Tuesday, March 18, 2008

บทความที่๓๖๒.พบถิ่นอินเดีย-การมาของพวกอารยัน

บันทึกของเนห์รู
(เรียบเรียงจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู , กรุณา กุศลาสัย แปล)
บันทึกในที่คุมขังป้อมอะหะหมัดนคร
การมาของพวกอารยัน

ใครคือประชาชนแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และเขามาจากไหน ? เกี่ยวกับเรื่องนี้เรายังไม่มีทางทราบได้อย่างแน่นอน อาจจะเป็นไปได้และน่าจะเป็นได้ว่าวัฒนธรรมของคนเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองซึ่งมีรกรากและสาขาให้เราเห็นได้ในอินเดียตอนใต้ แม้ในปัจจุบัน นักปราชญ์บางคนได้พบความละม้ายคล้ายคลึงอย่างมีสาระสำคัญระหว่างชนเหล่านี้กับวัฒนธรรมและชนชาติทราวิฑ (Dravidian)แห่งอินเดียตอนใต้ แม้ว่าจะมีผู้คนอพยพไปอยู่ในอินเดียในสมัยโบราณ การอพยพนี้ก็คงจะมีขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนเวลาที่ยกให้ว่าเป็นยุคสมัยของโมหันโช-ทโฑ เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุผลโดยประการทั้งปวงเราจึงพอจะสรุปได้ว่า ประชาชนยุคโมหันโช-ทโฑ เป็นคนพื้นเมืองของอินเดียเอง

อะไรเกิดขึ้นแก่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และมันได้สิ้นสุดลงไปอย่างไร? บางท่านกล่าวว่าอารยธรรมนี้ได้อวสานลงอย่างกะทันหันเนื่องจากภัยพิบัติอันอธิบายไม่ได้ แม่น้ำสินธุมีชื่อเสียงมากในเรื่องน้ำท่วมใหญ่ๆ ซึ่งพังทลายแล้วก็กวาดล้างบ้านเมืองและหมู่บ้านไปเลย หรือดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ อาจจะค่อยๆทำให้พื้นดินเสื่อมคุณภาพลงไป และทะเลทรายอาจจะขยายตัวแผ่คลุมเข้ามาถึงผืนดินอันเป็นที่เพาะปลูกฯลฯ

เศษซากของโมหันโช-ทโฑ เองเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้มีดินทรายถูกพัดพามากองทับกันไว้หลายชั้น ทำให้ระดับพื้นดินตรงเมืองนั้นสูงขึ้น และเป็นเหตุบังคับให้ผู้อยู่อาศัยต้องสร้างเคหสถานมีลักษณะเป็นบ้านสองหรือสามชั้น ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผนังบ้านถูกต่อเติมให้สูงขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ระดับกับพื้นดินที่พอกพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ แคว้นสินธุเป็นแคว้นที่เราทราบกันว่ารุ่มรวยและอุดมสมบูรณ์ในสมัยโบราณ แต่นับตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมา ส่วนมากของแคว้นนี้ได้กลายเป็นทะเลทรายไปเสียสิ้น

เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ที่ความเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศได้ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนถึงประชาชนและการอยู่กินของเขาในเขตเหล่านั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศคงจะไม่ส่งกระทบกระเทือนถึงส่วนใหญ่ของอาณาบริเวณอันกว้างขวางที่อารยธรรมนาครนี้ได้แพร่ไปถึง ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่าอารยธรรมนาครแห่งนี้ได้แพร่ไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคา และอาจจะเลยไปไกลกว่านี้ก็ได้ ดินทรายที่ถูกพัดพามาท่วมปกคลุมเมืองเก่าๆ เหล่านี้บางเมือง ได้ทำหน้าที่รักษาเมืองไว้ด้วย ในขณะเดียวกัน ตัวเมืองและร่องรอยอื่นๆ ของอารยธรรมเก่าแก่แขนงนี้ก็ค่อยๆ เสื่อมสลายผุผังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปในระยะเวลาหลายยุคหลายสมัย บางทีการขุดค้นทางโบราณคดีในอนาคตจะเผยให้เราทราบถึงห่วงสัมพันธ์ที่อารยธรรมนี้มีต่อเนื่องกับยุคหลังๆได้มากกว่านี้

เชื่อกันว่าการอพยพเข้าไปอยู่ในอินเดียของพวกอารยันได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งพันปีหลังจากยุคลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ในระหว่างกลางนั้น คงไม่เกิดช่องว่างอันยาวนานนัก และคงจะมีนานาเผ่านานาเชื้อชาติอพยพเข้าไปในอินเดียครั้งแล้วครั้งเล่า ดังที่ปรากฏในยุคต่อมา แล้วก็อาจถูกดูดกลืนไว้ในอินเดีย เราอาจกล่าวได้ว่าในระยะนั้นได้เกิดการรวมตัวและผสมผสานกันทางวัฒนธรรมเป็นครั้งแรกและอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างพวกอารยันซึ่งกำลังเข้ามา กับพวกทราวิฑผู้ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ จากการรวมตัวและผสมผสานกันนี้ เชื้อชาติอินเดียและวัฒนธรรมอันเป็นพื้นฐานของอินเดียก็ได้เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วยธาตุมูลอันมีลักษณะที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายอารยันและฝ่ายทราวิฑ

ในยุคติดตามมาภายหลัง ได้มีชนชาติอื่นมากหลายอพยพไปอยู่ในอินเดีย เช่น อิหร่าน กรีก ปาร์เถีย แบคเทรีย ซิทเธีย ฮั่น ตุรกี (ก่อนอิสลาม) คริสเตียนรุ่นแรกเริ่ม ยิว และโซโรอาสตฺร ชนชาติเหล่านี้ต่างก็เข้าไปอยู่ในอินเดีย ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น แล้วก็ถูกอินเดียดูดกลืน เป็นเรื่องน่าประหลาดทั้งๆที่มีการถือชั้นวรรณะและกีดกัน แต่อินเดียก็มีสมรรถภาพที่จะดูดกลืนเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางทีอาจจะเนื่องด้วยสมรรถภาพอันนี้เอง ที่อินเดียสามารถธำรงไว้ได้ซึ่งกำลังวังชาและสามารถชุบตัวเองให้เข็มแข็งได้เป็นระยะๆ ดังนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในอินเดีย พวกมุสลิมจึงได้รับอิทธิพลจากอินเดียไปอย่างมากมาย.

No comments: