รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่าชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ ๑๕-๓๐ วัน และต้องเสียอากรค่านา”
ปรีดี พนมยงค์
“ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่าชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ ๑๕-๓๐ วัน และต้องเสียอากรค่านา”
ปรีดี พนมยงค์
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รายได้จากภาษีอากรของรัฐศักดินาส่วนใหญ่เก็บจากชาวนาซึ่งมีทรัพย์สมบัติน้อยอยู่แล้ว แทนที่จะเก็บตามความสามารถทางฐานะของบุคคล และที่อยุติธรรมที่สุดคือ ภาษีรัชชูปการอันเป็นเงินส่วยที่ราษฎรไพร่ต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา ท่านปรีดีเองมีความตั้งใจอยู่แล้วว่าจะต้องแก้ปัญหาภาษีที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หนึ่งในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร แม้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อท่านปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เมื่ออายุได้ ๓๘ ปี ในรัฐบาลของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ท่านปรีดีแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม ท่านปรีดียกเลิกภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรม อันได้แก่ ภาษีรัชชูปการและอากรค่านาซึ่งเป็น “เงินส่วย” ซึ่งราษฎรต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา และได้สถาปนา “ประมวลรัษฏากร” เป็นครั้งแรกในสยามประเทศ เป็นการวางรากฐานเกี่ยวกับบทบัญญัติภาษีอากรที่เป็นธรรมแก่สังคม คือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียมาก ผู้ใดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีมาก อันได้แก่ภาษีรายได้ ภาษีร้านค้า ภาษีธนาคาร ภาษีสุรา อากรมมหรสพ ฯลฯ
ท่านปรีดีคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในไม่ช้า เงินปอนด์ซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลดค่าลงได้ ท่านปรีดีจึงตัดสินใจเปลี่ยนการเก็บรักษาเงินทุนสำรองเป็นทองคำแท่งแทนเงินปอนด์ โดยนำเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองจำนวนหนึ่งไปซื้อทองคำแท่งหนัก ๒๗๓,๘๑๕ ออนซ์ในราคาออนซ์ละ ๓๕ เหรียญสหรัฐอเมริกาและนำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะใกล้ชิดจะเกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งดังกล่าวยังเป็นทุนสำรองเงินบาทมาจนทุกวันนี้ (ปี ๒๕๔๓)
งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของท่านปรีดีที่มีผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันคือการให้กำเนิดธนาคารชาติ นายปรีดีเขียนไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า ให้มีธนาคารชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐ คอยควบคุมธนาคารพาณิชย์ ทั้งเป็นผู้ออกธนบัตร รักษาทุนสำรองเงินตรา แต่ความคิดนี้ถูกฝรั่งที่ปรึกษาและคนไทยด้วยกันเองขัดขวาง ในเวลานั้นประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่แห่ง และเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด การมีธนาคารชาติคอยควบคุมธนาคารพาณิชย์จึงมิใช่เรื่องเร่งด่วนและต่างชาติที่เป็นเจ้าของธนาคารเกรงว่าธนาคารชาติจะเข้าไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของพวกตน
แต่เมื่อนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านมองเห็นว่า การจะสถาปนาประเทศให้มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มีความเจริญทัดเทียมต่างชาติ ไทยจำเป็นต้องมีธนาคารชาติ ท่านจึงได้ริเริ่มวางรากฐานอย่างจริงจังโดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้งธนาคารชาติไทย หรือที่รู้จักกันในนาม ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์
ในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ กล่าวในพิธีว่า “การตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย เป็นความดำริที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้มีมาแล้วแต่ช้านาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้วางรากฐานลงไว้ โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติโดยเป็นทบวงการเมืองสังกัดอยู่กับกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจอันอยู่ในหน้าที่ของธนาคารกลางไปก่อนบางประเภท และเตรียมการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นต่อไป การงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เจริญมาเป็นลำดับด้วยอาศัยปรีชาสามารถของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นเป็นสำคัญ”
No comments:
Post a Comment