Thursday, February 8, 2007

บทความที่ ๑ วัฒนาการสังคม

วัฒนาการสังคมนิยม


ช่วงเวลาที่ขบวนการสังคมนิยมได้งอกงามเบ่งบานเกิดขึ้นภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตรัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลกไม่เพียงแต่สามารถต้านทานกองทัพฟัสซิสต์เยอรมันของอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ที่ระดมกำลังรบจากทั่วทวีปยุโรป แต่ยังสามารถตีโต้จนกรุงเบอร์ลินแตกเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๗ โดยความร่วมือกับกองทัพพันธมิตรของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ยังผลให้ประเทศสังคมนิยมอุบัติขึ้นมาใหม่ที่ยุโรปตะวันออกอีก ๙ ประเทศ ก่อเป็นค่ายสังคมนิยมคู่ปรปักษ์ของค่ายทุนนิยม

ต่อจากนั้นกองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตยังได้ยกพลเข้าไปกวาดล้างกองกำลังทหารหลักของญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังพลเกือบ ๑ ล้านคนในภาคอีสานของจีนจนราบคาบยังผลให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวัน ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ภายหลังถูกกองทัพสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประชาชนญี่ปุ่นจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ คนต้องกลายเป็นเครื่องพลีการทดลองและการอวดแสนยานุภาพอาวุธมหาประลัย ซึ่งต่อมาสหรัฐฯได้ใช้อาวุธมหาประลัยนี้ข่มขวัญชาวโลกให้ยอมรับลัทธิครองความเป็นเจ้า ของตนเองตราบจนเท่าทุกวันนี้

ในโอกาสที่กองทัพรุกรานญี่ปุ่นล่มสลาย สาธารณรัฐสังคมนิยมโจเสน(เกาหลีเหนือ) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ได้แจ้งเกิดเป็นสมาชิกใหม่ค่ายสังคมนิยม

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ธงแดงประดับด้วยดาว ๕ ดวงก็สะบัดพริ้วบนหอคอยเทียนอันเหมิน ณ กรุงปักกิ่ง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสังคมนิยมที่มีประชากรมากอันดับหนึ่งของโลก ภายหลังกองทัพที่ ๘ และกองทัพที่ ๔ ใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รบชนะกองทัพฟัสซิสต์ญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับกองทัพของรัฐบาลกว๋อมิ่นตั่งทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นนานถึง ๘ ปี เมื่อได้ชัยชนะเหนือกองทัพญี่ปุ่นแล้วก็ทำสงครามกลางเมืองอีก ๓ ปี ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้โค่นรัฐบาลพรรคกว๋อมิ่นตั่งของเจียงไคเช็คจอมทรราชที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง ซึ่งเป็นที่ชิงชังของประชาชนจีนที่ถูกกดขี่บีฑา รีดนาทาเร้นแสนสาหัสลงไปได้

จนสหรัฐอเมริกาอดรนทนอยู่เฉย ๆ ไม่ไหว จึงคิดจะปลิดชีวิตสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่ ๆ ให้ตายคาเบาะ โดยถือโอกาสที่เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ปะทะกันนั้น ยกกำลังพลประกอบด้วย ๑๗ ชาติภายใต้ร่มธงสหประชาชาติเข้าประชิดชายแดนจีน จีนจึงส่งกองทัพอาสาสมัครต่อต้านอเมริกาไปช่วยเกาหลีเหนือรบกับกองทัพอเมริกันและบริวารเป็นเวลาถึง ๓ ปี (มีหลักฐานในเหตุการณ์สงครามเกาหลีว่านายพลดักกลาส แม็คอาเธอร์ได้ร้องขอให้มีการใช้ระเบิดปรมาณูถล่มประเทศจีนให้ล่มจมเหมือนอย่างที่เคยทำกับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่กลุ่มคณะผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ปฏิเสธการร้องขอนี้ เหตุผลที่ปฏิเสธหาใช่เพราะเรื่องของมนุษยธรรมไม่ แต่เป็นเพราะได้พิจารณาทางได้ทางเสียแล้วพบว่าประเทศจีนมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล จึงยากที่ทิ้งระเบิดปรมาณูในจุดยุทธศาสตร์ได้ในเวลาเดียวกัน และหากไม่สามารถทำลายจุดยุทธศาสตร์ได้ในเวลาเดียวกัน ก็มีความเป็นได้อย่างมากที่จะถูกจีนตอบโต้ด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อนั้นความพินาศก็จะบังเกิดไปทั่วโลก)

ผลสุดท้ายของสงครามเกาหลี ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและบริวารต้องถอยกลับไปตั้งอยู่ทางฟากใต้เส้นขนานที่ ๓๘ อันเป็นเส้นพรมแดนของเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้และยอมสงบศึก

เมื่อล่วงเข้าปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ค่ายสังคมนิยมมีจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓ ประเทศ ขบวนการกอบกู้อิสรภาพของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิ ก็ขยายตัวอย่างคึกคักในขอบเขตทั่วโลก ในจำนวนนี้มีหลาย ๆ ประเทศได้ประกาศตนเป็นประเทศสังคมนิยม ธงแดงโบกสะบัดพริ้วไปทั่ว

ในประเทศไทยนับแต่คณะราษฎรที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๔๗๕ นำเอาระบอบประชาธิปไตย มาให้แก่ประชาชนไทย นับว่าเป็นผลสำเร็จและเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงที่มีต่อประเทศชาติ ไม่มีผู้ใดจะลบล้างให้จางหายไปได้


แต่กระบวนการวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยของไทยมิได้เป็นไปอย่างราบรื่น พอท่านปรีดี พนมยงค์ นำเสนอร่าง "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งท่านได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้ยกร่าง ได้รับการคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มขุนนางเก่าและนายทหารหัวเก่าบางคนในคณะผู้ก่อการ โดยกล่าวหาว่า "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ฉบับดังกล่าว เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็ได้ออก พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ บังคับให้ท่านปรีดี ต้องเดินทางต่างประเทศในตอนเย็นวันเดียวกัน...

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๗๖ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ในเวลานั้น) สนับสนุนพระยาพหล พลพยุหาเสนา ก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลอำนาจขุนนางเก่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาลงไปได้ ติดตามมาด้วยการปราบกบฏพระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๒-๒๔ ตุลาคม ๒๔๗๖

ต่อมาอีก ๓ ปีเศษ พ.อ. หลวงพิบูลสงครามก็ได้เริ่มเข้ากุมอำนาจสูงสุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลฯ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ และเมื่อถึงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๒ ทางรัฐบาลได้ลงมือจับกุมกลุ่มพระบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร, พลโทพระยาเทพหัสดินทร์, พันเอกพระยาทรงสุรเดช ฯลฯ รวม ๔๘ คนในข้อหา "กบฏ" เพราะเตรียมก่อความไม่สงบในประเทศ และตั้งศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต ๑๘ คนและจำคุกตลอดชีวิตอีก ๒๕ คน จับตายอีก ๑ คน

เหตุไฉน หลวงพิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ จึงมากลายเป็น "เผด็จการ" ไปได้ ? หลวงพิบูลสงครามให้เหตุผลว่า "การประหารชีวิตเพียง ๑๘ คนเท่านั้น ไม่มากมายอะไรเลย การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เขาตัดหัวใส่เกวียนเป็นแถวๆ" หมายความของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็คือว่าฝ่ายปฏิวัติใช้กำลังรุนแรงตอบโต้ฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ใช้กำลังรุนแรงนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นธรรม

วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๔ หลวงพิบูลสงครามก่อสงครามอินโดจีน เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสโดยอาศัยแรงบีบจากอิทธิพลญี่ปุ่นที่ตั้งตนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย(ข้อพิพาทของไทยกับฝรั่งเศสเรื่องสิทธิเหนือดินแดนลาวและกัมพูชาบางส่วนที่ไทยเคยเสียให้ฝรั่งเศสไป)

พอมาถึงวันที่ ๘ ธันวาคมในปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในประเทศไทยรวม ๕ จุด บรรดาทหาร ตำรวจ ยุวชนและคนไทยธรรมดาพากันต่อต้านผู้รุกรานอย่างองอาจกล้าหาญนานถึง ๕ ชั่วโมง การต่อสู้ได้ยุติลงโดยประกาศของรัฐบาลให้มีการหยุดยิง มีคนไทยต้องเสียชีวิตในการปกป้องมาตุภูมิของตนเองถึง ๒๐๐ คน

ต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงครามยังได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรนำเอาเอกราชและอธิปไตยของชาติไปผูกติดกับรถรบของกองทัพญี่ปุ่น

แต่นั้นมา ประชาชนไทยต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก ยากเข็ญ เลือดตาแทบกระเด็น ต้องขาดแคลนทั้งอาหาร หยูกยาและเครื่องนุ่มห่ม แต่ความขมขื่นที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่ประเทศชาติต้องสูญเสียอิสระภาพ ต้องอยู่ใต้อาณัติของชาติอื่นนั้น มิได้ทำให้ประชาชนไทยผู้รักชาติย่อย่อท้อถอยแม้แต่น้อย กลับพากันรณรงค์ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน และสู้กับกลุ่มของจอมพล ป.พิบูลสงครามผู้เป็นสมุนของญี่ปุ่นอย่างห้าวหาญ ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นที่ใหญ่โตที่สุดคือ ขบวนการเสรีไทย ที่มีท่านปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ....

ในที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ยอมจำนนแล้ว บางคนในคณะรัฐมนตรีของนายควง อภัยวงศ์ ได้เสนอที่จะให้กองทัพจีนของเจียงไคเช็คเป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธกองทัพทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป(คือตั้งแต่เส้นขนานที่ลากผ่านอำเภอบางมูลนากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเสลภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นไป) แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นว่าหากยอมให้กองทัพมหึมาของจีน(จำนวนทหารของจีนที่จะเข้าในไทยมีประมาณล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนทหารญี่ปุ่นเพียงแสนคนเท่านั้น)ยาตราเข้ามาในไทยแล้ว ก็ยากที่เราจะผลักดันให้ทหารจีนนับล้านคนออกไปจากแผ่นดินไทยได้. ท่านปรีดี จึงรีบโทรเลขติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนในที่สุดกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การบัญชาของนายพล ลอร์ด หลุย เมาท์แบตเทนก็เป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการถูกแบ่งออกเป็นเหนือ-ใต้ นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำให้แก่คนไทย-แผ่นดินไทย ซึ่งคนไทยรุ่นหลังไม่ทราบ

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชาธิปไตยในประเทศไทยก็เบ่งบานขึ้นอีกครั้ง พรรคการเมืองที่ชูธงสังคมนิยม ก็ทยอยกันปรากฎตัวบนเวทีการเมือง กลุ่มคุณเตียง ศิริขันธ์ อดีตผู้นำเสรีไทยสายอีสานภายในพรรคสหชีพซึ่งเป็นพรรครัฐร่วมรัฐบาลคู่กับพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ ก็มีสีสันในแนวสังคมประชาธิปไตย

แต่ทว่าสถานการณ์ดังกล่าว ดำรงอยู่แค่ระยะสั้นๆเท่านั้นเพราะเมื่อถึงวันรัฐประหาร ๘ พศจิกายน ๒๔๙๐ ที่มีพลโทผิน ชุณหะวันเป็นหัวหน้าได้โค่นล้มรัฐบาลของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ลง และส่งผลโดยตรงให้ท่านปรีดี พนมยงค์ผู้ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส จากรัชกาลที่ ๘ ในปี ๒๔๘๙ ต้องหลบภัยปฏิวัติออกไปนอกประเทศ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ผู้พ้นจากการถูกแขวนคอในฐานะอาชญากรสงครามในช่วงสงครามโลก) ก็กลับมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนับแต่นั้นเป็นต้นมาประเทศไทยก็ถอยหลังกลับเข้าสู่ยุคซึ่งกลุ่มทหารเผด็จการผลัดเปลี่ยนกันครองเมืองนานถึง ๕๙ ปี (แม้จะมีเว้นช่วงในระยะสั้นๆไม่กี่ปี)

การขึ้นครองอำนาจครั้งใหม่ของจอมพล แปลก พิบูลสงครามครั้งนี้ อาศัยกำลังหนุนสำคัญจากสองสายคือ สาย พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ ก็เลยเป็นการขี่หลังเสือถึงสองตัว

จอมพล ป.พิบูลสงคราม พอหวนกลับมาถือบังเหียนการปกครองบ้านเมืองเป็นคำรบสอง ก็ลืมคำปรารภที่เขียนไว้ในห้องขังขณะที่ตกเป็นอาชญากรสงครามรอการพิพากษาของศาลอาชญากรสงครามที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเขียนไว้ว่า "เหลือระอาฟ้ากับกรง" ยังคงหลงอำนาจบาตรใหญ่ จึงมีการต่อต้านเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และสิ่งที่ตามมาก็คือการปราบปรามที่ทางการกระทำต่อผู้ต่อต้านอย่างป่าเถื่อน และเหี้ยมโหดอย่างไม่ลดละ

กลุ่มต่อต้านเผด็จการกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฟื้นอำนาจคือ กบฏเสนาธิการ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ โดยมี พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พล.ต.หลวงวรรณกรรมโกวิท พ.ท.โพยม จุลานนท์ ส.ส.เพชรบุรีเป็นคณะนำ การยึดอำนาจด้วยกำลังของคณะนี้ต้องล้มเหลวเพราะแผนการรั่วไหล

ถัดมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ควบคุมตัวนายทิม ภูริพัฒน์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายฟอง สิทธิธรรม และนายเตียง ศิริขันธ์ นักการเมืองสายเสรีไทยในข้อหา "กบฏแบ่งแยกดินแดน" แต่ก็ต้องปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐาน

พอเข้าปี ๒๔๙๒ ก็ได้เกิด "กบฏวังหลวง" เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ คราวนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นนักการเมือง ทหารเรือ มีการต่อสู้กัน และแล้วก็ยอมหยุดยิงกันทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายรัฐบาลไม่เอาผิดฝ่าย "กบฏ" (แต่นั้นเป็นต้นมากองทัพเรือซึ่งมีทั้งอาวุธและบุคคลากรที่เหนือกว่ากองทัพบกและกองทัพตำรวจของ พล.อ. เผ่า ศรียานนท์ รวมกัน ก็ถูกลดทอนกำลังลงทุกวิถีทางจนในปัจจุบันนี้กองทัพเรือกลายเป็นเพียงกองทัพที่รักสงบไม่อาจจะคานอำนาจของกองทัพบกได้อีกเลย...)

แต่แล้วนักการเมืองฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ทยอยกันถูก "ยิงทิ้ง" เป็นระนาว เช่นนาย เตียง ศิริขันธ์ ถูกอุ้มหายสาปสูญจนในที่สุดก็พบเศษกระดูกและเถ้าถ่าน นี่อาจเป็นวัฒนธรรมการอุ้มนั่งยางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา, ดร.ทวี ตะเวทิกุล, นายทองอิน ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล,ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายหะยี สุหรง และนายพร มะลิทอง

มาถึงปี ๒๔๙๓ ในพิธีรับมอบเรือขุด “แมนฮัตตัน” ก็เกิดกรณี น.ต.มนัส จารุภา จี้ตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตามแผนของคณะกู้ชาติ กลุ่มนายทหารเรือหนุ่มที่มี น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา และ น.ต.มนัส จารุภา เป็นผู้ริเริ่มโดยมีกำลังทหารบกและนักศึกษาส่วนหนึ่งเข้าร่วมด้วย และผลสุดท้ายก็ประสบความล้มเหลวเพราะการประสานกำลังไม่เป็นไปตามแผน

ในด้านการต่างประเทศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐฯสูญเสียในการทำสงครามน้อยที่สุดเพราะห่างไกลจากยุโรปที่เป็นสนามรบสำคัญ แต่สหรัฐฯเป็นผู้ร่ำรวยจากการค้าอาวุธมากที่สุด ในสงครามโลกครั้งนี้มหาอำนาจทั้งหลาย ทั้งอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลีและญี่ปุ่นต่างเพลี่ยงพล้ำเพราะสงคราม เหลือแต่อเมริกาชาติเดียวที่ยังมีเขี้ยวเล็บและความทะเยอทะยาน วางตัวเป็นอันธพาล หมายจะขวางลำสกัดกั้นกระแสสังคมนิยมที่กำลังซัดกระหน่ำระบบทุนนิยมอย่างดุเดือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการสนับสนุนกลุ่มเจียงไคเช็คสมุนในประเทศจีน หมายจะบดขยี้กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เติบโตท่ามกลางสงครามต่อต้านญี่ปุ่น

สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสังคมนิยมที่ใหญ่โตที่สุดกลับยืนตระหง่านบนผืนโลกตะวันออก จนอเมริกาอดรนทนดูต่อไปไม่ไหว จึงได้ก่อสงครามเกาหลีโดยรวบรวมกำลังจากประเทศบริวารรวมเป็น ๑๗ ประเทศ บุกข้ามเส้นขนาน ๓๘ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๓ มุ่งหน้าไปยังเขตแดนจีนหมายจะถล่มประเทศจีนให้ล่มจม ตัดไฟแต่ต้นลม ประเทศไทยที่อยู่ใต้การบงการของกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ส่งกองทหารไปร่วมรบกับเขาด้วย

ในสงครามเกาหลี ๓ ปี คู่สงครามต่างผ่ายต่างสูญเสียรี้พลนับล้าน แต่จีนและเกาหลีเหนือซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมทั้งสองมิได้ถูกลบชื่ออกจากแผนที่โลก ยังดำรงคงอยู่ ทหารอเมริกันบาดเจ็บล้มตายถึง ๓๙๗,๕๐๐ คน เป็นบทเรียนอันน่าเจ็บปวดที่สุดที่สหรัฐไม่เคยประสบมาก่อนนับแต่สถาปนาเป็นต้นมา

ในปี ๒๔๙๗ เวียดนามประเทศสังคมนิยมเอเชียอีกประเทศหนึ่ง ก็สามารถขับกองทัพฝรั่งเศสออกไปจากดินแดนของตนจนหมดสิ้น หลังจากได้รับชัยชนะในการยุทธ์ครั้งใหญ่ที่เดียนเบียนฟู

ในสถานการณ์เช่นนี้สหรัฐอเมริกาก็เริ่มลงมือรวบรวมประเทศพันธมิตรอีก ๗ ประเทศในจำนวนนี้มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ลงนามในสนธิสัญญาร่วมป้องกันเอเชียอาคเนย์ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๗ เพื่อเป็นวงล้อมแนวใหม่ที่ใช้สกัดกั้นมิให้ “กระแสสังคมนิยม” ในทวีปเอเชียขยายตัวใหญ่โตมากกว่านี้

แต่ในอีกขั้วหนึ่ง บรรดาประเทศเอเชียและแอฟริกาซึ่งมีอดีตเป็นประเทศอาณานิคมแทบทั้งหมดรวม ๒๙ ประเทศประชุมกันที่เมืองบันดงประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๙๘ อภิปรายปัญหาอธิปไตยประชาชาติกับการต่อสู้เพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม ปัญหาสันติภาพของโลกและปัญหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

ประเทศไทยก็ได้ส่งคณะผู้แทนที่มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ รัฐมนตรีว่า การต่างประเทศไปร่วมด้วย และมีโอกาสพบปะสนทนากับโจวเอินไหลนายกรัฐมนตรีประเทศจีน ท่านจึงได้ซักถามปัญหาข้อข้องใจเรื่องนโยบายจีนมีต่อประเทศไทยอย่างละเอียด โจวเอินไหลยังเชิญชวนให้รัฐบาลไทยจัดคณะผู้แทนไทยไปเยือนจีน เพื่อให้เห็นด้วยตาว่าจีนได้มีการเคลื่อนไหวหรือทำอะไรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อไทยบ้างหรือไม่ (“ดร.กรุณา กุศลาสัย : คณะทูตใต้ดินสู่ปักกิ่ง : กรุงเทพฯสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ๒๕๒๕ หน้า ๘)

วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๙๘ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหวัน พลเอกเผ่า ศรียานนท์ ร่วมกันวางแผนให้นายกรุณา กุศลาสัย นายอารี ภิรมย์ นายอัมพร สุวรรณมล นายสอิ้ง มารังกูล ไปปักกิ่งเพื่อหาทางติดต่อกับรัฐบาลจีนสังคมนิยมอย่างลับๆ ขณะเดียวกันยังได้ถือโอกาสที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไปเยือนพม่าเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๙๘ ให้นายสังข์ พัฒโนทัย และนายเลื่อน บัวสุวรรณ ไปติดต่อสถานทูตจีนประจำกรุงร่างกุ้งเพื่อเจรจาเปิดสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีนใต้ดิน การพบปะผู้นำจีนสังคมนิยมของทูตใต้ดินครั้งนั้น เหมาเจ๋อตงรับปากว่า “ประเทศไทยกับประเทศจีนสามารถที่จะแลกเปลี่ยนการค้าและวัฒนธรรมกันได้ ด้านอุตสาหกรรมบางด้านที่จีนพอมีประสบการณ์ หากประเทศไทยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย จีนก็ยินดีช่วย แม้ในวิชาการด้านเทคนิค ไทยกับจีนก็อาจจะให้ความร่วมมือกันได้ (อ้างแล้วหน้า ๑๐๙-๑๑๐)

เรื่องไทยห่วงว่าจีนจะรุกรานไทยนั้น เหมาเจ๋อตงให้คติว่า “จีนได้รับบทเรียนจากประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของตนเองว่า ผู้รุกรานจะต้องเป็นฝ่ายปราชัยในบั้นปลายเสมอ จะผิดกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น” และกล่าวอีกว่า “ในฐานะเป็นประเทศเล็ก ไทยควรจะวางตัวเป็นกลาง ไทยไม่ควรจะถือหางฝ่ายใด การกระทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ไทยเอง” ขณะกล่าวคำอำลา เหมาเจ๋อตงยังพูดว่า

“ผมขอฝากความเคารพไปถวายพระมหากษัตริย์ของไทยด้วยนะ” (เพิ่งอ้าง หน้า ๑๑๒)


ก่อนหน้านี้ เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับจากการไปเยือนเอเชีย อเมริกา และยุโรป เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๘ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางที่ดี เช่นเปิดเพรสคอนเฟอเรนท์ และให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนวิจารณ์การบ้านการเมืองได้กลางสนามหลวงตามแบบที่ได้เห็นมาที่สวนไฮด์ปาร์คกรุงลอนดอนตั้งแต่ ๕ สิงหาคม ๒๔๙๘ ต่อมาได้มีการชักชวนกันเดินขบวนประท้วงกันเป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ และประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๐

ในประเด็นความสัมพันธ์กับจีน ภายหลังกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม แหวกม่านไม้ไผ่ที่อเมริกาอุตส่าห์กั้นกางเอาไว้ โดยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ส่งคณะผู้แทนเข้าไปพบปะเจรจากับผู้นำประเทศจีนสังคมนิยมเอง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว

ต่อมาในปี ๒๔๙๙ ต่อต้นปี ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจากับจีนเสนอขายข้าว ๒ ครั้ง ขายยาสูบอีก ๑ ครั้ง กระทั่งยังได้ส่งคณะผู้แทนกองทัพเรือเจริญสัมพันธไมตรีกับกองทัพจีนด้วย ถึงแม้ทั้งหมดนี้จะทำกันอย่างลับ ๆ แต่ก็หาได้หลีกพ้นสายตาของอเมริกาไม่ นายเลื่อน บัวสุวรรณ กับนายชื้น อยู่ถาวร “ทูตลับ” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับจากเยือนจีนแค่ ๒ เดือน ก็ต้องถึงแก่ความตายในเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมาที่เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

วิธีการ “ก่อการร้าย” ของเหล่าซีไอเอ. ดังกล่าวข้างต้นกลับยิ่งยั่วยุให้คนไทยผู้รักชาติที่ชิงชังสงครามใฝ่หาสันติภาพอย่างแรงกล้า ทยอยกันดั้นด้นไปเยือนจีนคณะแล้วคณะเล่า เริ่มต้นด้วยคณะผู้แทนราษฎรของนาย เทพ โชตินุชิต (มกราคม ๒๔๙๙) คณะนี้เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็ถูกจับกุมคุมขังทั้งคณะ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแส ที่อยากรู้ อยากเห็น และต้องการเจริญความสัมพันธไมตรีกับจีนสังคมนิยมไว้ได้ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ คณะศิลปินที่นำโดยคุณสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งเป็นคณะใหญ่ก็ยังเดินทางไปแสดงในประเทศจีนอย่างอาจหาญ ในเดือนเดียวกันนี้ยังมีคณะผู้แทนสหภาพแรงงานของนายทองย้อย ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ก็เดินทางเข้าไปร่วมฉลองวันกรรมกรสากลกับกรรมกรจีนที่กรุงปักกิ่งในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ กึ่งหลังของเดือนเมษายน ๒๕๐๐ ยังมีทีมบาสเก็ตบอล “แดงเหลือง” ที่นำโดยนายอดุลย์ ภมรานนท์ ไปแข่งขันกับทีมบาสเก็ตบอลจีนอีกคณะหนึ่ง มาถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ก็ยังมีคณะผู้แทนสมาคมนักหนังสือพิมพ์ไทย นำโดยคุณอิสรา อมันตกุลไปเยือนจีนอีกคณะหนึ่ง

นอกจากนั้นยังมีบางคณะได้อาศัยโอกาสเดินทางไปเยี่ยมสหภาพโซเวียต ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย แล้วแวะไปเยือนจีน เช่น คณะผู้แทนเยาวชนไทยนำโดยคุณสุวิทย์ เผดิมชิต(๒ กันยายน ๒๕๐๐) ก่อนหน้านั้นก็มีคณะพระสงฆ์ไทยที่ศึกษาในอินเดียเดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของเจ้าผู่ชู ประธานสมาคมพุทธศาสนาจีนให้ไปร่วมฉลองกึ่งพุทธกาลที่ปักกิ่ง คณะนี้เดินทางถึงปักกิ่ง ๗ กันยายน ๒๔๙๙

เป็นอันว่ามาตราการข้างต้นของจอมพล ป.พิบูลสงครามไม่เพียงแต่ไม่สามารถสัมฤทธิผลในการผ่อนคลายกระแสคัดค้านเผด็จการและต่อต้านอเมริกาของประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย และสยบกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ที่นับวันยิ่งแข็งกร้าวและคอยหาโอกาสเข้าชิงอำนาจจากตนไป ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับฉวยโอกาสสวมรอยกระแสมวลชนที่ไม่พอใจรัฐบาลมาขยายบารมีของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเลือกตั้ง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ที่กล่าวกันว่า “การเลือกตั้งสกปรก” ประชาชนทุกหมู่เหล่าไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง มีการชุมนุมอภิปรายโจมตีรัฐบาลหนักขึ้นๆ ทุกที จนรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ยังผลให้นักศึกษานิสิตมหาวิทยาลัยพร้อมด้วยประชาชนทั่วไปเดินขบวนไปประท้วงกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ในกระแสสูงที่ประชาชนต่อต้านการเลือกตั้งสกปรกนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉวยโอกาสแสดงตนเป็น “ขวัญใจ” ของประชาชน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสฤษดิ์กับกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ยิ่งรุนแรง ในที่สุดกลุ่มสฤษดิ์ก็ได้ก่อรัฐประหารกำจัดกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐

วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๐ นายพจน์ สารสิน ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ๙๐ วัน เพื่อให้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๐

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ไม่เพียงแต่มีพรรคสังคมนิยมหลายพรรคเข้าร่วมแข่งขันและสมาชิกของพรรคเหล่านี้ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.หลายคนเท่านั้น แม้จอมพลสฤษดิ์เองก็ได้ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา ให้ชื่อเสียโก้หรูว่า “พรรคชาติสังคม” ชื่อเดียวกับพรรค “นาซี” ที่อดอร์ฟ ฮิตเลอร์จอมเผด็จการเยอรมัน ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๗ และหลังการเลือกตั้ง พรรคนี้ก็ได้เป็นรัฐบาลโดยรวบรวมเสียงจากพรรคต่างๆ บวกด้วยสมาชิกประเภท ๒ จอมพลถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรค “ชาติสังคม” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑

พรรค “ชาติสังคม” ของกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ มีแต่ชื่อเท่านั้นที่เป็น “สังคมนิยม” ถึงแม้จะมีนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยม บางคนหลงเข้าไป แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกลุ่มนักการเมืองที่มาจากพรรครัฐบาลเก่าในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงยังคงเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ นโยบายของรัฐบาลก็ยังคงเป็นนโยบาลเผด็จการ-ขายชาติ เหตุนี้เองประชาชนผู้รักชาติ-ประชาธิปไตยก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไปไม่ลดละ โดยเฉพาะบรรดากรรมกรมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาใหม่ มีการนัดหยุดงาน และก็ยังมีคณะผู้แทนสหพันธ์แรงงานประเทศไทยของจรัล โมบรรยงค์ เดินทางไปร่วมฉลองวันกรรมกรสากลที่ประเทศสังคมนิยมจีนเมื่อวันที่ ๒๑ เษษยน ๒๕๐๑ นอกจากนั้นคณะผู้แทนไปเยือนจีนในช่วงนี้ยังมีคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำโดยคุณสอิ้ง มารังกูล (๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๑)

จนในที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังรักษาตัวที่อเมริกาอดรนทนดูอยู่ไม่ไหว จึงได้เดินทางกลับมาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๐๑ ประกาศยึดอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง เผด็จการอำนาจสมบูรณ์แบบชนิดไม่เหมือนใครและก็ไม่มีใครเหมือน ครองอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศเป็นเวลานาน ๕ ปีเศษ

จากเหตุการณ์ที่ได้ทบทวนในข้างต้น จะเห็นได้ว่าขบวนการต่อสู้เพื่อธิปไตยของประชาชาติและประชาธิปไตยของประชาชน และความฝันใฝ่เลื่อมใสในอุดมการณ์สังคมนิยมได้เกิดกระแสสูงอีกระลอกหนึ่ง ในสภาวการณ์เช่นนี้ สังคมนิยมยังเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังไม่เคยรู้เห็นมาก่อน แต่ในช่วงเวลาที่อยู่ใต้ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องพลิกผันไปสู่ยุคทมิฬ จอมพลสฤษดิ์ ไม่เพียงแต่อาศัยมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งตัวเองเป็นผู้บัญชาให้ตราขึ้น สั่งประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นว่าเล่นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตุลาการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในจำนวนนี้มีนายศุภชัย ศรีสติ กรรมการสภาคนงานแห่งประเทศไทย (วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๒) คุณรวม วงศ์พันธ์ กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๔ เมษายน ๒๕๐๕) และครูครอง จันดาวงศ์ อดีตเสรีไทยและ ส.ส.จังหวัดสกลนคร สมาชิกพรรคเศรษฐกรและแนวร่วมสังคมนิยม กับครูทองพันธ์ สุทธิมาศ อดีต ส.จ.จังหวัดสกลนคร (๖ ตุลาคม ๒๕๐๕)อย่างเปิดเผยเท่านั้น ต่อมารัฐบาลทหารเผด็จการยังได้เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ในข้อหาคอมมิวนิสต์ด้วยวิธี “ถีบลงเขา เผาในถังแดง” และผังทั้งเป็นจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ คนในชนบท

เมื่อกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายที่ถูกทำร้ายย่อมมีความจำเป็นและมีสิทธิ์ที่จะใช้กำลังรุนแรงตอบโต้กำลังรุนแรงเพื่อป้องกันตนเองด้วยเหตุผลประการฉะนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงได้เรียกประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนกันยาน ๒๕๐๔ เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์หันมาดำเนินแนวทางการต่อสู้ทุกรูปแบบ ด้วยวิธีการ “ป่านำบ้าน” ตระเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ นี่คือจุดพลิกผันที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งประวัติศาสตร์ประเทศไทยในช่วงกลางของศตวรรษที่ ๒๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรดำเนินนโยบายชักศึกเข้าบ้าน ส่งหน่วยทหารไปร่วมรบกับอเมริกันในสงครามรุกรานประเทศเวียดนามและอนุญาตให้อเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพรวม ๗ แห่งในประเทศไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ข้อสรุปในประเด็นนี้อย่างน่าฟังว่า ทหารไทยและกองทัพไทยในอดีตถูกมหาอำนาจ “หลอกใช้” ให้เข่นฆ่าพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง...”อดีตเกือบจะเอาบ้านเอาเมืองอยู่ไม่รอดเพราะอวิชชาคือความไม่รู้จริงในสิ่งที่ไปต่อสู้นั้น คือไม่รู้ความจริงที่สหรัฐบอกให้เรา เพราะเราถูกสั่งให้ยิงเวียดกง หากทำลายทหารเวียดกงไม่ได้ ก็ต้องทำลายประชาชนเวียดกงที่บริสุทธิ์ ผลของภารกิจแทนที่จะทำลายศัตรู กลับเป็นการสร้างศัตรูขึ้นมาเพิ่ม ทำลายศัตรูแค่สิบคนแต่สร้างศัตรูเพิ่มขึ้นอีกร้อยคนพันคน อยากจะเรียนว่านั่นคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ (ประชา หริรักษาพิทักษ์ : “จิ๋วย้อนอดีตฯ” มติชนรายสัปดาห์ วันที่ ๒๙ ก.ค.-๔ ส.ค. ๒๕๔๕ ฉบับที่ ๑๑๔๕) นับว่าเป็นคำสรุปที่กล้าหาญ จริงใจและก็ตรงกับความจริงด้วย) อันเป็นเหตุหนึ่งที่ยิ่งเร่งรัดให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตัดสินใจเริ่มต้นทำสงคราม “สงครามประชาชน” ที่ทางการจุดขึ้นโดยส่งกำลังออกไปปราบปรามประชาชน จนเกิดปะทะกันที่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ ยังผลให้คนไทยต้องสู้รบฆ่าฟันกันเอง ทหารสองฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตายกันนับพันนับหมื่น ชาวบ้านละทิ้งเรือกสวนไร่นาออกไปดำเนินชีวิตอย่างอดๆอยากๆ ลำบากตรากตรำบนป่าเขาลำเนาไพรเป็นเวลายาวนานถึง ๑๘ ปี

สงครามเป็นพฤติกรรมที่เหี้ยมโหดซึ่งหมายถึงความตายของรี้พลทั้งสองฝ่าย สงครามยิ่งทำยิ่งนานยิ่งดุเดือด คู่สงครามก็ต้องล้มหายตายจากกันยิ่งมาก ยิ่งเป็นสงครามกลางเมืองด้วยแล้ว ทหารที่บาดเจ็บล้มตายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานของชาวบ้านทั้งสิ้น งบประมาณแผ่นดินที่กลายเป็นเถ้ากระสุน ทุกบาททุกสตางค์ก็เก็บมาจากเงินภาษีของประชาชน สงครามกลางเมืองนี้ถ้าหากหลีกเลี่ยงได้โดยไม่ต้องเกิดขึ้น ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเลยเป็นดีที่สุด แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากฝ่ายที่เป็นธรรม ซึ่งก็คือฝ่ายประชาชนชนะ ก็จะเป็นการรอดพ้นจากการกดขี่ย่ำยีของกลุ่มเผด็จการขายขาติ แต่ถ้าหากชัยชนะตกเป็นของกลุ่มเผด็จการ ฝ่ายต่อต้านก็จะมีชะตากรรมลำบากยากเข็ญกว่าเดิมเป็นทวีคูณ


แต่สงครามกลางเมืองของไทยยุติลงด้วยรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร คือกองกำลังฝ่ายประชาชนต้องสลายตัวไปเองทีละส่วนๆ แน่นอนสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อกันมานานถึง ๑๘ ปี คู่สงครามฝ่ายหนึ่งใช้กำลังนับแสน อีกฝ่ายหนึ่งก็มีกำลังต่อต้านนับหมื่น และมีผู้สนับสนุนนับล้าน มีเขตปฏิบัติการบนพื้นที่ ๒๗๖ อำเภอของ ๔๙ จังหวัดในปี ๒๕๒๓ อยู่ๆก็ยุติลงเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทางรัฐบาลให้ข้อสรุปว่าเป็นเพราะนโยบาย ๖๖/๒๓ ที่ใช้การเมืองนำการทหาร ได้ชักจูงให้คนที่อยู่ป่าคืนมาสู่เหย้าร่วมพัฒนาประเทศได้เป็นผลสำเร็จ นับได้ว่าเป็นเหตุหนึ่งแต่คงไม่ใช่เหตุนี้เหตุเดียว จะต้องมีทั้งเหตุจากคู่สงครามทั้งสองฝ่าย และเหตุจากสิ่งแวดล้อม คือ สถานการณ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศด้วย จึงน่าจะมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านและละเอียด จะได้ ป้องกันมิให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อันขมขื่นนี้ อีกต่อไป กล่าวคือ “อย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดสงครามประชาชนอีก”

เมื่อพิจารณาในสถานการณ์โลกในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้น เมื่อสังคมนิยมจีนแตกแยกกับสังคมนิยมโซเวียตในปี ๒๕๐๓ หลายคนเห็นว่าสมควรแล้ว เพราะโซเวียตเป็นลัทธิแก้ คือแก้ไขลัทธิมาร์กซ ต่อมาในปี ๒๕๒๑ อัลบาเนียเกิดวิวาทกับจีน เวียดนามได้บุกรุกกัมพูชา จีนก็เลย “เขกกบาล” สั่งสอนเวียดนาม แล้วโซเวียตก็เลยรบกับจีนที่เกาะเจินเป่า จึงกลายเป็นว่าชาติสังคมนิยมมารบกันซะเอง จนล่วงมาถึงเหตุการณ์ที่โซเวียตล่มสลายและหันกลับไปสู่ระบอบทุนนิยมพร้อมด้วยประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหลาย ค่ายสังคมนิยมก็ไม่มีอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป ก่อนหน้านั้นจีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูประบบเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๒๒ ในที่สุดก็ยอมให้มีธรุกิจเอกชนทั้งที่เป็นทุนต่างประเทศและในประเทศเป็นส่วนประกอบหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของจีน โดยให้คำนิยามใหม่แก่ระบบเศรษฐกิจนี้ว่า สังคมนิยมขั้นต้น ชาวโลกทั่วๆไป ต่างก็มีความเห็นไปแนวเดียวกันว่า สังคมนิยมไปไม่รอดแล้ว คล้ายกับว่าทั่วโลกต้องยอมรับระบอบทุนนิยมแต่ระบอบเดียวโดยไม่มีหนทางอื่นให้เลือกอีก ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้ดีว่าระบอบทุนนิยมไม่ใช่ของวิเศษวิโสอะไร การผลิตที่ทำกันในลักษณะสังคม แต่การถือครองเป็นไปในลักษณะเอกชน

ความขัดแย้งอันนี้ดำรงอยู่คู่กันทุนนิยมมาแต่เกิด และก็เป็นเหตุก่อเกิดความขัดแย้งทั้งปวงในระบอบทุนนิยม เฉพาะเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจนับแต่เกิดขึ้นครั้งแรกที่อังกฤษเมื่อปี ๒๓๖๘ จนป่านนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นพักๆ เฟื่องแล้วซบ ซบแล้วเฟื่อง อยากมาก็มา อยากไปก็ไปเหมือนผีอำ ญี่ปุ่นโดนครั้งหลังสุดซบมา ๑๐ ปีก็ยังไม่ฟื้น สหรัฐโดนครั้งนั้นนับว่าสั้นหน่อย แต่ยังไม่ทันฟื้นก็มาเกิด “วิกฤตความซื่อสัตย์” เข้าอีก แม้แต่เวอล์ดคอมบริษัทสื่อสารขนาดใหญ่อันดับหนึ่งก็ต้องขอคุ้มครองการล้มละลาย ไทยเราโดนวิกฤตการเงินเข้าเมื่อปี ๔๐ ก็ถืงปางตายและเมื่อล่วงมาเกือบ ๑๐ ปีในปีนี้ ไทยจะอยู่ในวิกฤตการณ์อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะเป็นประจักษ์พยานเอง

โรคประจำตัวทุนนิยมที่แก้กันไม่ตก ล้วนมีอาการปางตายทั้งนั้น เหตุนี้เอง ฝ่ายสำนักลัทธิมาร์กซซิสต์จึงให้คำวินิจฉัยว่า “จักรวรรดินิยมคือทุนนิยมที่ใกล้มรณะ” แต่แล้วระบอบทุนนิยมก็ยังคง “ต่ออายุ” ตัวเองมาได้เกือบหนึ่งศตวรรษด้วยวิธีการปฏิรูป แล้ววิธีการปฏิรูปที่เป็นยาวิเศษใช้ชุบชีวิตระบอบทุนนี้มิใช่สิ่งอื่นใด ก็คือ “มาตรการสังคมนิยม” หรือ ปัจจัยสังคมนิยม ที่ตอนกิ่งจาก “ต้นพันธุ์สังคมนิยม” มาต่อให้ “ต้นพันธุ์ทุนนิยม”

กสิกรฝีมือดีที่สร้างผลงานสำคัญๆ ดังกล่าวก็คือ รัฐบาลที่นำโดยหรือมีส่วนประกอบจากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป ในบรรดาประเทศทุนนิยมทั้งหลายนั่นเอง

การปฏิรูปของประเทศสังคมนิยมก็ดูเหมือนจะใช้วิธีการอย่างเดียวกันคือ ไปตอนเอากิ่ง “ต้นพันธุ์ทุนนิยม” มาต่อไว้กับ “ต้นพันธุ์สังคมนิยม”

ผลที่ปรากฏออกมาคือ ในทุนนิยมมี สังคมนิยม และในสังคมนิยมก็มี ทุนนิยม เพราะฉะนั้น “ทุนนิยม” ที่เราเห็นกันในเวลานี้จึงมิใช่ทุนนิยมดั้งเดิมในยุคที่มาร์กซมีชีวิตอยู่ แต่เป็นทุนนิยมที่ผ่านการตกแต่งปะๆชุนๆ มาแล้ว และก็ยังต้อง ปะๆชุนๆ อยู่ต่อไปอีกตราบเท่าที่ระบอบทุนนิยมยังคงอยู่ ทั้งนี้ยังมิได้รวมไปถึงวิกฤตอันเกิดจากระบบการเมืองการทหารและวัฒนธรรมทุนนิยมซึ่งเคยนำและกำลังจะนำมหันตภัยมาสู่สังคมโลก จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการ “ปฏิรูป” ไปเรื่อยๆ

แต่ที่กล่าวมาข้างต้น มิได้มีเจตนาจะโน้มให้เล็งผลร้ายในสภาพการณ์โลกอนาคต เพราะว่าสังคมมนุษย์ปัจจุบันมิใช่อยู่ในยุคบรรพกาล หากอยู่ในขั้นตอนพัฒนาที่มีความเจริญทั้งทางวิทยาศาสตร์สังคมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในระดับที่สูงมากแล้ว ย่อมสามารถหาพบวิธีการแก้ปัญหาสังคมระหว่างรัฐต่อรัฐ ระหว่างกลุ่มชนต่อกลุ่มชนได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศน์ ระหว่างโลกมนุษย์กับจักรวาลกลายเป็นความขัดแย้งหลักขึ้นมา เบื้องหน้าความเป็นความตายของมวลมนุษยชาติ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็จะกลายเป็นความขัดแย้งรองๆ ลงไป ซึ่งคงจะพบทางแก้ไขไปทีละอย่างๆ และ “สังคมนิยม” ก็อาจจะกลับมาเป็นทางเลือกใหม่อีกหนทางหนึ่งในรูปแบบและสาระที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็เป็นได้

คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า สังคมนิยมมิใช่สิ่งเลวร้ายหากแต่เป็นอุดมการณ์สูงส่งของมนุษยชาติ ผู้ที่ต่อต้านสังคมนิยมได้แต่ติติงว่าสังคมนิยมสูงส่งจนสุดเอื้อม จึงเป็นได้แค่ อุดมการณ์ที่ใฝ่ฝันกันเล่นๆ แต่จะเอาจริงเอาจังไม่ได้

ความเห็นชนิดนี้พอมีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะว่าเรื่ออุดมคติหรืออุดมการณ์เป็นเรื่องของโลกทัศน์และชีวทัศน์ของมนุษย์ เมื่อจำแนกแยกแยะให้ถึงที่สุดก็คงจะแยกได้เป็นแนวใหญ่ๆ แค่สองแนว แนวหนึ่งก็คือ เห็นแก่ตัวเอง คือมือใครยาวสาวได้สาวเอา อีกแนวหนึ่งคือเห็นแก่สังคม คือไม่เพียงแต่ต้องการให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่านั้นหากยังต้องการให้คนทั้งหลายในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

ทุกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ในสังคมโลกระหว่างคนมีกับคนจน ยังมีช่องว่างที่ห่างไกลกันมาก และนักการเมืองแทบทุกคนไม่ว่าในชาติใดก็มักจะประกาศตนว่าต้องการลดช่องว่างดังกล่าวให้แคบลง แค่นี้ก็เฉียดๆเข้าไปในขอบข่ายสังคมนิยมแล้วโดยไม่รู้ตัว...

ส่วนวิธีการสู่ระบอบสังคมนิยมนั้น จะผ่านวิธีการรุนแรงหรือวิธีการสันตินั้น ขึ้นอยู่สถานการณ์ของแต่ละประเทศ ในประเทศไทยขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยวิธีการสันติมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรการ “ปราบปราม” ประชาชนขนานใหญ่ รุนแรง โหดร้ายทารุณ...สิทธิเสรีภาพของประชาชนอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตยต้องดับวูบ แสงสว่างแห่งระบอบประชาธิปไตยต้องมืดมิด เวีทีประชาธิปไตยต้องกลับกลายเป็นสมรภูมิต่อสู้ประหัตประหาร...

การต่อสู้อย่างสันติวิธีตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยจึงไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้นเพื่อความดำรงอยู่และในสภาพที่ต้องถูกบังคับจนไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสันติวิธีในเมืองได้ จึงต้องร่นถอยออกจากเมืองไปสู่ชนบท จากชนบทไปสู่ป่า และจากป่าไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อตอบโต้กับอำนาจเผด็จการที่ผู้ถูกใช้กำลังปราบปรามพึงกระทำเพื่อป้องกันตนเอง ชนิดที่ไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยงได้ “การจับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการซึ่งมิใช่เป็นความปรารถนาของผู้รักสันติรักประชาธิปไตยจึงได้เกิดขึ้น” (สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ :”สืบทอดเจตนารมณ์ครูครอง จันดาวงศ์” ใน “ครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้” อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ ๒๕๓๘ หน้า ๑๑๔-๑๑๕) ซึ่งไม่ผิดแผกแตกต่างอะไรกับการที่นิสิตนักศึกษาและมวลชนผู้รักสันติ ๓,๐๐๐ กว่าคนต้องพากันหลบหนีการสังหารอย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลเผด็จการขึ้นเขาเข้าป่าร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในจำนวนนี้มีหลายคนยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในระยะต่อมาในตำแหน่ง ส.ส. และตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่เป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แม้ระดับนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ถูกล่าจับแต่รอดมาได้ก็ยังมีถึง ๒ คน

สสารนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซเห็นว่า “ประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์ประวัติศาสตร์” ขบวนการใดก็ตามแต่ขอให้ขบวนการนั้นสะท้อนออกซึ่งความปรารถนา ความเรียกร้องต้องการและผลประโยชน์อันใกล้ตัวของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด สามารถระดมมวลชนมาเข้าร่วมด้วยจิตสำนึก แข็งขันและพร้อมเพรียง ขบวนการนั้นก็จะมีพลังอันเกรียงไกรที่จะพิชิตต่อสู้ได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ว่าจะใช้กำลังหรือสันติ”

กองกำลังของประชาชนต่อสู้ด้วยอาวุธในป่านานถึง ๑๘ ปี ก็ยังไม่สามารถได้มาซึ่งชัยชนะขั้นสุดท้าย แต่เมื่อรัฐบาลทหารเผด็จการเผชิญหน้ากับขบวนการต่อต้านของนิสิตนักศึกษาและมวลชนทั่วไปที่มีแต่สองมือเปล่าในกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ กลับยืนไม่ติด

ทั้งนี้บทบาทของขบวนการประชาชนนับล้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยต่อสู้กับกลุ่มเผด็จการด้วยอาวุธนานถึง ๑๘ ปีก็ไม่อาจลบล้างให้จางหายไปได้ เลือดแต่ละหยด ศพแต่ละศพของกองกำลังประชาขนไทยที่ทาถมแผ่นดินในสมรภูมิต่อสู้กับระบบเผด็จการ ล้วนเป็นเม็ดทรายที่ปูทางอันกว้างใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยเช่นเดียวกันกับที่วีรชนที่หลั่งเลือดเสียสละชีวิตในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบนท้องถนนราชดำเนิน

มีแต่ผู้ที่ผ่านสงครามมาเองเท่านั้นจึงจะรู้ซึ้งถึงความเหี้ยมโหดของสงคราม และก็จะไม่มีใครอยากจะให้สงครามกลับคืนมาอีก ยกเว้นผู้ที่มีใจไม่ใช่มนุษย์ ประชาชนไทยที่เคยผ่านสงครามกลางเมืองที่พาให้ลูกหลานของเขาต้องหลั่งทั้งเลือดและน้ำตา ไม่มีวันจะยินยอมให้ผู้ใดจุดเพลิงแห่งสงครามกลางเมืองโดยก่อสถานการณ์เช่นปี ๒๕๐๑ ขึ้นมาอีก



เรียบเรียงจาก วัฒนาการสังคมนิยม : ชาญ กรัสนัยบุระ

No comments: