ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์
โดย ปรีดี พนมยงค์
ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวถึงคุณเฉียบฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นแล้ว ว่ากรมตำรวจได้เปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯจากตำแหน่งผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรมาเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณเฉียบฯจึงได้มาหาข้าพเจ้าปรารภว่าการที่ไปเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรนั้น ก็เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ฉะนั้นจึงขอให้ข้าพเจ้าช่วยให้ได้กลับมาประจำในกองตำรวจสันติบาลตามสังกัดเดิม ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ให้พิจารณาตามความเป็นธรรมที่เหมาะสม อธิบดีกรมตำรวจพิจารณาแล้วจึงได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯมาประจำกองตำรวจสันติบาล
ขณะนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๙ ซึ่งให้เสรีภาพบริบูรณ์แก่ปวงชนชาวไทยในการเลือกถือลัทธินิยมใดๆ ในสมาคมและในการตั้งพรรคการเมือง ฯลฯ ฉะนั้นฝ่ายกรรมกรจึงมีสิทธิเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้อธิบดีกรมตำรวจมอบหมายการงานพิเศษให้แก่คุณเฉียบฯ เพื่อช่วยเหลือกรรมกรที่เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการจากนายจ้างซึ่งเป็นธรรมดาที่นายจ้างก็ไม่ยอมตกลงง่ายๆ ฉะนั้น คุณเฉียบฯจึงได้ไปช่วยกรรมกรเจรจากับนายจ้างเป็นผลสำเร็จหลายราย อาทิ กรรมกรโรงงานเบียร์ของบริษัทบุญรอด, กรรมกรโรงเลื่อยไม้ ฯลฯ และช่วยเหลือกรรมกรในงานชุมนุมใหญ่ แห่งวันกรรมกรสากล (๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย คุณเฉียบฯได้เปลี่ยนจิตสำนึกจากการเป็นนายตำรวจของฝ่ายนายทุน มาเป็นนายตำรวจของฝ่ายกรรมกร และได้ทำการต่อต้านพวกที่มีซากทัศนะทาสกับทัศนะศักดินา ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูระบบถอยหลังเข้าคลองขึ้นมาอีก ฉะนั้นเมื่อพวกปฏิกิริยาทำรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จึงในบรรดาคำสั่งของคณะนั้นได้มีคำสั่งฉบับหนึ่งปลดคุณเฉียบออกจากตำแหน่งประจำการ คุณเฉียบพร้อมด้วยผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชา บางคน อาทิ คุณเทพวิฑูรย์ นุชเกษม ส.ต.ท.ชม แสงเงิน ฯลฯ จึงได้ไปขอลี้ภัยอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้านพักของกรมนาวิกโยธินสัตตหีบโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ได้กรุณาต้อนรับข้าพเจ้าและผู้ติดตามให้พักอาศัยเพื่อลี้ภัยรัฐประหารนั้น
(โปรดอ่านบทความที่ ๑๑๘ จนถึง ๑๒๔ และ ๑๒๖ เรื่อง บันทึกของคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/04/blog-post_27.html)
ต่อมาข้าพเจ้าได้ออกจากสัตตหีบเพื่อไปลี้ภัยที่สิงคโปร์โดยความช่วยเหลือของนาวาเอกการ์เดส นำเรือเร็วไปส่งข้าพเจ้าขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษที่อ่าวสยาม เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่คุณเฉียบกับผู้ติดตามยังคงพักอาศัยอยู่ที่สัตตหีบชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ครั้นแล้วคุณเฉียบกับผู้ติดตามก็ได้เดินทางไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้ว คุณเฉียบได้รายงานตัวต่อตำรวจสิงคโปร์ ขอลี้ภัยการเมือง ในชั้นแรกนายตำรวจสิงคโปร์ได้มาพบข้าพเจ้าแจ้งว่า เขามีความยินดีมากที่จะขอให้คุณเฉียบทำงานเป็นนายตำรวจที่สิงคโปร์ แต่อีกไม่กี่วันต่อมาตำรวจสิงคโปร์ก็ได้จับตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม แสงเงิน โดยอ้างว่ารัฐบาลไทย (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)ได้ขอให้ส่งตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม กลับประเทศไทยในข้อหาว่าเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย แต่ความจริงนั้น ตำรวจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องการจะเอาตัวบุคคลทั้งสองไปเป็นผู้ต้องหาว่าลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ ดังที่ปรากฏในบันทึกพระยาศรยุทธเสนีย์ว่า ขณะนั้นพระพินิจชนคดี และหลวงแผ้วพาลชน นายตำรวจทั้งสองกำลังเกลี้ยกล่อมที่จะให้พระยาศรยุทธเสนีย์ให้การปรักปรำบุคคลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นปรปักษ์ของเขา เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ฯลฯ อันเป็นการแก้แค้นทางการเมือง โดยอาศัยกรณีสวรรคตมาเป็นเครื่องบังหน้า
คุณเฉียบ และ ส.ต.ท.ชมฯ ต้องถูกขังอยู่หลายวันที่กองตำรวจสิงคโปร์ เพราะฝ่ายรัฐบาลไทยของผลัดเวลาส่งหลักฐานมา เมื่อตำรวจสิงคโปร์ได้เอกสารที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นหลักฐานแท้จริงตามข้อหานั้นส่งมายังตำรวจสิงคโปร์แล้ว ตำรวจสิงคโปร์ก็ได้นำตัวคุณเฉียบฯ กับ ส.ต.ท.ชมขึ้นศาลสิงคโปร์ให้พิจารณา
ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ศาลสิงคโปร์จึงเป็นศาลของอังกฤษซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นคนอังกฤษ ในวันพิจารณา ตำรวจสิงคโปร์ได้นำกงสุลไทยประจำสิงคโปร์เป็นพยานให้การรับรองว่าเอกสารที่ตำรวจยื่นต่อศาลนั้นเป็นเอกสารของรัฐบาลไทย ครั้นแล้วผู้พิพากษาอังกฤษจึงได้หยิบสำนวนชูชึ้นกล่าวว่า
“Nothing, so discharge these two persons”
แปลว่า “ไม่มีอะไรเลย,ดังนั้นจึงปล่อยบุคคลทั้งสองให้พ้นข้อหาไป”
Wednesday, March 19, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment