Monday, March 31, 2008

บทความที่๓๘๐.ท่านปรีดีกับขบวนกู้ชาติในลาว (๑)

ปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว

"สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" เป็นความพยายามของรัฐบรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในการดำเนินภารกิจปลดปล่อยประชาชาติในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากภารกิจกอบกู้เอกราชชาติไทยของขบวนการเสรีไทยได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง นอกจากไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ยังตกเป็นเมืองในอารักขาของมหาอำนาจตะวันตก เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่าและแหลมมลายูยังอยู่ในความครอบครองของอังกฤษ อินโดนีเซียยังอยู่ในอาณัติของเนเธอแลนด์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นรัฐที่ ๕๒ ของสหรัฐอเมริกา

บรรดาผู้นำรักชาติในภูมิภาคนี้ได้เคลื่อนไหวต่อสู้อย่างทรหด เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของประชาชาติเหล่านี้ ซึ่งหลายคนเคยเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนอุดมการณ์กันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนฝรั่งเศสเมื่อสองทศวรรษก่อน ท่านปรีดีเห็นว่า เป็นความชอบธรรมที่ประชาชาติเล็กๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์จะรวมตัวกันเพื่อสร้างแนวร่วมกู้ชาติขึ้น

ท่านปรีดีได้ริ่เริ่มก่อตั้ง "สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยได้รับการสนับสนุนเห็นชอบจากเพื่อนผู้นำรักชาติในอินโดจีนหลายท่านได้แก่ ท่านอูอองซานแห่งพม่า ท่านโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม รวมทั้งผู้นำกู้ชาติลาวทุกฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายซ้าย ฝ่ายกลาง จนถึงฝ่ายขวา

จุดมุ่งหมายของสมาคมสหชาติฯ ก็เพื่อเคลื่อนไหวให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ได้ตัดสินชะตากรรมของชาติตนโดยไม่มีจักรวรรดินิยมทั้งเก่าและใหม่เข้ามาแทรกแซง เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง ผู้แทนจากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมฯ ซึ่งก็คือ นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำเสรีไทยคนสำคัญในสายอีสาน และเป็นนักการเมืองคนสำคัญของพรรคสหชีพ

อย่างไรก็ตาม การต่อตั้งสมาคมสหชาติฯ ตกอยู่ในการเฝ้ามองอย่างระแวดระวังของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งกลายมาเป็นตำรวจโลก หลังมหาสงครามอเมริการวมทั้งชาติพันธมิตรอื่นๆ หวาดระแวงว่า สมาคมดังกล่าวจะกลายเป็นองค์การจัดตั้งของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ แม้ท่านปรีดีจะมิได้เป็นประธานสมาคมสหชาติฯ แต่อเมริกาก็รู้ว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสของไทยผู้นี้เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนกิจการของสมาคมสหชาติฯ อย่างแข็งขัน

ประเด็นที่มหาอำนาจตะวันตกเข้าใจผิดเกี่ยวกับท่านปรีดี หรือ "รู้ธ" หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้เคยร่วมกอบกู้สันติภาพกับสัมพันธมิตร ก็คือคิดว่า ท่านปรีดีเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทั้งที่อุดมการณ์แห่งชาติในทางการเมืองนั้น ท่านปรีดียึดถือระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เห็นได้จากในคราวที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเปิดให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งยังให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพฤฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

โดยที่ก่อนหน้านี้ ท่านปรีดีได้เคยแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยเสนอให้ฝรั่งเศสร่วมกับไทยเป็นผู้อุปถัมภ์สหภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในระยะแรกจะประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่อยู่ในสหภาพฝรั่งเศส ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา แต่ฝรั่งเศสกลับปฏิเสธแผนการสร้างสรรค์สันติภาพในภูมิภาคนี้อย่างไม่มีเยื่อใย

โดยจุดยืนแล้ว ท่านปรีดีมิได้มุ่งหมายจะให้สมาคมสหชาติฯ เป็นเวทีของคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อย หากแต่ต้องการให้บรรดาผู้นำผู้รักชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ว่าฝ่ายกลาง ฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้ายใช้เวทีนี้สร้างแนวร่วมระดับภูมิภาคเพื่อต่อรองกับมหาอำนาจที่ครอบงำภูมิภาคนี้อยู่

แต่องค์การทางการเมืองระหว่างประเทศนี้ตั้งอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องมีอันสิ้นสุดลง หลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และการที่การรัฐประหารของกลุ่มทหารเผด็จการประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น ก็เพราะได้รับการรับรองจากมหาอำนาจตะวันตกที่ต้องการกีดกันรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ออกจากวงการเมืองระหว่างประเทศ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ของพวกตน

น่าเสียดาย หาก "สมาคมสหชาติเอเซียอาคเนย์" ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ตามแนวทางที่วางเอาไว้ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกเปิดโอกาสหรือสนับสนุนให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ตกลงแก้ไขปัญหาตามความต้องการของตนเอง ปัญหาอินโดจีนคงจะยุติด้วยวิถีทางที่สันติและเสียเลือดเนื้อน้อยกว่าที่ได้เป็นไปแล้วในสงครามเวียดนาม สงครามในลาว และสงครามในกัมพูชา

จากคำนำ หนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับ ขบวนการกู้เอกราชในลาว

No comments: