Sunday, February 11, 2007

บทความที่ ๓๐. โทษของการคบอสัตบุรุษเรื่องของอชาตศัตรู

โทษของการคบอสัตบุรุษ

ในสมัยพุทธกาลมีแว่นแคว้นใหญ่ๆอยู่ ๑๖ แคว้น แคว้นที่ชาวพุทธเราคุ้นเคยกันดีเพราะถูกกล่าวถึงบ่อยในพระไตรปิฎกก็ได้แก่ มคธ โกศล วัชชี

ในสมัยนั้นแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีแข่งอำนาจกันมาก แคว้นโกศลก็รบกับแคว้นมคธแต่เพียงนิดหน่อยเท่านั้น แคว้นมคธปกครองแบบราชาธิปไตย อยู่ติดกับแคว้นวัชชีซึ่งปกครองแบบสามัคคีธรรม ฝรั่งเรียกการปกครองแบบนี้ว่า republic หรือที่คนไทยเรียกกันว่า สาธารณรัฐ นั่นเอง อย่างไรก็ตามคำว่า “การปกครองแบบสามัคคีธรรม” เป็นการจับเอาสาระมาเรียกในภายหลัง เพราะในพระไตรปิฎก ท่านเรียกราชาที่ปกครองแบบนี้ว่า “คณราช” (เช่น วินย.อ.๑/๒๔๗; สํ.อ.๓/๑๐๒)

ในการปกครองแบบสามัคคีธรรมนั้น มิได้มีผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว แต่ใช้วิธีที่ว่ามีชนชั้นปกครองจำนวนหนึ่งซึ่งมากถึง ๗,๗๐๗ องค์ หมุนเวียนกันขึ้นมาปกครอง เวลาจะบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องมีการประชุมในสภา ซึ่งมีหอประชุมที่เรียกกันว่า สัณฐาคาร เมื่อมีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจหรือวินิจฉัยกัน เช่นจะรบหรือไม่รบกับต่างแคว้น เหล่าผู้ปกครองก็จะมาประชุมหารือกันเพื่อตัดสินใจในสัณฐาคาร

ในแคว้นวัชชี มีกษัตริย์หลายเหล่าที่อยู่ร่วมกันภายใต้ชื่อแคว้นวัชชี ได้แก่กษัตริย์มัลละ กษัตริย์วิเทหะ และกษัตริย์ลิจฉวี (ใครเป็นนักเรียนยุคก่อนโน้นก็จะจดจำเจ้าลิจฉวี ใน สามัคคีเภทคำฉันท์ ได้) เหล่าเจ้าลิจฉวีเป็นพวกที่เข้มแข็งกว่าเหล่าอื่น

การรบพุ่งครั้งสำคัญของแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีเกิดขึ้นในปลายสมัยพุทธกาล ซึ่งในขณะนั้นแคว้นมคธปกครองโดยพระเจ้าอชาตศัตรูพระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เรื่องราวของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา จะขอยกมาเล่าให้พอระลึกกันได้บ้าง ดังนี้

พระเจ้าอชาตศัตรู

เมื่อครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประสูตร พราหมณ์ทั้งหลายได้ทำนายทายทักว่าพระโอรสผู้นี้จะทำปิตุฆาต ขอให้พระองค์ตัดสินพระทัยกำจัดพระโอรสนี้เสีย แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ไม่อาจหักใจกำจัดพระโอรสผู้บริสุทธิ์ ไร้เดียงสาได้ลง พระองค์ทรงเมตตาเอ็นดู ต่อพระโอรสทุกอย่าง กาลเวลาก็ล่วงเลยไป จากพระราชโอรสเยาว์วัยก็เติบใหญ่เป็นพระราชกุมาร วี่แววของการจะทำปิตุฆาตพระราชบิดาของตนเองก็ไม่ปรากฏ จนกระทั่งวันหนึ่ง

พระราชกุมารเสด็จประพาสอยู่ในพระราชอุทยาน ทรงนั่งพักผ่อนอยู่ ก็ปรากฏร่างของเด็กหนุ่มผู้มีงูใหญ่พันอยู่รอบกาย ลอยอยู่บนนภากาศ ร่างนั้นลอยมาลงตรงพระพักตร์พระราชกุมาร เด็กหนุ่มผู้นั้นได้เอ่ยปากว่า อย่ากลัวไปเลยพระกุมาร พระราชกุมารทรงอัศจรรย์ใจในอภินิหารนั้น และทรงเลื่อมใสยิ่งขึ้น เมื่อเด็กหนุ่มผู้นั้นหายร่างไปกลายเป็นพระเทวทัตปรากฏขึ้นแทน พระเทวทัตเมื่อยังจิตของอชาตศัตรูกุมารให้เลื่อมใสนับถือในปาฏิหาริย์แล้ว ก็ได้สอนสั่งและน้อมนำจิตใจพระกุมารให้คิดเห็นคล้อยตามตนตั้งแต่นั้นมา


ความริษยาของพระเทวทัต

การที่พระเทวทัตผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปวารณาตนเป็นพุทธสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มากระทำการให้พระราชกุมารอชาตศัตรูยอมรับนับถือหมดจิตหมดใจอย่างนี้ ก็หาได้เป็นเพราะต้องการจะให้พระโอรส เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดไม่ แท้จริงแล้วพระเทวทัตต้องการจะสร้างตนเองให้ยิ่งใหญ่เทียบเสมอกับพระพุทธองค์ ด้วยว่าพระเทวทัตมีนิสัยอิจฉา ริษยา พระผู้มีพระภาคตั้งแต่เมื่อยังเป็นเจ้าชายด้วยกัน เพราะสิทธัตถะกุมารทรงเหนือกว่าเทวทัตกุมารทุกทาง ไฟแห่งความเคียดแค้นริษยา ในใจเจ้าชายเทวทัตได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น

กาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งภิกษุหลายหมื่นรูปแวดล้อม เสด็จกลับมาโปรดเจ้าศากยะทั้งหลายตามคำทูลเชิญของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมโปรดหมู่พระญาติเป็นอันมาก เหล่าพระประยูรญาติใดผู้มีพระโอรส ก็ให้พระโอรสของตนบวชติดตามพระผู้มีพระภาค หากผู้ใดไม่ให้พระโอรสออกบวชก็จะเป็นที่เสียหน้าอย่างมากในหมู่ศากยะด้วยกัน ดังนี้แล้วเจ้าชายเทวทัตจึงออกบวชตามเจ้าชายทั้งหลายทั้งหลายมีเจ้าชายอานนท์และเจ้าชายอนุรุทธะเป็นต้น

กาลเวลาผ่านไปเมื่อเจ้าชายทั้งหลายบวชได้ไม่นาน เจ้าชายศากยะเหล่านั้นบัดนี้ได้เป็นพระอริยะขั้นต่างๆ เช่น ท่านพระอนุรุทธะได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมอภิญญา ๖ เป็นเอตทัคคะด้านผู้มีจักษุทิพย์ ส่วนท่านพระอานนท์ได้บรรลพระโสดาบัน เป็นต้น แต่พระเทวทัตไม่ได้บรรลุความเป็นพระอริยะใดๆเลย ได้แต่เพียงอภิญญา ๕ ทำอิทธิฤทธิได้ต่างๆ และด้วยอิทธิฤทธินี่เองที่ทำให้เจ้าชายอชาตศัตรูผู้อ่อนต่อเล่ห์เหลี่ยม อันชั่วร้ายลึกซึ้ง ได้ยอมรับนับถือ และคิดเห็นคล้อยตาม ตามแต่จะถูกพระเทวทัตชักจูง

เมื่อคราวภิกษุทั้งหลายไปบิณฑบาตรตามหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าในคราวที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงอารธนาเพื่อให้ชาวเมืองราชคฤห์ได้ร่วมใจกันถวายทาน เป็นสามัคคีทาน เหล่าพุทธบริษัททั้งคหบดีและชาวบ้านทั้งหลายเมื่อได้ถวายภัตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ต่างก็ถามกันว่า ท่านธรรมเสนาบดีสารีบุตรของพวกเรานั่งที่ไหน ท่านพระโมคคัลนะของพวกเรานั่งที่ไหน ฯลฯ แต่ไม่มีใครถามว่าพระเทวทัตของพวกเรานั่งที่ไหน ดังนี้

ความเลื่อมใสนับถือในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเถระผู้อริยเจ้าทั้งหลายก็สร้างความอิจฉา ริษยา ให้แก่พระเทวทัต จึงคิดขึ้นว่า “พระสมณโคดมได้ลาภมาก ได้โภคะมาก ชื่อเสียงขจรขยายไป ได้การยอมรับนับถือจากประชาชน ก็เพราะมีพระราชาสนับสนุนนี่เอง หากตัวเรามีพระราชาสนับสนุนบ้างแล้วละก็ ความยิ่งใหญ่ สักการะใหญ่ ชื่อเสียง ทั้งหลายทั้งปวงก็จะไหลมาสู่เราเป็นแม่นมั่น ก็แต่ว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นโสดาบันบุคคล มีความเสื่อมใสในพระพุทธเจ้าไม่คลอนแคลนเสียแล้ว เราจักหาพระราชาที่ไหนมาสนับสนุนให้เรายิ่งใหญ่ได้เล่า”

แต่นั้นพระเทวทัตก็นึกได้ถึงพระกุมารอชาตศัตรูว่า “เจ้าชายพระองค์นี้จะจะต้องได้ขึ้นครองราชสมบัติสักวันหนึ่งเป็นแน่แท้ แต่ก็ยังอีกหลายสิบปี เห็นทีจะรอไม่ไหว จำเราจะต้องสร้างการยอมรับนับถือให้เกิดแก่เจ้าชายและเราค่อยวางแผนการให้เจ้าชายโค่นบัลลังก์พระเจ้าพิมพิสาร ต่อเมื่อเจ้าชายได้เสวยราชสมบัติเป็นพระราชาแล้ว ทีนี้แล้วเราก็จะได้ครองความยิ่งใหญ่ยิ่งไปกว่าพระสมณโคมแน่แท้”


ปลุกปั่นโน้มน้าว

จากวันที่เจ้าชายอชาตศัตรูได้รับการสอนสั่งจากพระเทวทัต จนเรียกหาเป็นพระราชครู พระเทวทัตก็ได้เสี้ยมสอนให้เจ้าชายปรารถนาในราชสมบัติ แรกๆเจ้าชายก็ทักท้วงว่า พระองค์มีครบในทุกสิ่งที่ทรงพระสงค์แล้ว พระเทวทัตก็หาอุบายวิธีที่จะกล่าวให้เห็นว่าพระองค์นั้นเติบใหญ่แล้ว หากจะรอให้พระราชบิดาสละพระราชสมบัติซึ่งก็อีกหลายสิบปี ดูท่าว่าเจ้าชายก็จะทรงล่วงเข้าวัยกลางคน หมดโอกาสจะได้ทำสิ่งต่างๆ ดังคำที่ว่า หยดน้ำทีละหยด ก็ทลายหินผาได้ ในที่สุดเจ้าชายก็ถูกโลภะความต้องการในกามคุณทั้งหลายครอบงำ ทรงหาทางยึดอำนาจทางทหารทีละน้อย จนในที่สุดก็สามารถสั่งการให้ทหารจับพระเจ้าพิมพิสารไปกักขังไว้ในคุกหอคอยสูง แล้วพระองค์ก็ยึดเอาอำนาจมาจากพระราชบิดา แต่กระนั่นพระเทวทัตก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า พระองค์ได้อำนาจมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะอาจจะมีพวกราชบุรุษบางกลุ่มนำกำลังเข้าต่อสู้แล้วชิงราชบัลลังก์ถวายคืนแก่พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ต้องกำจัดพระราชบิดาเสีย

เจ้าชายอชาตศัตรู ผู้บัดนี้เหมือนคนขี่บนหลังเสือ ไม่มีทางลงหรือทางถอยกลับได้เสียแล้ว แต่พระองค์ก็ไม่อาจหักใจสั่งประหารพระราชบิดาผู้ไม่มีความผิดใดๆได้ จึงสั่งให้ลดการส่งอาหารแก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ยังทรงอยู่ได้ด้วยอาหารแม้เพียงเล็กน้อย เพราะจำเดิมแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงได้บรรลุพระโสดาบัน อันว่าความกลัวตายนั้นเป็นไม่มี เพราะพระอริยะได้ปิดประตูอบายคือจะไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย มีแต่สุคติเป็นที่ไป ไม่ว่าจะต้องอดพระกระยาหารหรือทุกข์ทรมานกายอย่างไร พระองค์ก็มั่นคงในกรรมและผลของกรรมอย่างไม่คืนคลาย นี่เป็นปัญญาที่ละความเห็นผิดอย่างเป็นสมุจเฉทแล้ว ดังนั้นไม่ว่าพระองค์จะถูกนำไปประหารชีวิตหรือถูกให้อดอาหารจนตาย พระองค์ก็ไม่ครั่นคร้าม

อีกประการหนึ่ง ก็ผู้ที่กระทำต่อพระองค์นั้นคือ เลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์เอง พระองค์ไม่มีความโกรธ เคียดแค้นพระโอรสแต่อย่างใดเลย พระองค์มีแต่ความเมตตาในพระโอรส ที่กระทำลงไปด้วยความเห็นผิด หลงผิด เพราะคบหา อสัตบุรุษ เป็นอกัลยาณมิตร จึงเดินในหนทางที่ผิด และจักมีสัมปรายภพคือทุคติเป็นที่ไป พระองค์รู้ว่าพระโอรสจะต้องเสียพระทัยในวันข้างหน้า ซึ่งวันนั้นก็มาถึง

อนันตริยกรรม

เมื่ออาหารที่ส่งไปลดลงๆ แต่พระราชบิดาก็ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ เจ้าชายจึงสั่งงดอาหารและน้ำ แต่กระนั้น พระราชมารดาของเจ้าชายก็ลอบนำน้ำและอาหารเข้าไปขณะไปเยี่ยมพระสวามี จนเวลาผ่านไปพระราราชบิดาก็ยังไม่สวรรคตเสียที เจ้าชายเมื่อทรงทราบว่าพระราชบิดาอยู่ได้ด้วยอาหารที่พระมารดาแอบนำเข้าไป จึงสั่งห้ามพระราชมารดาเข้าไปเยี่ยมอย่างเด็ดขาด

เวลาผ่านไป พระเจ้าพิมพิสารแม้ไม่ได้เสวยพระกระยาอาหารใดๆเลย พระองค์ก็ไม่เสียพระทัย ทรงเดินจงกรม เจริญกุศลอยู่ในห้องขังนั้น และเมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรออกไปนอกห้องขัง ทรงแลเห็นเขาคิชกูฏและพระเวฬุวันที่พระองค์ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเมื่อครั้งพระองค์ได้สดับพระธรรมและบรรลุพระโสดาบัน พระองค์จึงทรงยังพระหฤทัยให้เป็นไปในกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว พระทัยของพระองค์ก็แช่มชื่น แม้ไม่ได้เสวยพระกระยาหาร แต่พระองค์ก็ยังทรงพระชมม์อยู่ได้

ใจที่ร้อนเร่าของเจ้าชายผู้บัดนี้ความมืดบอด โง่เขลาได้ครอบงำอย่างสิ้นเชิงแล้ว พระองค์ทรงทราบว่าพระราชบิดาทรงพระชนม์อยู่ได้ด้วยสมณธรรมคือการเดินจงกรม พระองค์จึงสั่งให้ราชบุรุษใช้มีดกรีดฝ่าพระบาทของพระราชบิดา ให้ได้รับความเจ็บปวด ให้เดินจงกรมไม่ได้ และให้ย้ายห้องขังไม่ให้ได้แลเห็นเวฬุวันเสีย

วันหนึ่ง พระมเหสีของเจ้าชายอชาตศัตรูทรงประสูติกาลพระโอรส เจ้าชายทรงปิติยินดี เมื่อทรงอุ้มชูพระทารกน้อยนั้น ก็ตรัสว่า “ทารกน้อยนี้ช่างน่ารัก น่าเอ็นดู ไร้เดียงสา เสียจริง มือน้อยๆ เท้าน้อยๆของเจ้านี้ช่างน่าทะนุถนอมเหลือเกิน โอ้ ..ข้าจะดูแลเจ้าให้เติบใหญ่ ให้ได้รับความสวัสดีทั้งปวง” เมื่อตรัสดังนี้พระองค์จึงระลึกขึ้นได้ว่า อันความรักที่พระองค์มีต่อทารกน้อย ก็เป็นเช่นกับความรักที่พระราชบิดามีต่อพระองค์เมื่อยังทรงพระเยาว์ ความรู้สึกรักในพระราชบิดาก็ เอ่อล้น ท่วมท้นพระทัยของเจ้าชายผู้หลงผิด

พระองค์ทรงรีบดำเนินไปยังห้องคุมขัง ในระหว่างทางทรงหวังพระทัยลึกๆว่า “คงจะยังไม่สายเกินไป บัดนี้ข้าได้สำนึกผิดแล้ว ขออย่าให้การณ์สายเกินไปเลย เสด็จพ่อบัดนี้ลูกรู้คุณของพ่อแล้ว ขอพระองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่เถิด ขอพระพรหมจงรักษาชีวิตพ่อของข้าไว้ก่อน”

.........

ในปลายพุทธกาล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายหลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้มาเฝ้าและพระผู้มีพระภาคได้แสดงสามัญญผล แก่พระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปพระราชนิเวศน์แล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากเธอมิได้ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดาผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมแล้ว ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน จักเกิดแก่พระองค์ ณ ที่ประทับทีเดียว”

ด้วยผลของกรรมหนักอันหากรรมอื่นมาลบล้างไม่ได้ พระเจ้าอชาตศัตรูต้องไปบังเกิดในโลหกุมภีนรก อันยืดยาวนานหลายหมื่นปี นี่เป็นผลของการคบอสัตบุรุษ ไม่คบสัตบุรุษ ไม่คบหากัลยาณมิตร เรื่องราวของเจ้าชายอชาตศัตรูได้เป็นอุทาหรณ์แก่ชาวพุทธให้เห็นโทษภัยของการคบมิตรชั่ว มาจนถึงทุกวันนี้

No comments: