Friday, February 23, 2007

บทความที่ ๖๖. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๒

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
ถูกเหยียดหยาม

เมื่อพิมเรียนจบชั้นประถม รามจิผู้บิดาก็ไม่ได้ให้บุตรชายหยุดการศึกษาไว้เพียงแค่นั้น เพราะถึงแม้เขาจะยากจนแต่ก็เห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นหนทางเดียวที่จะให้ลูกชายได้ยกระดับตนเองขึ้นไป ชีวิตในโรงเรียนมัธยมทำให้พิมได้เริ่มรู้จักความชอกช้ำที่คนในวรรณะเช่นเขาได้รับจากคนวรรณะอื่น

ครั้งหนึ่งเมื่อโรงเรียนปิดภาคเรียน พิมกับพี่ชายและหลานชายตัวเล็กๆผู้เป็นลูกของพี่สาว จะเดินทางไปหารามจิผู้ไปทำงานอยู่ต่างถิ่นซึ่งเป็นหมู่บ้านในชนบทที่ไกลจากการคมนาคม เขาได้เขียนจดหมายไปล่วงหน้านัดหมายให้มารอรับที่สถานีรถไฟ แต่จดหมายไปไม่ถึงตามกำหนด รามจิไม่ได้รับจดหมายจากลูกๆจึงไม่ทราบว่าพวกเขาจะเดินทางมา

เด็กๆทั้งสามเมื่อลงจากรถไฟแล้ว ก็นั่งรออยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงก็แน่ใจว่าพ่อคงไม่ได้รับจดหมาย จึงพากันไปร้องขอความช่วยเหลือจากนายสถานี ให้ช่วยแนะนำว่าจะเดินทางไปที่หมู่บ้านแห่งนั้นได้อย่างไร แต่นายสถานีผู้ใจดำก็ไม่ได้แยแสความเดือดร้อนของเด็กๆเลย เด็กๆก็รบเร้าจนนายสถานีทำรำคาญไม่ไหวจึงถามพวกเกวียนว่าจะมีผู้ใดเดินทางผ่านหมู่บ้านแห่งนั้นบ้าง บังเอิญว่ามีเกวียนอยู่เล่มหนึ่งจะผ่านไปทางนั้น นายสถานีจึงติดต่อว่าจ้างโดยให้พวกเด็กออกค่าโดยสารเอง เด็กทั้งสามดีใจที่จะได้ไปถึงที่หมายแม้จะนั่งเกวียนไปก็ไม่ลำบากมากนัก

เด็กทั้งสามนั่งเกวียนไปพลางสนทนากันไป และจากการสนทนาของเด็กๆนี่เองทำให้นายสารถีผู้บ้าคลั่งในเรื่องวรรณะรู้ว่าเด็กทั้งสามคนที่แต่งตัวสะอาดหมดจนนี้เป็นอธิศูทร เขาจึงโกรธอย่างสุดขีด ขับไล่เด็กทั้งสามลงจากเกวียนทันที โดยเชื่อว่าเด็กทั้งสามจะนำความอัปมงคลมาให้แก่เขา วัวและเกวียนของเขาจะเป็นราคี อีกทั้งเขายังจะลงมือเด็กทำร้ายเด็กทั้งสามเสียอีก เด็กๆจึงยกมือไหว้อ้อนวอนขอความเมตตา และเพิ่มค่าโดยสารเกวียนเพิ่มให้อีกเท่าหนึ่ง นายสารถีผู้อำมหิตจึงรับเงินไว้แต่ไม่ยอมให้เด็กๆโดยสารไปด้วย เด็กทั้งสามคนจึงรอดพ้นจากการถูกทำร้าย แต่ก็ต้องเดินตามหลังเกวียนไป

พวกเขาเดินด้วยเท้าตั้งแต่บ่ายจนถึงเที่ยงคืน ด้วยความหิวกระหายเป็นที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจะหาน้ำดื่มได้เลย ทุกแห่งหนที่พวกเขาเข้าไปขอน้ำดื่ม สิ่งที่ได้รับคือคำด่าบริภาษอย่างหยาบคายและไล่หนีไปให้พ้น นี่คือความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์ร่วมชาติ ร่วมศาสนา เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกระทำต่อกันอย่างบอดเขลาหลงในสิ่งสมมติเรื่องวรรณะอันเป็นเรื่องปั้นแต่งเพื่อกดขี่คนอื่นไว้ให้รองรับความสุขสบายของคนวรรณะอื่น

อีกเรื่องหนึ่งที่พิมได้รับการเหยียดหยามเพียงเพราะเขาเกิดมาในสังคมที่กำหนดค่าเขาไว้เพียงคนชั้นต่ำ คือ พิมไปร้านตัดผมเพื่อจะจ้างให้ช่างตัดผมให้เขา แต่เมื่อช่างตัดผมรู้ว่าเขาเป็นคนอธิศูทรจึงกล่าวแก่เขาว่า “ฉันยินดีตัดผมให้แก่ทุกคน หรือแม้แต่รับจ้างตัดขนสัตว์เดรัจฉาน แต่จะไม่ยอมให้กรรไกรของฉันแตะต้องผมของลูกนอกวรรณะอย่างแกเป็นเด็ดขาด” แล้วขับไล่ให้พิมออกจากร้านไปโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะเจ็บตัว พิมจึงรู้ว่าตนเองถูกเหยียดหยามอย่างต่ำช้ายิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เวลาจะตัดผมพี่สาวจึงต้องทำหน้าที่กัลบกให้เขาตลอดมาจนกระทั่งเขาโตเป็นหนุ่ม

เหตุการณ์เหล่านี้ฝังอยู้ในส่วนลึกของหัวใจพิมตลอดเวลา เขาเริ่มทราบถึงสภาพและฐานะทางสังคมของตนเองและคนนอกวรรณะทั้งหลายดีขึ้นโดยลำดับ เขาตั้งคำถามแก่ตนเองเสมอว่า ทำไมจึงมีคนในวรรณะและนอกวรรณะ ตอนนั้นเขาก็ยังหาคำตอบอันถูกต้องแก่ตนเองได้

ชีวิตในโรงเรียนมัธยมเป็นชีวิตทีขมขื่นและเบื่อหน่ายสำหรับพิม แต่เขาก็อดทนต่อสู้ เพราะรามจิบิดาของเขาสอนไว้ว่า คนที่ไม่มีความอดทน ไม่รู้จักต่อสู้อุปสรรคจะเป็นคนที่พระเจ้าทอดทิ้งและจะหาที่พึ่งแก่ตนเองไม่ได้ บรรยายกาศของโรงเรียนเหมือนเป็นขุมนรกสำหรับพิม ครูในโรงเรียนทุกคนเป็นวรรณะพราหมณ์ ที่สมมติตัวเองว่าเป็นคนชั้นสูง แต่หามีเมตตาในจิตนักนิดไม่ พิมจะถูกครูสั่งบังคับให้ไปนั่งอยู่มุมห้องเรียน และใช้กระสอบขาดๆที่เขาถือไปโรงเรียนทุกวันด้วยนั้นปูนั่ง ครูทั้งหลายจะไม่ยอมแตะต้องหนังสือและสมุดแบบฝึกหัดของพิมเป็นอันขาด ถึงเวลาอ่านโคลงภาษาสันสกฤต ครูจะให้เด็กอื่นอ่าน แต่ไม่อนุญาตให้พิมอ่าน เพราะสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ไม่คู่ควรแก่คนนอกวรรณะอย่างพิม ที่ครูทุกคนทำอย่างนั้นกับพิม ก็เพราะเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าหากถูกต้องตัวหรือสิ่งของๆเด็กนอกวรรณะแล้ว จะทำให้เกิดราคีและชีวิตและครอบครัวของพวกเขา

เมื่อพิมกระหายน้ำเวลาอยู่ในโรงเรียน เขาจะตักน้ำดื่มเองไม่ได้อย่างเด็ดขาด เขาจะต้องขอร้องให้ใครสักคนหนึ่งที่มีใจอารีตักน้ำแล้วให้พิมแหงนหน้าขึ้น ให้ผู้มีใจอารีค่อยๆเทน้ำลงใส่ปากอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายพิมไปถูกภาชนะตักน้ำหรือถูกร่างกายของผู้มีใจอารีนั้น


คุณครูผู้เมตตา

เมื่อพวกครูต่างพากันเกลียดชังความเป็นอธิศูทรของพิมเช่นนี้ จึงไม่มีใครใส่ใจความก้าวหน้าในการเรียนของพิม วันไหนเขาไม่ไปโรงเรียน วันนั้นนับว่าเป็นบุญตาของพวกครูเสียอีก แต่ด้วยบุญกุศลกรรมในอดีตชาติได้ตามให้ผลแก่พิม จึงมีครูใจพระอยู่คนหนึ่ง ทั้งๆที่เป็นพราหมณ์แต่ก็ไม่มีจิตใจมืดเบาเขลาปัญญาเหมือนครูคนอื่นๆ เขาเฝ้ามองดูพิมด้วยสายตาเต็มไปด้วยความเมตตาเอ็นดู เมื่อครูคนอื่นแสดงอาการรังเกียจพิม เขาก็ได้แต่เกิดความสงสารอยู่ในใจ จะแสดงออกมามิได้ เกรงว่าเพื่อนร่วมงานและคนร่วมวรรณะจะพลอยรังเกียจเขาไปด้วย เวลาลับตาเพื่อนครู เขามักจะแบ่งอาหารกลางวันของเขาให้พิมทานด้วยเสมอ
พิมมีนามสกุลเดิมว่า “สักปาล” เป็นนามสกุลของพวกอธิศูทร พอเอ่ยนามสกุลนี้ใครๆก็จะรู้ทันทีว่านี่ลูกอธิศูทร คุณครูใจพระผู้นั้นจึงเปลี่ยนนามสกุลให้พิมเสียใหม่ โดยแก้ทะเบียนในโรงเรียนให้พิมใช้นามสกุลของเขาแทน ซึ่งเป็นนามสกุลพราหมณ์ ได้แก่ชื่อนามสกุลว่า “เอ็มเบ็ดก้าร์” (เพราะนามสกุลพราหมณ์นี้เอง จึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นพราหมณ์แม้แต่มหาตมะคานธีก็เคยคิดเช่นนั้น) และพิมก็ใช้นามสุกลนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การที่ครูผู้เมตตาท่านนั้นได้ให้พิมใช้นามสกุลร่วมกับท่านโดยที่พิมไม่ได้ร้องขอเลยนั้น เขากระทำไปด้วยความเมตตาปรานี ที่ทนเห็นการถูกรังแกหรือโดนดูถูกอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ เขาไม่ได้มุ่งหวังอะไรจากพิมเลย จึงนับได้ว่าครูผู้นี้เป็นผู้ทำความดีเพื่อความดีมิใช่ทำเพื่อโลกธรรม

ภายหลังต่อมาที่พิมย้ายออกจากโรงเรียนแห่งนั้นไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้พบกับครูผู้อารีอีกเลย จนกระทั่งเนิ่นนานต่อมาเมื่อพิมได้กลายเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของอินเดีย ที่ได้รับเชิญให้ไปประชุมร่วมโต๊ะเจรจาที่ประเทศอังกฤษเพื่อหาลู่ทางให้ได้มาซึ่งเอกราชของอินเดีย ก่อนออกเดินทางไปอังกฤษเขาได้รับจดหมายโดยมิคาดฝันจากคุณครูผู้เมตตาท่านนั้น มีใจความสำคัญว่า เขามีความสุขใจมาก ความฝันที่เขาเคยฝันไว้ ความหวังที่เขาเคยหวัง ทั้งๆที่ตอนนั้นยังมองไม่เห็นความสำเร็จเลยแม้แต่เงา บัดนี้ได้กลายเป็นความจริงและเป็นผลสำเร็จขึ้นมาแล้ว ขอให้พิมดำเนินงานต่อไปด้วยสติปัญญาและความสุขุมรอบคอบ เพื่อนำหิตประโยชน์มาสู่ตนเองและประชาชาติอินเดียทั้งมวล จดหมายฉบับนี้ทำให้พิมมีความปีติยินดียิ่งนัก มีค่าสำหรับเขาเหลือจะพรรณนา ทำให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป

เสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า

ชีวิตในโรงเรียน พิมได้รับความกดดันต่างๆ เขาจึงไม่สนใจเรื่องการเรียน หันไปมัวสุมกับการกีฬาต่างๆและความสนุกสนานเพลิดเพลิน พอเลิกจากโรงเรียนก็ไปเที่ยวรับจ้างเลี้ยงควายและแกะ เพื่อจะได้มีโอกาสไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ แล้วยังได้ค่าจ้างอีกด้วย จึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของเขาที่อยู่บ้านไม่ติด ประกอบกับที่รามจิผู้บิดาได้แต่งงานใหม่ พิมรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นแม่เลี้ยงนำเครื่องประดับของแม่บังเกิดเกล้าของเขามาสรวม ทำให้เขาไม่อยากจะอยู่บ้านและไม่สนใจเรียน การเล่นกีฬาและการวิ่งเล่นกับเพื่อนๆทำให้เขาลืมเหตุการณ์ที่โรงเรียนและความอึดอัดที่บ้าน

ครั้งหนึ่งพิมคิดจะหนีออกจากบ้านไปแสวงโชคหาเลี้ยงชีพตามลำพัง ไม่ต้องคอยอาศัยขอเงินจากพ่อและแม่เลี้ยงอีกต่อไป ในช่วงนั้น พี่สาวทั้งสองได้ติดตามสามีไปทำมาหากินอยู่ในบอมเบย์และเล่าให้พิมฟังว่าในเมืองใหญ่นั้น เด็กตำบลเดียวกันได้เข้าไปทำงานในบอมเบย์เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็นกรรมกรแบกหามตามโรงงานต่างๆ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่อธิศูทรจะได้มีงานทำ เพราะก่อนหน้านั้นแม้แต่อาชีพกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ยอมรับอธิศูทรเข้าทำงานเลย พิมจึงตกลงใจจะไปตายเอาดาบหน้า ความหวังของเขาก็เพียงได้เป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมสักแห่งก็พอใจแล้ว

แต่มีปัญหาอยู่ว่าเขาจะเดินทางไปเมืองบอมเบย์ได้อย่างไร เพราะเขาไม่มีเงินสักแดงเดียว เขาใช้ความคิดอย่างหนัก ในที่สุดก็วางแผนจะลักขโมยเงินในกระเป๋าของมิราผู้เป็นอาว์ที่เขาเคารพรักเสมือนแม่บังเกิดเกล้า เขาใช้ความพยายามอยู่ถึงสามคืนแต่ไม่สำเร็จ พอตกคืนที่สี่เขาก็ลักเอากระเป๋าของอามาได้ แต่ก็ต้องประสบความผิดหวังอย่างแรง เพราะปรากฏว่าในกระเป๋านั้นมีเงินเพียงแอนนาเดียว(ประมาณ ๕๐ สตางค์)เท่านั้น ด้วยเงินเพียงเท่านี้เขาไม่สามารถจะใช้เป็นค่าโดยสารรถเดินทางเข้าบอมเบย์ได้เลย และในคืนนั้นเองเขาก็ล้มเลิกการหาเงินแบบเลวๆ อันน่าอดสูแก่ตัวเองนั้นเสีย แล้วเขาก็เลือกวิธีการใหม่

การเปลี่ยนแปลงความคิดในครั้งนี้ได้เปลียนโฉมหน้าชีวิตของเขาไปอย่างชนิดที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เขาเลิกสนใจกีฬา เลิกเล่นเพลิดเพลินกับเพื่อนๆโดยเด็ดขาด แล้วตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวบอกตนเองว่า “ประโยชน์อะไรกับกีฬาและการเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ ฉันจะต้องทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับการศึกษา ฉันจะต้องสอบผ่านและเรียนให้สำเร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ฉันจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บนลำแข้งของตนเองได้” นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา การศึกษาของพิมก็ดีขึ้นโดยลำดับ เรื่องเสเพลทั้งมวลถูกทอดทิ้งโดยเด็ดขาด ผลการสอบคะแนนออกมาสูงลิ่วทุกวิชา

No comments: