบอกให้หมอเอาโพลกไปใส่พระกะโหลก ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ราชาศัพท์ดี ได้ปรึกษาเจ้านาย นอกท่าน ท่านสั่นพระเศียร ข้าพเจ้าโดยทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าจะต้องผ่าพระกะโหลกก็เป็นเรื่องพระศพของพระมหากษัตริย์จะทำให้เสียพระราชประเพณี และวิธีพิจารณาทางอื่นก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินว่า เราจะต้องสอบถามผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและแพทย์ประจำพระองค์คือ คุณหลวงนิตย์ฯ เป็นผู้ปฐมพยาบาล..."

เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ต่อมาในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๘๙ ท่านปรีดีฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนสถาบันหลักของชาติ คือ ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลอาญา อธิบดีกรมอัยการ ประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สามพระองค์ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ และนายสอาด นาวีเจริญ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "คณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต" และในระหว่างที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวกำลังสอบสวนหาความจริงนั้น ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคการเมืองบางพรรคได้ฉวยโอกาสเอากรณีสวรรคตไปโฆษณาโจมตีรัฐบาล (ท่านปรีดีฯ) กระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกคำสั่งไปถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ประกาศอย่าให้ราษฎรหลงเชื่อคำโฆษณาอันเป็นเท็จนั้น คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๐๗/๒๔๘๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๙ มีข้อความบางตอนดังนี้

"ด้วยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนคราวนี้ ได้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนผู้สมัคร ซึ่งใช้สมญาว่าพรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ฉวยโอกาสการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงราษฎรให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อก่อให้เกิดความดูหมิ่นและกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล...เพื่อให้ราษฎรลงคะแนนให้แก่ตนหรือพรรคของตน ตามทางสืบสวนได้ความว่า พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้หลอกลวงให้ราษฎรเข้าใจผิดในหัวข้อต่อไปนี้ ฯลฯ

"๔ กล่าวหารัฐบาลว่าปิดข่าวเรื่องสวรรคต และใส่ร้ายรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วยประการต่าง ๆ ความจริงนั้นรัฐบาลไม่ได้ปิดบัง และต้องการที่จะให้กรรมการได้สอบสวนเรื่องนี้โดยยุติธรรมและเปิดเผย ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งกรรมการสอบสวน และวิธีปฏิบัติซึ่งมีตุลาการ อัยการ ประธานสภาทั้งสอง นายพลทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้านายชั้นสูง และการสอบสวนก็ให้ประชาชนไปฟังได้ นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของประเทศไทย ที่การสอบสวนเช่นนี้ได้กระทำต่อหน้าประชาชน จะหาว่ารัฐบาลปิดบังประการใด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชชนนี ก็ได้พระราชทานพระราชกระแสฯ ต่อกรรมการแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมิได้มีข้อขัดแย้งหรือไม่พอพระทัยในรัฐบาลแต่อย่างใด ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ถวายความจงรักภักดี และกระทำตามทุกสิ่งทุกอย่างตามพระราชประสงค์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว นายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้อัญเชิญทูลเสด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จกลับมาครองราชย์ มิได้ปรารถนาที่จะกุมอำนาจที่จะทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ และไม่ได้กระทำการขัดขวางอย่างใดแต่ตรงกันข้ามกลับอัญเชิญเสด็จกลับมามอบถวายราชสมบัติแด่พระองค์

"ในระหว่างที่พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ เมื่อมีผู้ปองร้ายต่อราชบัลลังก์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสียสละและเสี่ยงภัยเพื่อป้องกันราชบัลลังก์ให้ปลอดภัยตลอดมา เวลานั้นหามีผู้ใดเสี่ยงภัยเช่นนั้นไม่ แต่ตรงกับข้ามกลับประจบสอพลอผู้มีอำนาจ"

"รัฐบาลนี้มีความเสียใจที่พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ฉวยโอกาส เอาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในระหว่างที่พระองค์มีพระชนม์อยู่ ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์บางครั้งได้แอบอ้างว่า ในหลวงรับสั่งอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอยกตัวอย่างว่า ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ศกนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ลองไปร่วมประชุม ก็คงจะจำได้ว่า วันนั้นใครอ้างพระนามในหลวงไปพูดในที่ประชุมว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งพระองค์เองไม่ทรงทราบเรื่องอะไรเลย พระองค์ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นกลางและเป็นที่สักการะโดยแท้จริง

"ครั้นพระองค์สวรรคตแล้ว ก็เอาการสวรรคตของพระองค์เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไปอีก ได้พยายามปั้นข่าวเท็จตั้งแต่วันแรกสวรรคต ให้ประชาชนหลงเข้าใจผิด ทั้งในทางพูด ทางโทรศัพท์ ทางโทรเลข และทางเอกสารหนังสือพิมพ์ พวกเหล่านี้ไม่ใช่เป็นพวกที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เป็นพวกที่แสวงหาผลประโยชน์จากพระมหากษัตริย์ เพื่อความเป็นใหญ่ของตน และเพื่อการเลือกตั้งที่จะได้ผู้แทนซึ่งเป็นพวกของตน

"ดังจะเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ถ้าพวกนี้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ต่างประเทศ และในระหว่างที่ราชบัลลังก์ถูกกระทบกระเทือนในบางครั้ง และพระราชวงศ์ถูกผลปฏิบัติบางประการนั้น พวกประชาธิปัตย์บางคนซึ่งอ้างว่าจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งกว่าใคร ๆ นั้น ทำไมไม่เข้าเสี่ยงภัยคิดแก้ไขอย่างใดเลย แต่อาจมีบางคนกล่าวแก้ว่า เวลานั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ แต่ก็เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น ขอราษฎรอย่าได้เชื่อฟัง..."

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ฝ่ายปฏิปักษ์ยกขึ้นมาโฆษณาชวนเชื่อว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ เพราะว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้นิยมระบอบมหาชนรัฐ

ต่อโฆษณาชวนเชื่อนี้ในเวลาต่อมา แถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยในคดีสวรรคตได้ชี้ให้เห็นตอนหนึ่งว่า

"...การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมหาชนรัฐนั้น เป็นเรื่องของการเปลี่ยนสถาบันอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นเรื่องของการล้มเลิกสถาบันเสีย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนตัวบุคคลดังทัศนะของนักนิยมอำนาจ การฆ่ากษัตริย์จึงไม่ใช่วิธีการหรือธรรมนิยมของนักมหาชนรัฐ..."

และจดหมายของนายเลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่มีไปถึงท่านปรีดีฯ ที่ปารีส เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ ได้ปรารภเรื่องเดียวกันนี้ มีความตอนหนึ่งดังนี้

"...ผมเห็นว่าท่านอาจารย์มีกรรมเก่ามากกว่า เพราะถ้าพิจารณาถึงเหตุผลในเรื่องฆ่าในหลวงแล้ว ผมพูดเสมอว่า เมื่อมาถึงคั่นนั้นแล้ว ทำไมปรีดีฯ จึงยุติ (ไม่ประกาศเลิกล้มสถาบันกษัตริย์เสีย แล้วสถาปนามหาชนรัฐขึ้นแทน แต่นี่ท่านกลับอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นนั่งราชบัลลังก์ เป็นรัชกาลที่ ๙ สืบต่อมาจนถึงวันนี้) ทั้ง ๆ ที่สภาทั้ง ๒ อยู่ในกำมือ..."

No comments: