ตอนที่ ๔ การคุกคามหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐
ในช่วงแห่งสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีจากจัดตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น โดยมีการระดมพลทั่วประเทศเพื่อฝึกฝนการใช้กำลังอาวุธ ตลอดจนรวบรวมยุทโธปกรณ์ทันสมัยไว้ใช้ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ เมื่อสงครามยุติลงแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้เปิดเผยว่าขบวนการเสรีไทยมีผู้สนับสนุนและเข้าร่วมเป็นแนวหน้าถึง ๘๐,๐๐๐ คนและอีก ๕๐๐,๐๐๐ คนพร้อมที่จะเข้าร่วมเมื่อคราวจำเป็น ต่อมาในวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ภายหลังการประกาศศานติภาพ ขบวนการเสรีไทยก็ได้จัดให้มีการเดินขบวนสวนสนามฉลองสันติภาพครั้งใหญ่ และแม้ว่าจะได้ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยหลังจากที่สถานการณ์สงครามสงบลงแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการกระทบกระทั่งกันระหว่างอดีตสมาชิกเสรีไทยกับทหารบก สาเหตุหนึ่งก็คือบุคคลผู้ที่สนับสนุนท่านปรีดี โดยเฉพาะผู้ที่เคยร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดในขบวนการเสรีไทย ได้เข้ามาในสายการบังคับบัญชาของกองทัพ เช่น การแต่งตั้งหลวงสินาดโยธารักษ์ หลวงอดุลเดชจรัส และพลเรือตรีหลวงสังวรยุทธกิจ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกองทัพอย่างลึก ๆ
สมาชิกเสรีไทยที่สลายกำลังลงไปแล้วนั้น ส่วนหนึ่งได้ก่อตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ที่สำคัญที่สองกลุ่มคือ พรรคสหชีพ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล เป็นต้น กับกลุ่มนักการเมืองฝ่ายพลเรือนอื่น ๆ ที่สนับสนุนท่านปรีดี เช่นนายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ นายเดือน บุนนาค โดยมีนายเดือน บุนนาคเป็นหัวหน้าพรรค อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญซึ่งมีแกนนำในการจัดตั้งคือ สมาชิกคณะราษฎรที่สนับสนุนท่านปรีดี เช่น พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายดิเรก ชัยนาม มล.กรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ฯลฯ โดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดื เป็นหัวหน้าพรรค นายทองเปลว ชลภูมิเป็นเลขาธิการพรรค
การที่กลุ่มขบวนการเสรีไทยที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์สามารถรวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นได้เช่นนี้ ทำให้มีความเข้าใจกันว่า “เสรีไทย” หมายถึงกลุ่มของท่านปรีดี และเป็นอริกับฝ่ายทหารบก ดังนั้นเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศว่าจะเข้ามาในวงการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมมือกับหลวงวิจิตรวาทการ และพลเอกมังกร พรหมโยธีจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ ก็มีการประชุมลงมติต่อต้านคัดค้านจากสมาชิกพรรคสหชีพจากภาคอีสาน
ในช่วงเวลาที่รัฐบาลพลเรือนของท่านปรีดี พนมยงค์กำลังบริหารงานอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทยขึ้นมากล่าวหา-โจมตีฝ่ายท่านปรีดี อย่างหนักถึง ๕ ประเด็น ทั้งโดยการเคลื่อนไหวในรัฐสภาคือการตั้งกระทู้ถามผ่านรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการวิสามัญสะสางเงินในงบสันติภาพของเสรีไทย และการโจมตีภายนอกรัฐสภาผ่านสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของขบวนการเสรีไทยและท่านปรีดี พนมยงค์
ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความรู้สึกหวาดกลัวของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกำลังของขบวนการเสรีไทยว่าจะใช้กำลังที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไปเป็นรูปอื่น แต่ท่านปรีดี พนมยงค์มีใจสูงเกินกว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์จะตระหนักถึง ท่านปรีดี จึงไม่เคยเล่นการเมืองด้วยวิธีสกปรก โสมมอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำมาตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคจนมาถึงปัจจุบัน และด้วยวิตกจริตของพรรคประชาธิปัตย์นี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมยินยอมร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอำนาจนิยมในการก่อรัฐประหาร
ดังนั้นเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ ขึ้น ฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของคณะเสรีไทยจึงถูกคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมซึ่งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น ในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารฉบับที่ ๑๑ แม้จะได้ปฏิเสธว่าปฏิบัติการของคณะทหาร หรือคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะเสรีไทย แต่ข้อความบางตอนก็สะท้อนความวิตกจริตนี้ออกมา
อย่างไรก็ตามภายหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ยังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารต้องการอาศัยระยะเวลาจัดการปัญหาอำนาจในกองทัพที่ลักลั่นและต้องการฟื้นบทบาทอันเนื่องจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงคราม ให้แก่กลุ่มตนเสียก่อน ดังนั้นเมื่อคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ มอบสิทธิอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่นายควง อภัยวงศ์ไปแล้ว ก็ได้ริเริ่มการเสริมสร้างอำนาจให้คณะรัฐประหาร โดยการแต่งตั้งผู้ร่วมก่อการรัฐประหารให้เข้าไปประจำและยึดกุมตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกองทัพบก ในการนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ ๑ พร้อมทั้งขจัดผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ออกไปจากแวดวงอำนาจราชการ การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดก็คือ การแต่งตั้งพันเอกเผ่า ศรียานนท์ไปควบคุมกรมตำรวจในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ โดยที่พลโทชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคัดค้านไม่เห็นชอบด้วย และด้วยตำแหน่งสภาพนี้เองที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา ๕ ปีตั้งแต่รัฐประหาร ๒๔๙๐ ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้กุมกำลังสำคัญฝ่ายทหาร
จากนั้นคณะรัฐประหาร ซึ่งยังคงรูปสภาพองค์กรของตนเอาไว้โดยอาศัยอำนาจตาม “พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.๒๔๙๐” ก็ได้ดำเนินการกวาดล้างอาวุธและพลพรรคเสรีไทยฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ กลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี ต้องเผชิญกับกับการคุกคาม-ขู่เข็ญของคณะรัฐประหารคือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้นำทางภาคอีสานถูกตรวจค้นอาวุธและจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม ๒๑ คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรมในข้อหาฆ่าคนตาย จับนายวิจิตร ลุลิตานนท์และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาเหล่านี้เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีการครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย เช่นนายอ้วน นาครทรรพ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ นายทิม ภูริพัฒน์ และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุมนั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพาน และหลบหนีการจับกุมของฝ่ายคณะรัฐประหารได้ตลอดเวลา จนกระทั่งภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงกลับลงมาต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภาอีกครั้ง แต่ต่อมานายเตียง ศิริขันธ์ถูกกำจัดอย่างลึกลับภายหลังเหตุการณ์กบฏสันติภาพ ส่วนพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากถูกโค่นรัฐบาลโดยคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ ก็ได้เก็บตัวอยู่ในฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมทั้งพยายามแสวงหาความสนับสนุนจากบรรดานายทหารเรือ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารก็ได้ออกหมายจับพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในข้อหามีแผนการณ์ต่อต้านรัฐบาลพร้อมทั้งจับกุมอดีตรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลอีกหลายคน เช่นนายทองเปลว ชลภูมิ และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นต้น
ต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้มีการจับกุมในข้อหากบฏ ดังที่เรียกกันว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ถึงสองครั้ง โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์มีแผนการณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน เพื่อสถาปนาเป็น “สมาพันธรัฐแหลมทอง” มีการจับกุมนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายฟอง สิทธิธรรม นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายทิม ภูริพัฒน์ อย่างไรก็ตามก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไปในเวลาไม่นานนัก แต่สภาพกดดันเหล่านี้ทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ เช่น พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายไสว สุทธิพิทักษ์ นายทอง กันฑาธรรม นายพึ่ง ศรีจันทร์ และนายทวี บุญเกตุ เป็นต้น ต้องหลบลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศหรือไม่ก็กบดานอยู่ในท้องถิ่นของตน และไม่อาจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ระยะหนึ่ง
No comments:
Post a Comment