Wednesday, February 14, 2007

บทความที่ ๔๖. ประวัติศาสตร์การเมือง: ความรุนแรงในอินโดนีเซีย

ประวัติศาสตร์การเมือง : ความรุนแรงในอินโดนีเซีย

ในวารสาร Asian Survey Vol.42, No.4 July/August 2002 ได้มีบทความที่ว่าด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ถึงประมาณเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ ผลกระทบของความรุนแรงนั้นว่ากันว่าเป็นการตอบโต้ความพยายามของพลพรรคคอมมิวนิสต์ของอินโดนีเซีย PKI (Partai Komunis Indonesia) ที่จะทำรัฐประหาร การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาหลังความรุนแรงนั้นคือ ระบอบการปกครองเผด็จการทหารของนายพลซูฮาโต ที่ยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตไปประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ทั่วประเทศ ไม่รวมผู้คนอีกนับแสนคนที่ถูกทรมาน จับกุมคุมขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เรื่องเหล่านี้เป็นที่น่าสนใจที่จะนำมาศึกษา ประการแรกเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนักว่า กลุ่มผู้นำทางการเมืองที่มีสายสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกองทัพ ย่อมไม่อยากจะพูดถึงความรุนแรงในระดับ “มหาศาล” ที่เกิดขึ้นในขณะที่ตนเองก้าวขึ้นสู่อำนาจ

กระนั้นก็ดีแม้ระบอบการปกครองของซูฮาร์โตก็ไม่ได้พยายามปฏิเสธว่าการเข่นฆ่าได้เกิดขึ้นจริง แต่เอกสารทางราชการหรือเอกสารกึ่งราชการของอินโดนีเซียก็จงใจละเลยที่จะพูดถึงการประหัตประหารโดยสิ้นเชิง และความรู้สึกโดยทั่วไปก็คือ เรื่องนี้ไม่อาจนำมาถกเถียงอภิปรายกันอย่างเปิดเผยได้

นอกจากงานเขียนในรูปของนิยายและเรื่องสั้นของนักเขียนอินโดนีเซียนแล้ว จึงกล่าวได้ว่าชาวอินโดนีเซียทั่วๆไปปฏิเสธที่จะเขียนหรือพูดถึงเหตุการณ์อันร้ายแรงนี้อย่างเปิดเผย สตรีอินโดนีเซียผู้หนึ่งตอบคำถามว่าสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็น”ปกติดี” ทั้งๆที่สามีของนางถูกฆ่าตาย เพราะเขาเป็นสมาชิกพรรค PKI ดังนั้นแม้ว่าผู้คนในชุมชนล้วนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๕-๖ แต่กว่าสี่สิบปีของการที่บุคคลเหล่านี้ต้องนิ่งเงียบ กว่าสี่สิบปีที่เรื่อง “บอกเล่า” อย่างนี้ไม่มีโอกาสได้รับการบอกเล่าซ้ำในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของครอบครัวหรือชุมชน จึงทำให้ความทรงจำ เหล่านี้ลบเลือนไปเองโดยธรรมชาติได้มาก

คำอธิบายภาพรวมของความจริงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ที่เป็นที่ยอมรับกันมีหลายชุด เช่นการให้น้ำหนักแก่บทบาทของฝ่ายทหารที่นำโดยนายพลซูฮาร์โตและพันธมิตรของตนในการลอบสังหารทางการเมืองที่กระทำแก่คู่แข่งทางการเมือง คือพรรคคอมมิวนิสต์ PKI ทั้งนี้ไม่ว่าซูฮาร์โตจะมีส่วนรู้เห็นในการสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารในวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๖๕ หรือไม่ก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมากและความกว้างขวางของการมีส่วนร่วมของมวลชนในขบวนการเข่นฆ่าดังกล่าว(โดยไม่ต้องพิจารณาถึงบทบาทของกองทัพอินโดนีเซีย)ทำให้เกิดคำอธิบายว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองในอินโดนีเซียเมื่อปี ๑๙๖๕ นั้นเด็ดขาดสูงสุดอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสะท้อนถึงความกดดันอันรุนแรงที่บีบคั้นสังคมจนรับไม่ได้ถึงขนาดปะทุออกมาในรูปของความรุนแรงของมวลชนมากกว่าที่จะเกิดจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

ในขณะเดียวกันก็มีคำอธิบายที่อาจแยกออกไปอีกว่า การประหัตประหารกันครั้งใหญ่นี้หลักๆแล้วเป็นผลมาจากการเร่งเร้าความเป็นปฏิปักษ์อันล้ำลึกและสลับซับซ้อนในระดับท้องถิ่นที่สืบเนื่องมาจากการขยายฐานทางการเมืองของพลพรรค PKI ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่กดดันทุกฝ่ายอย่างมาก ในช่วงของระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ของประธานาธิบดีซูการโน (นึกถึงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนระดับรากหญ้าและมีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้งหลายสมัย จึงกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังให้แก่พรรคคู่แข่งและกลุ่มผู้เสียประโยชน์)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร”และ “การตอบโต้รัฐประหาร” ขึ้นในวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๖๕ สถานการณ์ก็สุกงอมจนเกิดความรุนแรง ท้ายที่สุดก็ยังมีคำอธิบายว่า วัฒนธรรมของอินโดนีเซียเป็นวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงที่รัฐเองมีบทบาทในการยอมรับ และแม้แต่สร้างวัฒนธรรมนักเลงหัวไม้ ที่ใช้วิธีการนอกกฏหมาย การลักขโมยหรือแม้แต่ฆาตกรรม ให้เกิดขึ้นตราบเท่าที่มันเป็นประโยชน์ในทางการเมือง !!!

แต่ในขณะที่นักวิชาการอาจถกเถียงกันได้มากมายว่าอะไรเกิดขึ้น “จริงๆ”ในเหตุการณ์ ๑๙๖๕-๑๙๖๖ เช่น บ้างก็ว่า พลพรรค PKI เป็นผู้ริเริ่มการรัฐประหารด้วยการสังหาร ๖ นายพลของกองทัพ บ้างก็ว่า การ”รัฐประหาร” เป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในกองทัพเองหรือบ้างก็ว่า นายพลซูฮาร์โตเป็นผู้นำการรัฐประหารหรืออย่างน้อยก็บิดเบือนและใช้ประโยชน์จากการตายของกลุ่มนายพล บ้างก็ว่าประธานาธิบดีซูการโนอนุญาตหรือสนับสนุนให้นายทหารที่ไม่พอใจดำเนินการกับกลุ่มนายพลเหล่านั้น และบ้างก็ว่า การปฏิบัติงานลับของต่างประเทศ(C.I.A) มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในความพยายามที่จะขจัดประธานาธิบดีซูการโน ซึ่งมีทีท่าว่าฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย ให้ออกไปจากบทบาทผู้นำอินโดนีเซียและจากบทบาทผู้นำในกลุ่มโลกที่สาม

สำหรับทางการอินโดนีเซียแล้ว ความจริงที่เป็น “ทางราชการ”มีอยู่หนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียหลังเหตุการณ์ดังกล่าว จึงแสดงออกผ่านช่องทางต่างๆรวมถึงในหลักสูตรการเรียนการศึกษาว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย PKI เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบในการฆ่าเหล่านายพล และเพราะฉะนั้นพรรค PKI จึงเป็นกลุ่มพลังที่ทรยศต่อชาติ และควรที่จะถูกขจัดออกไปจากทุกระดับของสังคม

จะเห็นได้ว่าการควบคุมวาทกรรมภายในสังคมอย่างเคร่งครัดรวมถึงการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีการปฏิบัติต่อผู้ที่มีทัศนะตรงกันข้ามอย่างรุนแรง ทำให้บรรยากาศของภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์กลายเป็นสิ่งที่ระบบการปกครองของซูฮาร์โตสามารถนำไป “สร้าง” เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองได้เสมอ

แม้เมื่อล่วงเข้ามาในศตวรรษของ ค.ศ. ๑๙๙๐ จะมีข้อเขียนของชาวอินโดนีเซียเอง ประเภทบันทึกช่วยจำส่วนตัวว่าด้วยเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๕ ออกมาบ้าง แต่หนังสือเหล่านั้นล้วนถูกห้ามเผยแพร่โดยทางการ ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ออก “หนังสือปกขาว” ของทางการที่ยังคงยืนยันว่า หน่วยปฏิบัติงานลับของ PKI คือผู้มีบทบาทหลักในการก่อให้เกิดเหตุการณ์ ค.ศ. ๑๙๖๕ ขึ้น

ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายพลซูฮาร์โตพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว เพราะปรากฏว่า แม้งานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ ค.ศ. ๑๘๖๕ ที่ขัดแย้งกับความจริงของราชการจะตีพิมพ์ได้ แต่ความพยายามของประธานาธิบดีอับดุลราห์มาน วาฮิด เองซึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ที่จะยกเลิกกฎหมายห้ามลัทธิมาร์กซิสต์-เลนิน กลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากเกือบจะทุกส่วนของสังคมถึงขนาดลุกลามไปสู่การคุกคามว่าจะมีการใช้กำลังกับกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิ์ให้กับเหยื่อในกรณี ค.ศ. ๑๙๖๕ ด้วยซ้ำ

รวมถึงความคิดที่จะตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริงและการปรองดองแห่งชาติ (Komisi Independent Pencari Kebenaran untuk Prkonsiliasi National) ซึ่งกำหนดให้หาความจริงในประเด็นสำคัญๆ อย่างการใช้ความรุนแรงในติมอร์ตะวันออก อิเรียนจายา อาเจะห์ และรวมถึงเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้

ปฏิกิริยาเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ ปี ค.ศ. ๑๙๖๕ นั้นยิ่งใหญ่เกินไปในแง่ของเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเผย “ความจริง” รวมถึงความรู้สึกผิดร่วมกันของสังคมที่มีแรงจูงใจให้อยากปิดบังความจริงนี้อีกต่อไป

ล่าสุดคือ ความพยายามที่จะออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความจริงและการปรองดอง (Truth and Reconciliation Commission) ซึ่งในทางปฏิบัติแม้คลอดเป็นกฎหมายมาได้จริงๆ ก็ยังต้องประสบปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเมื่อมีผู้รอดชีวิตเหลืออยู่ พยานรู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมากจะอยู่ในวัยชราหรือเสียชีวิตไปแล้ว

เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า “ความเงียบ” คือชีวิตส่วนนี้ที่รัฐบาลเดิมเคยบีบบังคับให้คนหล่านี้ต้องดำรงมาก่อน และแม้เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำรัฐบาลแล้ว แต่กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งแน่นอนว่ายังโยงใยถึงเหตุการณ์ ค.ศ. ๑๙๖๕ ก็ยังคงมีอยู่

สำหรับฝ่ายทีมีอำนาจนั้นสามารถจัดการกับ ”ความจริง” ได้หลายรูปแบบ เช่น การที่รัฐบาลซูฮาร์โตไม่ปฏิเสธว่าเกิดความรุนแรงขึ้นและพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจหรือเชื่อว่า ความรุนแรงในระดับที่เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้นั้น เป็นการเสริมอำนาจของตนทางอ้อมที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะ “ความทรงจำ” ว่าทหารเคยทำอะไรไว้แก่ประชาชน และประชาชนเองสามารถเข่นฆ่ากันเองได้อย่างมโหฬาร นี้เองเป็นเครื่องเตือนความจำว่าอินโดนีเซียนั้นจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มั่นคง

ว่ากันว่าความกลัวว่าการโค่นล้มรัฐบาลของซูฮาร์โตจะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ในที่สุดแล้ว ซูฮาร์โตต้องหลุดพ้นจากอำนาจไปในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ นั่นล่าช้าเกินไปพอสมควร

ในแง่หนึ่งนั้น วิธีจัดการกับ “ความจริง” ของซูฮาร์โตในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรนักจากคำเตือนของประวัติศาสตร์อินโดนีเซียว่า ความพยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๕ จะเปิดบาดแผลของชาติและสนับสนุนให้เกิดการแก้แค้น ขึ้นมาอีก







No comments: