Wednesday, March 19, 2008

บทความที่๓๖๕.ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๓)

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์
อนึ่ง ข้าพเจ้าขอนำคำแปลบันทึกสำหรับประธานาธิบดีรุซเวลส์ เพื่อใช้ในการเจรจากับ เชอร์ชิลล์,สตาลิน,เจียงไคเช็ค (ในฐานะแทนรัฐบาลรวมจีน) ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๘๘ ที่ นครยัลตา อันเกี่ยวกับปัญหาประเทศไทยนั้น มาลงพิมพ์ไว้ดั่งต่อไปนี้


คำแปลบันทึกของกรมกิจการปาซิฟิคภาคตะวันออกเฉียงใต้
๘๙๒.๐๑/๑-๑๓๔๕
กรุงวอชิงตัน ๑๓ มกราคม ๒๔๘๘

บันทึกเพื่อประธานาธิบดี
(เพื่ออาจใช้ในการเจรจากับ มร.เชอร์ชิลล์ และ จอมพลสตาลิน)

เรื่อง ฐานะอนาคตของประเทศไทย

นโยบายของอังกฤษต่อประเทศไทยแตกต่างกับของเรา อังกฤษถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู นั่นเป็นทรรศนะของเขา
.........................................
ประวัติศาสตร์การบีบคั้นของยุโรปต่อประเทศไทยและประวัติศาสตร์ยุโรปในเรื่องการยึดเอาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ย่อมยังอยู่ในความทรงจำอย่างกระจ่างแจ้งของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบไม่ว่าวิธีไหนที่จะสืบเนื่องแนวนโยบายจักรววรดินิยมสมัยก่อนสงครามแก่ประเทศไทยไม่ว่าจะปรากฏในรูปลักษณะใดก็ตาม

ภายในประเทศไทยนั้น องค์การปกครองที่เริ่มแรกได้ยอมจำนนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ร่วมมือ(กับญี่ปุ่น) อย่างเปิดเผยนั้นได้เข้าแทนที่โดยองค์การปกครอง (รัฐบาลนายควงฯ)ที่ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของประดิษฐ์ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปัจจุบัน เป็นผู้ซึ่งได้รับความนับถือมากที่สุดในบรรดาผู้นำไทย และได้เป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มแรก การติดต่อของฝ่ายอเมริกันได้สถาปนาขึ้นกับประดิษฐ์ฯ ผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจแก่งานลับของสัมพันธมิตรและเป็นผู้ซึ่งได้แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และประสงค์ให้กองทัพไทยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับฝ่ายสัมพันธมิตร
.........................................

บันทึกสังเขปเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประดิษฐ์ฯ นั้นได้แนบมา ณ ที่นี้ด้วย
(ข้าพเจ้าไม่ขอแปลบันทึกสังเขปนี้ เพราะจะเป็นการสดุดีตนเองมากเกินไป)


เอกสารหลักฐานฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้พิมพ์เปิดเผยแล้วยังมีอีกมาก ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำลงพิมพ์ในหนังสือที่ข้าพเจ้าได้รวบรวม จะพิมพ์ขึ้นโดยให้ชื่อว่า ‘โมฆะสงคราม’ แต่การที่ข้าพเจ้าอ้างบันทึกนครยัลต้านั้น ก็เพื่อแสดงให้ผู้นับถือผู้นำสัมพันธมิตรทุกฝ่ายรวมทั้งนับถือสตาลินเข้าใจว่า ผู้นำแห่งมหาประเทศสัมพันธมิตรสมัยนั้นก็ได้รับรองบทบาทของขบวนการเสรีไทยทั้งๆ ที่ขบวนการนั้นมิได้อวดอ้างว่าเป็นผู้นำราษฎรไทยต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อนึ่ง ควรสังเกตไว้ด้วยว่าถ้าหากจีนและสตาลินไม่รับรองขบวนการเสรีไทยแล้ว ก็คงจะคัดค้านการสมัครของประเทศไทยเพื่อเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๗ จนถึงที่สุด เพราะอีกหลายประเทศก็ถูกคัดค้านและต้องรอคอยมาอีก ๑๐ กว่าปี จึงได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

No comments: