บทที่ ๒ การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ต้องสยบต่อกองทัพสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พร้อมทั้งถอนกำลังออกจากประเทศจีน สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศจีนก็รุนแรงขึ้นอีก ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนซึ่งมีเจียงไคเช็คเป็นประธานาธิบดี กับพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง ได้ขยายสงครามขัดแย้งโดยปะทะกันหลายครั้ง แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามไกล่เกลี่ยให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุดก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็ค ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่วนฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้รับความสนับสนุนภายนอกโดยอ้อมจากสหภาพโซเวียตซึ่งยึดครองแมนจูเรียอยู่ ในเวลาไม่นานนัก กองทัพปลดแอกของฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็สามารถตอบโต้และรุกไล่จนได้รับชัยชนะยึดนครปักกิ่งสำเร็จในเดือนมกราคม ๒๔๙๒ และยึดทั้งประเทศได้ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง ในที่สุดรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็ค ต้องถอยร่นหนีไปอยู่เกาะไต้หวัน
ในการนี้สหรัฐฯได้ช่วยเหลือเจียงไคเช็ค ในการเคลื่อนย้ายและสถาปนาอาณาจักรใหม่ที่ไต้หวัน และยังคงมีเงินเหลืออยู่เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งได้ตกทอดมายังประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับพันธมิตรที่จงรักภักดี เช่นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีเอกสารยืนยันคือ เอกสาร สร.๐๒๐๑.๙๖/๖ ที่ น. ๑๐๓/๒๔๙๓ “เรื่องคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการข้อ ๔ ของประธานาธิบดีทรูแมน หรือคณะกรรมการร่วมมือกับผู้แทนพิเศษฝ่ายเศรษฐกิจและวิชาการของสหรัฐอเมริกา (กศว.)”
เหมา เจ๋อ ตง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
ต่อมาในราวกลางเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น ขณะที่จีนกำลังอยู่ในช่วงแห่งการสถาปนาระบอบใหม่ เหมา เจ๋อ ตงได้เดินทางไปสหภาพโซเวียตเพื่อเปิดการเจรจากับสตาลิน จากนั้นอีกไม่นานจึงได้มีการลงนามในสัญญามิตรภาพพันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเวลา ๓๐ ปี ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ สนธิสัญญาฉบับนี้แสดงถึงแนวนโยบายต่างประเทศของจีน ซึ่งมีลักษณะ “เอนพึ่งพิงข้างหนึ่ง” กล่าวคือ ต้องพึ่งพิงกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อันมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ นโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุและปัจจัยหลายประการ ปัจจัยภายในที่สำคัญนั้นสืบเนื่องมาจากการที่สภาพภายในของจีนยังไม่มั่นคง ด้วยสงครามกลางเมืองเพิ่งจะสิ้นสุด ศัตรูยังมิได้ถูกกำจัดลงสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ยังมิได้แผ่กระจายซึมลึกลงในแผ่นดินจีน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมยิ่ง จะต้องฟื้นฟูบูรณะแก้ไขอีกมาก ปัจจัยภายในเหล่านี้ทำให้จีนใต้ระบอบใหม่จำต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากมิตรภายนอก
ส่วนปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสถานการณ์ระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลสำคัญ ทั้งนี้เพราะสภาพความขัดแย้งในสงครามเย็นทำให้ระบบการเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มหรือ ๒ ขั้ว คือระหว่างกลุ่มโลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกากับกลุ่มคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯซึ่งให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลคณะชาติไต้หวัน ของเจียง ไค เช็ค ก็มิได้แสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังพยายามคุกคามรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ด้วยการริเริ่มนโยบายปิดล้อม การการส่งกองเรือที่ ๗ มาประจำแถบภูมิภาคนี้อีกด้วย
การปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะ “พลิกแผ่นดิน” โดยการยึดอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ของประเทศซึ่งมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาช้านาน ย่อมส่งผลสะเทือนต่อดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้อย่างใหญ่หลวง และไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ดุลยภาพของฝ่ายคอมมิวนิสต์ยิ่งทวีความเข้มแข็งขึ้น เกิดขบวนการปฏิวัติ ขบวนการปลดแอกจากชาติอาณานิคมที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้งในมลายู พม่า และอินโดจีน ซึ่งล้วนล้อมรอบประเทศไทยอยู่ อย่างไรก็ดี การที่จีนมีความจำเป็นในการบูรณะพัฒนาประเทศ เพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยมที่มั่นคงขึ้นนั้น ทำให้จีนพยายามจำกัดการเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการระหว่างประเทศ แต่ทว่าทั้ง ๆ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่สามารถจัดการกับสภาพการณ์ภายในให้รุดหน้ามั่นคง ก็จำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ต้องสยบต่อกองทัพสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พร้อมทั้งถอนกำลังออกจากประเทศจีน สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศจีนก็รุนแรงขึ้นอีก ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนซึ่งมีเจียงไคเช็คเป็นประธานาธิบดี กับพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง ได้ขยายสงครามขัดแย้งโดยปะทะกันหลายครั้ง แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามไกล่เกลี่ยให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุดก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็ค ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่วนฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้รับความสนับสนุนภายนอกโดยอ้อมจากสหภาพโซเวียตซึ่งยึดครองแมนจูเรียอยู่ ในเวลาไม่นานนัก กองทัพปลดแอกของฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็สามารถตอบโต้และรุกไล่จนได้รับชัยชนะยึดนครปักกิ่งสำเร็จในเดือนมกราคม ๒๔๙๒ และยึดทั้งประเทศได้ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง ในที่สุดรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็ค ต้องถอยร่นหนีไปอยู่เกาะไต้หวัน
ในการนี้สหรัฐฯได้ช่วยเหลือเจียงไคเช็ค ในการเคลื่อนย้ายและสถาปนาอาณาจักรใหม่ที่ไต้หวัน และยังคงมีเงินเหลืออยู่เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งได้ตกทอดมายังประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับพันธมิตรที่จงรักภักดี เช่นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีเอกสารยืนยันคือ เอกสาร สร.๐๒๐๑.๙๖/๖ ที่ น. ๑๐๓/๒๔๙๓ “เรื่องคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการข้อ ๔ ของประธานาธิบดีทรูแมน หรือคณะกรรมการร่วมมือกับผู้แทนพิเศษฝ่ายเศรษฐกิจและวิชาการของสหรัฐอเมริกา (กศว.)”
เหมา เจ๋อ ตง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
ต่อมาในราวกลางเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น ขณะที่จีนกำลังอยู่ในช่วงแห่งการสถาปนาระบอบใหม่ เหมา เจ๋อ ตงได้เดินทางไปสหภาพโซเวียตเพื่อเปิดการเจรจากับสตาลิน จากนั้นอีกไม่นานจึงได้มีการลงนามในสัญญามิตรภาพพันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเวลา ๓๐ ปี ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ สนธิสัญญาฉบับนี้แสดงถึงแนวนโยบายต่างประเทศของจีน ซึ่งมีลักษณะ “เอนพึ่งพิงข้างหนึ่ง” กล่าวคือ ต้องพึ่งพิงกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อันมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ นโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุและปัจจัยหลายประการ ปัจจัยภายในที่สำคัญนั้นสืบเนื่องมาจากการที่สภาพภายในของจีนยังไม่มั่นคง ด้วยสงครามกลางเมืองเพิ่งจะสิ้นสุด ศัตรูยังมิได้ถูกกำจัดลงสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ยังมิได้แผ่กระจายซึมลึกลงในแผ่นดินจีน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมยิ่ง จะต้องฟื้นฟูบูรณะแก้ไขอีกมาก ปัจจัยภายในเหล่านี้ทำให้จีนใต้ระบอบใหม่จำต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากมิตรภายนอก
ส่วนปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสถานการณ์ระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลสำคัญ ทั้งนี้เพราะสภาพความขัดแย้งในสงครามเย็นทำให้ระบบการเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มหรือ ๒ ขั้ว คือระหว่างกลุ่มโลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกากับกลุ่มคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯซึ่งให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลคณะชาติไต้หวัน ของเจียง ไค เช็ค ก็มิได้แสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังพยายามคุกคามรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ด้วยการริเริ่มนโยบายปิดล้อม การการส่งกองเรือที่ ๗ มาประจำแถบภูมิภาคนี้อีกด้วย
การปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะ “พลิกแผ่นดิน” โดยการยึดอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ของประเทศซึ่งมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาช้านาน ย่อมส่งผลสะเทือนต่อดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้อย่างใหญ่หลวง และไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ดุลยภาพของฝ่ายคอมมิวนิสต์ยิ่งทวีความเข้มแข็งขึ้น เกิดขบวนการปฏิวัติ ขบวนการปลดแอกจากชาติอาณานิคมที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้งในมลายู พม่า และอินโดจีน ซึ่งล้วนล้อมรอบประเทศไทยอยู่ อย่างไรก็ดี การที่จีนมีความจำเป็นในการบูรณะพัฒนาประเทศ เพื่อสถาปนาระบอบสังคมนิยมที่มั่นคงขึ้นนั้น ทำให้จีนพยายามจำกัดการเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการระหว่างประเทศ แต่ทว่าทั้ง ๆ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่สามารถจัดการกับสภาพการณ์ภายในให้รุดหน้ามั่นคง ก็จำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
No comments:
Post a Comment