Tuesday, March 18, 2008

บทความที่๓๖๐.พบถิ่นอินเดีย-ความแตกต่างและความเป็นอันเดียวกัน

บันทึกของเนห์รู
(เรียบเรียงจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู , กรุณา กุศลาสัย แปล)
บันทึกในที่คุมขังป้อมอะหะหมัดนคร
ความแตกต่างและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอินเดีย

ความแตกต่างของอินเดียมีอยู่ด้วยกันมากมาย เป็นที่ประจักษ์แจ้งและมีอยู่ทั่วๆ ไป ความแตกต่างนี้มีอยู่ในรูปร่างหน้าตา ตลอดจนในลักษณะนิสัยใจคอ มองดูโดยผิวเผินแล้วจะเห็นได้ว่าชาวปาทาน แห่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความละม้ายคล้ายคลึงน้อยที่สุดกับชาวทมิฬซึ่งอยู่ทางทิศใต้ไกลออกไป ชนเผ่าทั้งสองนี้มิใช่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน แม้ว่าอาจจะมีเกลียวสัมพันธ์กันอยู่บ้าง แต่เขาก็แตกต่างกันในทางเชื้อชาติและรูปร่างหน้าตา ในทางอาหารและเครื่องนุ่งห่มและในทางภาษาที่ใช้พูดจากกัน

ในมณฑลชายแดนแห่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น มีกลิ่นอายของเอเชียกลางให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ประเพณีหลายอย่างของท้องถิ่นนี้เช่นเดียวกับในแคว้นกัศมีร์ ทำให้เรานึกถึงประเทศซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของภูเขาหิมาลัย ระบำพื้นเมืองของชาวปาทานมีลักษณะที่เหมือนกับระบำพื้นเมืองของชาวรุสเซียถิ่นคอสแซกมากที่สุด จึงไม่น่าสงสัยประการใดเลยที่อิทธิพลของอินเดียจะไม่มีให้เห็นในชาวปาทาน เช่นเดียวกับที่มีให้เห็นอย่างชัดเจนในชาวทมิฬ

สภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกประหลาดอะไร เพราะท้องถิ่นชายแดนเหล่านี้ซึ่งรวมถึงอาฟกานิสตานด้วย ได้สัมพันธ์กับอินเดียมาเป็นเวลาพันๆ ปี ชาติตุรกีโบราณและชาติอื่นๆ ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในอาฟกานิสตานและในภาคอื่นของเอเชียกลางมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแผ่เข้าไปถึง เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา และก่อนหน้านั้นคือในสมัยที่มีการรจนามหากาพย์ภารตและมหากาพย์รามายณะ(รามเกียรติ์)เขาเหล่านั้นก็นับถือศาสนาฮินดู

อาณาเขตชายแดนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเคยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดีย และแม้ในปัจจุบัน อาณาเขตนี้ก็ยังเต็มไปด้วยเศษซากของสิ่งก่อสร้างโบราณและวัดวาอาราม โดยเฉพาะเศษซากของมหาวิทยาลัยตักศิลา ซึ่งเคยมีชื่อเสียงรุ่งโรจน์เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว เป็นสำนึกศึกษาที่เคยดึงดูดผู้ใคร่ในความรู้จากทั่วประเทศและจากส่วนอื่นๆของเอเชีย การเปลี่ยนแปลงในศาสนาแม้จะได้ก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพื้นฐานทางด้านจิตใจและความคิดนึก ซึ่งประชาชนในอาณาบริเวณนั้นวิวัฒน์พัฒนามาก่อน

อินเดียโบราณก็เช่นเดียวกับจีนโบราณ เป็นโลกๆหนึ่งในตัวเอง เป็นระบบวัฒนธรรมและอารยธรรมที่สร้างรูปแบบให้แก่สรรพสิ่งนานาประการ อิทธิพลต่างประเทศได้หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนทั้งสองนี้ ได้ส่งอิทธิพลถึงวัฒนธรรมนั้น และได้ถูกวัฒนธรรมนั้นดูดกลืนเอาไว้ แนวโน้มที่จะนำไปสู่การร้าวฉานได้ก่อให้เกิดความพยายามที่จะหาทางประสานกัน ความฝันที่จะให้มีเอกภาพชนิดใดชนิดหนึ่งได้เข้าครอบงำจิตใจของอินเดียมาตั้งแต่รุ่งอรุณของอารยธรรม เอกภาพที่คิดนึกกันนั้นมิใช่เป็นสิ่งซึ่งบังคับให้รับไว้จากภายนอก มิใช่เป็นการวางระเบียบให้สิ่งภายนอกหรือแม้แต่ความเชื่อถือ ต้องจำกัดตนอยู่ในกรอบเกณฑ์อันตายตัว เอกภาพที่คิดนึกขึ้นเป็นสิ่งซึ่งมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น เพราะประกอบขันติ ความอดกลั้นในเรื่องของความเชื่อและขนบประเพณี เอกภาพนี้ยอมให้มีความแตกต่างทุกประการ ทั้งยังส่งเสริมความแตกต่างเหล่านั้นด้วย

ในสมัยโบราณ หรือสมัยกลาง ยังไม่มีความคิดนึกเกี่ยวกับประเทศชาติ ในทำนองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยนั้นความสัมพันธ์ในด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา หรือในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเจ้าขุนมูลนายมีความสำคัญมากกว่า แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็คิดว่าแทบทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้ ชาวอินเดียจะมีความรู้สึกเหมือนกับอยู่ที่บ้านของตนไม่ว่าจะตกไปอยู่ส่วนไหนของอินเดีย ตรงกันข้ามหากต้องตกไปอยู่ในประเทศอื่น เขาจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนแปลกหน้าต่างถิ่น และแน่นอนในกรณีของประเทศที่รับเอาวัฒนธรรมหรือศาสนาจากอินเดียไว้ ชาวอินเดียจะรู้สึกว่าตนเป็นคนแปลกหน้าต่างถิ่นน้อยลง

ผู้นับถือศาสนาอื่นซึ่งไม่ใช่มีรกรากในอินเดียหรือผู้ที่เข้ามาแล้วตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในอินเดีย ได้กลายเป็นเป็นชาวอินเดียไปอย่างเต็มตัวภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วคน เช่นชาวคริสต์ ชาวยิว ชาวปาร์ซี และชาวมุสลิม ชาวอินเดียที่หันไปนับถือศาสนาเหล่านี้ ก็ไม่เคยเลิกละความเป็นความอินเดียเพราะเหตุที่เปลี่ยนศาสนานับถือเลย ในประเทศอื่นที่เขาเข้าไป เขาจะถูกมองว่าเป็นชาวอินเดียและเป็นชาวต่างประเทศ แม้ว่าศาสนาที่ชาวอินเดียและชาวประเทศนั้นนับถือจะเป็นศาสนาเดียวกัน

ในปัจจุบัน ขณะที่ความคิดทางชาตินิยมได้พัฒนาไปมาก ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ต้องรวมเป็นกลุ่มก้อนแห่งชาติเดียวกัน และต้องสมานสามัคคีกันเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีความขัดแย้งกันอยู่ภายในก็ตาม ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาคริสต์จะถูกมองว่าเป็นชาวอินเดียไม่ว่าเขาจะไปสู่ ณ ที่ใด ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะถูกมองว่าเป็นชาวอินเดีย ไม่ว่าในประเทศตุรกี อาหรับ หรืออิหร่าน หรือในประเทศอื่น ที่อิสลามเป็นศาสนานำหน้า

No comments: