ความทรงจำของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์
อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ภายหลังประกาศสันติภาพซึ่งท่านปรีดีได้กระทำในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ท่านต้องอยู่ในความเครียดต่อเนื่องอีกถึงสี่เดือนกว่าที่รัฐบาลอังกฤษจะลงนามในข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน คือสงครามที่รัฐบาลไทยประกาศต่ออังกฤษเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และอังกฤษได้ประกาศสงครามตอบ
ความยืดเยื้อในการลงนามในข้อตกลงทำให้รัฐบาลไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับทหารอังกฤษและเครือจักรภพจำนวน ๑๗,๐๐๐ นายที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ นายในประเทศไทย ซึ่งควรจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน
ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ไทยต้องโดดเดี่ยวอยู่นอกชุมชนโลกเสรีแล้ว ยังขาดโอกาสที่จะได้รับความเชื่อเหลือที่จำเป็นในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศด้วย
นอกจากนั้นก็ยังไม่สามารถใช้เงินจำนวน ๒๓ ล้านปอนด์ที่ฝากไว้ในอังกฤษมาก่อร่างสร้างระบบการเงินไทยขึ้นมาใหม่ได้
ในระหว่างการยืดเยื้อดังกล่าว ท่านปรีดีได้สร้างศัตรูทางการเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว และจากจุดนั้นต่อมาอีกเพียงสองปี ก็ได้นำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนกระทั่งสิ้นอายุขัย
ผมได้เห็นท่านปรีดีขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตการทำงานเพื่อชาติของท่านในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายปี ๒๔๘๘ในช่วงเวลานั้น ในเมืองไทยไม่มีผู้ใดจะมีตำแหน่งหน้าที่และบารมีเหนือกว่าท่านปรีดี พนมยงค์
ต่อมาในเดือนมีนาคม ๒๔๘๙ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งอยู่ ๔ เดือน กับ ๒๒ วันจึงได้ลาออก กลับไปอยู่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสตามเดิม ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรี เดินทางไปเยือนหลายประเทศรอบโลก
ขณะนั้นผมเริ่มคลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ จึงทำให้สนใจติดตามเรื่องการบ้านการเมืองค่อนข้างใกล้ชิด แต่ก็ยังขาดพื้นฐานความรู้ ไม่สามารถจะวิเคราะห์เหตุการณ์อะไรได้ กระนั้นผมก็รู้สึกว่าศัตรูทางการเมืองกำลังจ้องทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน อันเนื่องมาจากความอิจฉาริษยาอย่างหนึ่ง และเนื่องจากเห็นท่านถูกห้อมล้อมด้วยบุคคลและนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน หรือไม่ก็เพราะท่านปรีดีไม่ให้ความสนับสนุนพวกเขา
กรณีสวรรคตเปิดโอกาสให้ศัตรูทางการเมืองของท่านเล่นงานท่านอย่างเต็มเหนี่ยวในลักษณะของคนที่มีความเกลียดชังกัน ถึงขั้นใช้ให้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ผมเคยไปยืนฟังคำปราศรัยของพรรคการเมืองที่เกลียดชังท่านและประสงค์ร้ายต่อท่านด้วย ความรู้สึกขมขื่นใจมากกว่า นี่คือสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นตอบแทนแก่ผู้ที่รับใช้บ้านเมืองจนพ้นความวิบัติมาได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ผมก็ยังลืมเหตุการณ์นั้นไม่ลง
แล้วก็มาถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่ศัตรูทางการเมืองของท่านปรีดีได้เกลี้ยกล่อมชักจูงให้นายทหารกลุ่มหนึ่งกระทำรัฐประหาร โดยให้ร้ายแก่ท่านปรีดีเรื่องกรณีสวรรคต และยุยงว่าท่านปรีดีกดขี่ทหาร ซึ่งเป็นเท็จทั้งสิ้น นายทหารเหล่านั้นอยู่ไกลเหตุการณ์ก็หลงเชื่อคำยุยงและก่อรัฐประหารขึ้น เป็นผลให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ต่อมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ท่านหวนกลับมาเมืองไทยเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ท่านเห็นว่าได้อำนาจจากการรัฐประหารรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ พระราชทาน แต่ท่านพ่ายแพ้ยับเยินและต้องหลบซ่อนอยู่ฝั่งธนเป็นเวลาถึงหกเดือนกว่าที่จะเล็ดลอดออกไปจากประเทศไทยได้
เมื่อผมเดินทางถึงสิงคโปร์ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ก็ได้ไปพักอยู่กับอาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พี่ไหวเช่าห้องเล็กๆ อยู่กับคุณกระจ่าง ตุลารักษ์ นอนกันคนละเตียง ผมอาศัยนอนเตียงเดียวกับพี่ไหว ได้คุยเรื่องการเมืองที่ผมไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อนอยู่หลายคืน
พี่ไหวบอกผมว่า “อาจารย์” เพิ่งออกเดินทางไปเมืองจีนไม่กี่วันก่อนที่ผมจะถึงสิงคโปร์นั่นเอง พี่ไหวเรียกท่านปรีดีว่า “อาจารย์” เพราะพี่ไหวเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตและเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์ตอนปลายสงคราม ในระหว่างที่ “อาจารย์” เป็นผู้ประศาสตร์การมหาวิทยาลัย
จากปลายปี ๒๔๙๒ จนกระทั่งต้นๆปี ๒๕๑๓ ผมไม่เคยพบท่านปรีดีและคุณอาพูนศุขเลย รู้แต่ว่าอยู่เมืองจีน ในปี ๒๕๑๓ จึงได้ทราบว่าทั้งสองท่านย้ายมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส
บังเอิญในปีนั้นผมมีราชการต้องไปประชุมที่กรุงเวียนนาและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเชิญให้ผมไปดูงานที่ปารีส ท่านปรีดีและท่านผู้หญิงได้กรุณามารับผมและครอบครัวที่สนามบิน จึงเป็นโอกาสแรกใน ๒๑ ปีที่ได้กราบเท้าท่านผู้ใหญ่ทั้งสอง และการเยือนปารีสของผมคราวนั้นก็เป็นโอกาสเดียวที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดีเป็นเวลานานๆ ท่านกำลังมีอายุครบ ๗๐ ปี ยังกระฉับกระเฉงตามวัย และยังจิบไวน์ได้
เมื่อผมศึกษาบทบาทของท่านปรีดีในอีก ๑๐ ปีต่อมาเพื่อเขียนชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ผมได้พบสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน เช่นบทบาทอันโดดเด่นและเด็ดเดี่ยวของท่านทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ และในการพิทักษ์เอกราชและอธิปไตยของชาติโดยผ่านปฏิบัติการเสรีไทย
ท่านปรีดีได้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ท่านชอบเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” มาสู่เมืองไทย
ท่านปรีดี พนมยงค์ เน้นความสำคัญของราชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ในฐานะสถาบันที่จะต้องสถิตสถาพรอยู่คู่ชาติไทยชั่วกัลปาวสาน
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยยุคปัจจุบัน “เล่น” กันอยู่ในทุกวันนี้ ท่านปรีดีเป็นผู้สร้างกติกาไว้ให้ ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และมีบทบาทสำคัญมากๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับต่อมา
ในส่วนของงานเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ท่านปรีดีเป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจและกำหนดแผนการต่างๆ ตลอดจนออกคำสั่งให้การปฏิบัติการเดินไปสู่จุดหมาย สำหรับบุคคลอื่นๆนั้นเป็นผู้รับคำสั่งจากท่านนำไปปฏิบัติ
ท่านปรีดีได้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นรอยมนทินว่า “กรุงแตก” ครั้งที่ ๓ ท่านจัดการให้รัฐบาลไทยไม่ต้องทำการยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง นี่คือบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเห็นว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง
ผมคิดว่าข้อบกพร่องของท่านซึ่งได้นำไปสู่ความผิดพลาดในบางกรณี เนื่องมาจากเหตุสองประการ
ประการแรก ท่านมีความรักชาติอยู่ในวิญญาณและสายเลือดและยึดถือเอาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ตรงนี้จะทำให้คนเถียงกับท่านยากมาก และจะหักล้างเหตุผลของท่านก็ไม่ได้ นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เชื่อใครเสียด้วย หากเหตุผลของผู้นั้นมิได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของชาติ
ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรีดีตัดสินใจที่จะตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเสรีไทยในอเมริกาขึ้นระหว่างสงคราม ให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสันติภาพ ท่านปรีดีพิจารณาเห็นว่าภายหลังสงคราม รัฐบาลจะต้องมีเรื่องติดต่อร่วมมือและทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก ดังนั้นจึงจะต้องได้บุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้จักและเชื่อถือ เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งท่านเห็นว่าขณะนั้นไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่าได้มีปัญหาในด้านแนวความคิดและอื่นๆ หลายเรื่องที่ความเห็นไม่ค่อยจะต้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหลายคนและแม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ค่อยจะราบรื่น ไปๆมาๆ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็มีความรู้สึกว่าท่านปรีดีหักหลัง และจากนั้นก็มีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อท่านปรีดีมาโดยตลอด
อีกประการหนึ่ง ท่านปรีดีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ที่เรียกกันว่า “อวิโรธนะ” คือไม่ประพฤติผิดธรรม ด้วยหลักการนี้ท่านจึงสามารถทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร) ที่ขัดใจผู้คนได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ท่านเห็นว่าคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเป็นบ้าง ซึ่งส่งผลทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไป นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เป็นที่พึ่งต่อบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ แล้ว ท่านช่วยอะไรได้ก็เป็นช่วยเสมอไป ตรงนี้ก็ทำให้มีทั้งผู้โกรธเคืองและผู้ที่เคารพนับถือ
กล่าวกันว่าจุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคำพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป หรือท่านเข้าใจเขาผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้น แต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ แทบทุกคนก็มักจะต้องมีปัญหาอย่างนี้
สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทำสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น
เรื่องแรกเป็นความผิดพลาดที่ท่านปรีดีมิได้มีความอดทนพยายามอธิบาย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ท่านปรีดีในวัยหนุ่ม ๓๒ ปี ขาดความอดทนและความรอบคอบ ผลจากการนั้นก็คือ ท่านปรีดีต้องถูกส่งไปฝรั่งเศสเสียหลายเดือนอีกทั้งถูกให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย
เรื่องที่ ๒ เป็นความผิดพลาดที่ท่านเจาะจงแต่งตั้งให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังสันติภาพ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
เรื่องที่ ๓ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งท่านเองเป็นคนสำคัญในการยกร่าง และได้ประกาศไว้แล้วว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมได้ทำลาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง จากนั้นไทยก็มีรัฐธรรมนูญอีก ๑๔-๑๕ ฉบับ ซึ่งยกเลิกและร่างกันใหม่เป็นว่าเล่น
เรื่องที่ ๔ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ไม่ได้พยายามประนีประนอมกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน ความแตกแยกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอและเป็นจุดอ่อนให้ปรปักษ์ของ “คณะราษฎร” สามารถทำลายทั้งท่านปรีดีและท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ย่อยยับได้
เรื่องที่ ๕ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัดจังหวะ ท่านปรีดีเกรงคำครหาว่าท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยุบเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนายซึ่งมีฐานกำลัง ได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา
เรื่องที่ ๖ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับการขอร้องและวิงวอนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพท่าน แม้จะเป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม การที่ท่านปรีดีลดตัวลงมาในระดับการเมืองในสภาเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปรปักษ์ของท่านถือว่าท่านเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งท่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู และต้องบอบช้ำเป็นอย่างมาก
เรื่องสุดท้ายก็คือ การที่ท่านกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใต้ “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ซึ่งท่านปรีดีประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยมุ่งหวังที่จะเอาชนะอย่างเดียว เมื่อท่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็บังเกิดขึ้น มิตรสหายของท่านจำนวนมากต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น และตัวท่านเองก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านปรีดีจะได้เคยผิดพลาดมาหลายครั้ง หากกรณียกิจที่ท่านได้บำเพ็ญต่อชาติบ้านเมืองก็ยังมีความสำคัญอย่างเอกอุที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
ผมเชื่อว่าเมื่อสังคมไทยในยุคนี้และในยุคต่อไปได้รู้จักผลงานของท่านดีขึ้น ก็คงจะเพิ่มความสำคัญให้แก่ท่านปรีดีมากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย
อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ภายหลังประกาศสันติภาพซึ่งท่านปรีดีได้กระทำในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ท่านต้องอยู่ในความเครียดต่อเนื่องอีกถึงสี่เดือนกว่าที่รัฐบาลอังกฤษจะลงนามในข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน คือสงครามที่รัฐบาลไทยประกาศต่ออังกฤษเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และอังกฤษได้ประกาศสงครามตอบ
ความยืดเยื้อในการลงนามในข้อตกลงทำให้รัฐบาลไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับทหารอังกฤษและเครือจักรภพจำนวน ๑๗,๐๐๐ นายที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ นายในประเทศไทย ซึ่งควรจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน
ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ไทยต้องโดดเดี่ยวอยู่นอกชุมชนโลกเสรีแล้ว ยังขาดโอกาสที่จะได้รับความเชื่อเหลือที่จำเป็นในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศด้วย
นอกจากนั้นก็ยังไม่สามารถใช้เงินจำนวน ๒๓ ล้านปอนด์ที่ฝากไว้ในอังกฤษมาก่อร่างสร้างระบบการเงินไทยขึ้นมาใหม่ได้
ในระหว่างการยืดเยื้อดังกล่าว ท่านปรีดีได้สร้างศัตรูทางการเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว และจากจุดนั้นต่อมาอีกเพียงสองปี ก็ได้นำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนกระทั่งสิ้นอายุขัย
ผมได้เห็นท่านปรีดีขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตการทำงานเพื่อชาติของท่านในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายปี ๒๔๘๘ในช่วงเวลานั้น ในเมืองไทยไม่มีผู้ใดจะมีตำแหน่งหน้าที่และบารมีเหนือกว่าท่านปรีดี พนมยงค์
ต่อมาในเดือนมีนาคม ๒๔๘๙ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งอยู่ ๔ เดือน กับ ๒๒ วันจึงได้ลาออก กลับไปอยู่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสตามเดิม ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรี เดินทางไปเยือนหลายประเทศรอบโลก
ขณะนั้นผมเริ่มคลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ จึงทำให้สนใจติดตามเรื่องการบ้านการเมืองค่อนข้างใกล้ชิด แต่ก็ยังขาดพื้นฐานความรู้ ไม่สามารถจะวิเคราะห์เหตุการณ์อะไรได้ กระนั้นผมก็รู้สึกว่าศัตรูทางการเมืองกำลังจ้องทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน อันเนื่องมาจากความอิจฉาริษยาอย่างหนึ่ง และเนื่องจากเห็นท่านถูกห้อมล้อมด้วยบุคคลและนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน หรือไม่ก็เพราะท่านปรีดีไม่ให้ความสนับสนุนพวกเขา
กรณีสวรรคตเปิดโอกาสให้ศัตรูทางการเมืองของท่านเล่นงานท่านอย่างเต็มเหนี่ยวในลักษณะของคนที่มีความเกลียดชังกัน ถึงขั้นใช้ให้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ผมเคยไปยืนฟังคำปราศรัยของพรรคการเมืองที่เกลียดชังท่านและประสงค์ร้ายต่อท่านด้วย ความรู้สึกขมขื่นใจมากกว่า นี่คือสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นตอบแทนแก่ผู้ที่รับใช้บ้านเมืองจนพ้นความวิบัติมาได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ผมก็ยังลืมเหตุการณ์นั้นไม่ลง
แล้วก็มาถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่ศัตรูทางการเมืองของท่านปรีดีได้เกลี้ยกล่อมชักจูงให้นายทหารกลุ่มหนึ่งกระทำรัฐประหาร โดยให้ร้ายแก่ท่านปรีดีเรื่องกรณีสวรรคต และยุยงว่าท่านปรีดีกดขี่ทหาร ซึ่งเป็นเท็จทั้งสิ้น นายทหารเหล่านั้นอยู่ไกลเหตุการณ์ก็หลงเชื่อคำยุยงและก่อรัฐประหารขึ้น เป็นผลให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ต่อมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ท่านหวนกลับมาเมืองไทยเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ท่านเห็นว่าได้อำนาจจากการรัฐประหารรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ พระราชทาน แต่ท่านพ่ายแพ้ยับเยินและต้องหลบซ่อนอยู่ฝั่งธนเป็นเวลาถึงหกเดือนกว่าที่จะเล็ดลอดออกไปจากประเทศไทยได้
เมื่อผมเดินทางถึงสิงคโปร์ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ก็ได้ไปพักอยู่กับอาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พี่ไหวเช่าห้องเล็กๆ อยู่กับคุณกระจ่าง ตุลารักษ์ นอนกันคนละเตียง ผมอาศัยนอนเตียงเดียวกับพี่ไหว ได้คุยเรื่องการเมืองที่ผมไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อนอยู่หลายคืน
พี่ไหวบอกผมว่า “อาจารย์” เพิ่งออกเดินทางไปเมืองจีนไม่กี่วันก่อนที่ผมจะถึงสิงคโปร์นั่นเอง พี่ไหวเรียกท่านปรีดีว่า “อาจารย์” เพราะพี่ไหวเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตและเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์ตอนปลายสงคราม ในระหว่างที่ “อาจารย์” เป็นผู้ประศาสตร์การมหาวิทยาลัย
จากปลายปี ๒๔๙๒ จนกระทั่งต้นๆปี ๒๕๑๓ ผมไม่เคยพบท่านปรีดีและคุณอาพูนศุขเลย รู้แต่ว่าอยู่เมืองจีน ในปี ๒๕๑๓ จึงได้ทราบว่าทั้งสองท่านย้ายมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส
บังเอิญในปีนั้นผมมีราชการต้องไปประชุมที่กรุงเวียนนาและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเชิญให้ผมไปดูงานที่ปารีส ท่านปรีดีและท่านผู้หญิงได้กรุณามารับผมและครอบครัวที่สนามบิน จึงเป็นโอกาสแรกใน ๒๑ ปีที่ได้กราบเท้าท่านผู้ใหญ่ทั้งสอง และการเยือนปารีสของผมคราวนั้นก็เป็นโอกาสเดียวที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดีเป็นเวลานานๆ ท่านกำลังมีอายุครบ ๗๐ ปี ยังกระฉับกระเฉงตามวัย และยังจิบไวน์ได้
เมื่อผมศึกษาบทบาทของท่านปรีดีในอีก ๑๐ ปีต่อมาเพื่อเขียนชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ผมได้พบสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน เช่นบทบาทอันโดดเด่นและเด็ดเดี่ยวของท่านทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ และในการพิทักษ์เอกราชและอธิปไตยของชาติโดยผ่านปฏิบัติการเสรีไทย
ท่านปรีดีได้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ท่านชอบเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” มาสู่เมืองไทย
ท่านปรีดี พนมยงค์ เน้นความสำคัญของราชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ในฐานะสถาบันที่จะต้องสถิตสถาพรอยู่คู่ชาติไทยชั่วกัลปาวสาน
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยยุคปัจจุบัน “เล่น” กันอยู่ในทุกวันนี้ ท่านปรีดีเป็นผู้สร้างกติกาไว้ให้ ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และมีบทบาทสำคัญมากๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับต่อมา
ในส่วนของงานเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ท่านปรีดีเป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจและกำหนดแผนการต่างๆ ตลอดจนออกคำสั่งให้การปฏิบัติการเดินไปสู่จุดหมาย สำหรับบุคคลอื่นๆนั้นเป็นผู้รับคำสั่งจากท่านนำไปปฏิบัติ
ท่านปรีดีได้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นรอยมนทินว่า “กรุงแตก” ครั้งที่ ๓ ท่านจัดการให้รัฐบาลไทยไม่ต้องทำการยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง นี่คือบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเห็นว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง
ผมคิดว่าข้อบกพร่องของท่านซึ่งได้นำไปสู่ความผิดพลาดในบางกรณี เนื่องมาจากเหตุสองประการ
ประการแรก ท่านมีความรักชาติอยู่ในวิญญาณและสายเลือดและยึดถือเอาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ตรงนี้จะทำให้คนเถียงกับท่านยากมาก และจะหักล้างเหตุผลของท่านก็ไม่ได้ นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เชื่อใครเสียด้วย หากเหตุผลของผู้นั้นมิได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของชาติ
ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรีดีตัดสินใจที่จะตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเสรีไทยในอเมริกาขึ้นระหว่างสงคราม ให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสันติภาพ ท่านปรีดีพิจารณาเห็นว่าภายหลังสงคราม รัฐบาลจะต้องมีเรื่องติดต่อร่วมมือและทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก ดังนั้นจึงจะต้องได้บุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้จักและเชื่อถือ เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งท่านเห็นว่าขณะนั้นไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่าได้มีปัญหาในด้านแนวความคิดและอื่นๆ หลายเรื่องที่ความเห็นไม่ค่อยจะต้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหลายคนและแม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ค่อยจะราบรื่น ไปๆมาๆ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็มีความรู้สึกว่าท่านปรีดีหักหลัง และจากนั้นก็มีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อท่านปรีดีมาโดยตลอด
อีกประการหนึ่ง ท่านปรีดีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ที่เรียกกันว่า “อวิโรธนะ” คือไม่ประพฤติผิดธรรม ด้วยหลักการนี้ท่านจึงสามารถทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร) ที่ขัดใจผู้คนได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ท่านเห็นว่าคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเป็นบ้าง ซึ่งส่งผลทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไป นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เป็นที่พึ่งต่อบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ แล้ว ท่านช่วยอะไรได้ก็เป็นช่วยเสมอไป ตรงนี้ก็ทำให้มีทั้งผู้โกรธเคืองและผู้ที่เคารพนับถือ
กล่าวกันว่าจุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคำพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป หรือท่านเข้าใจเขาผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้น แต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ แทบทุกคนก็มักจะต้องมีปัญหาอย่างนี้
สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทำสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น
เรื่องแรกเป็นความผิดพลาดที่ท่านปรีดีมิได้มีความอดทนพยายามอธิบาย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ท่านปรีดีในวัยหนุ่ม ๓๒ ปี ขาดความอดทนและความรอบคอบ ผลจากการนั้นก็คือ ท่านปรีดีต้องถูกส่งไปฝรั่งเศสเสียหลายเดือนอีกทั้งถูกให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย
เรื่องที่ ๒ เป็นความผิดพลาดที่ท่านเจาะจงแต่งตั้งให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังสันติภาพ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
เรื่องที่ ๓ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งท่านเองเป็นคนสำคัญในการยกร่าง และได้ประกาศไว้แล้วว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมได้ทำลาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง จากนั้นไทยก็มีรัฐธรรมนูญอีก ๑๔-๑๕ ฉบับ ซึ่งยกเลิกและร่างกันใหม่เป็นว่าเล่น
เรื่องที่ ๔ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ไม่ได้พยายามประนีประนอมกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน ความแตกแยกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอและเป็นจุดอ่อนให้ปรปักษ์ของ “คณะราษฎร” สามารถทำลายทั้งท่านปรีดีและท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ย่อยยับได้
เรื่องที่ ๕ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัดจังหวะ ท่านปรีดีเกรงคำครหาว่าท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยุบเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนายซึ่งมีฐานกำลัง ได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา
เรื่องที่ ๖ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับการขอร้องและวิงวอนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพท่าน แม้จะเป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม การที่ท่านปรีดีลดตัวลงมาในระดับการเมืองในสภาเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปรปักษ์ของท่านถือว่าท่านเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งท่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู และต้องบอบช้ำเป็นอย่างมาก
เรื่องสุดท้ายก็คือ การที่ท่านกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใต้ “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ซึ่งท่านปรีดีประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยมุ่งหวังที่จะเอาชนะอย่างเดียว เมื่อท่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็บังเกิดขึ้น มิตรสหายของท่านจำนวนมากต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น และตัวท่านเองก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านปรีดีจะได้เคยผิดพลาดมาหลายครั้ง หากกรณียกิจที่ท่านได้บำเพ็ญต่อชาติบ้านเมืองก็ยังมีความสำคัญอย่างเอกอุที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
ผมเชื่อว่าเมื่อสังคมไทยในยุคนี้และในยุคต่อไปได้รู้จักผลงานของท่านดีขึ้น ก็คงจะเพิ่มความสำคัญให้แก่ท่านปรีดีมากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย
No comments:
Post a Comment