Thursday, April 19, 2007

บทความที่ ๑๐๕. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๑

สยามวิกฤติ

การเผชิญหน้ามรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ

สภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ยุติลง ส่งผลให้เกิดวิกฤตที่ลึกซึ้งหลายประการ ที่สำคัญคือ ตลาดโลกได้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ตลาดทุนนิยมกับตลาดสังคมนิยม โดยมีสหรัฐอเมริกาโดดเด่นเป็นผู้นำโลกทุนนิยม นอกจากนี้ระบอบอาณานิคม-กึ่งอาณานิคม ซึ่งเคยเป็นรากฐานหล่อเลี้ยงระบบทุนนิยมโลก โดยการครอบงำสังคมโลกนอกตะวันตกมาเนิ่นนานนับศตวรรษก็กำลังเสื่อมสลายลง อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวตื่นตัวของขบวนการกู้ชาติ-ปลดแอกอาณานิคมได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันพลังประชาธิปไตยและสังคมนิยมซึ่งบั่นทอนการครอบงำของระบบทุนนิยมก็เติบโตแข็งกล้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับโลกคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงนั้น เกียรติภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตยิ่งใหญ่ขึ้นจากการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายอักษะ เมื่อประกอบกับการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศภายหลังสงครามโลก ทำให้พลังสังคมนิยมได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก พลังเหล่านี้มุ่งปลดแอกมนุษยชาติจากการครอบงำของชนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะจากชาติจักรวรรดินิยมหรือจากเผด็จการฟาสซิสต์ พลังเหล่านี้ได้ประกอบรวมกันเป็นขบวนการปฏิวัติที่แผ่ขยายกว้างขวางทั่วโลก ในยุโรปตะวันออกได้มีการสถาปนาระบอบ “ประชาธิปไตยของประชาชน” ขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ โรมาเนีย เยอรมันตะวันออก ยูโกสลาเวีย เชคโกสโลวาเกีย อัลบาเนีย บัลกาเรีย และฮังการี ส่วนในภูมิภาคนอกตะวันตก ขบวนการกู้ชาติได้ตื่นตัวเคลื่อนไหวในอินเดีย จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย พม่า เกาหลี มลายู ฟิลิปปินส์ ตลอดจนแทบทุกส่วนของอาฟริกา ขบวนการมวลชนเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดแนวลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ที่ได้แผ่กระจายลึกซึ้งเปรียบเสมือนพลังทางสังคมที่สนับสนุนอยู่อีกชั้นหนึ่ง

บทที่ ๑ สงครามเย็น

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจะยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ยังดำเนินต่อไป โดยมีคู่ขัดแย้งใหม่คือ สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งของมหาอำนาจสองประเทศที่เรียกว่า “สงครามเย็น” เริ่มจากอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน สหรัฐฯถืออุดมการณ์การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สหภาพโซเวียต ถืออุดมการณ์การเมืองแบบคอมมูนนิสต์และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ผู้นำสองประเทศนี้เริ่มแสดงทัศนะขัดแย้งกันโดยแบ่งโลกเป็นสองฝ่ายในต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ ความขัดแย้งได้แสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ มีการตอบโต้กันด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งทางการทูต การทหาร และเศรษฐกิจ มีการแสวงหามิตรประเทศและพันธมิตรทางทหาร เพื่อขัดขวางการขยายอำนาจของฝ่ายตรงข้าม

สภาพความขัดแย้งในสงครามเย็น ได้เริ่มตึงเครียดสูงขึ้นในทวีปยุโรป เมื่อสหภาพโซเวียตได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี โรมาเนีย บัลกาเรีย และได้สถาปนาระบบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกมากขึ้น ทางสหรัฐฯได้ตอบโต้โดยการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารแก่พันธมิตรของตนในยุโรปตะวันตก

ในทางด้านเศรษฐกิจ,สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปตะวันตกตามหลักการของของประธานาธิบดี (Turman Doctrine) เพื่อมิให้ประเทศเหล่านี้ดำเนินเศรษฐกิจและการเมืองตามอย่างสหภาพโซเวียต หลักการทรูแมน ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นการให้เงินกู้ทางการทหารแก่รัฐบาลกรีซและตุรกีซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทั้งคู่ เพื่อช่วยสร้างกองทัพให้เข้มแข็งโดยเฉพาะในตุรกี เพื่อเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตและเพื่อตอบโต้ ต่อต้านสงครามปฏิวัติซ้อนของประชาชนชาวกรีซที่จะกระทำต่อผู้นำเผด็จการของตน (จากวัตถุประสงค์ของหลักการทูรแมนตรงนี้จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาที่ประกาศตนว่ายึดถืออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย แต่กลับสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในประเทศอื่นให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าผู้นำเผด็จการนั้นจะกดขี่เบียดเบียนประชาชนของตนเพียงไร และนี่เองเป็นคำตอบแก่ประชาชนชาวไทยให้ได้เข้าใจถึงการดำรงอยู่ของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จนมาถึงปัจจุบัน เพราะแม้ว่านโยบายทางการเมืองของสหัฐอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างมากภายหลังการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์แล้วก็ตาม แต่ซากความคิดล้าหลังแบบเผด็จการก็ยังคงตกทอดสืบต่อมาในกลุ่มนายทหารชั้นสูงของไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย!!!)

โดยนัยเช่นนี้ หลักการทรูแมนจึงสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่ว่าพร้อมจะช่วยเหลือรัฐบาลใด ๆ หากสามารถสนองตอบผลประโยชน์ของตน-ร่วมต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์ นอกจากหลักการทรูแมนแล้ว สหรัฐอเมริกายังใช้แผนการมาร์แชลล์ (Marshall Plan) และ แผนการชูมานน์ (Schumann Plan)ในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจแก่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก

แผนการมาร์แชลล์เป็นแผนการที่ริเริ่มโดยนายจอร์จ ซี.มาร์แชลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โครงการฟื้นฟูยุโรป (The European Recovery Program (E.R.P.) เป็นโครงการช่วยเหลือระยะเวลา ๕ ปี ตามโครงการซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ สหรัฐฯได้ใช้เงินจำนวนถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญเพื่อการ “ฟื้นฟู” ยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์อีกแง่มุมหนึ่ง การทุ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล กลับเป็นการกดดันให้ประเทศเหล่านั้นต้องใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทวีคูณ

แผนการชูมานน์ เป็นแผนการริเริ่มโดยนายชูมานน์ เพื่อรวบรวมอุตสาหกรรมเหล็กและถ่านหินของเยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม เนเธอแลนด์ และลักเซมเบอร์ก แต่ในที่สุดอุตสาหกรรมเหล็กและถ่านหินของเยอรมันตะวันตกก็คงโดดเด่นและมีพลังการผลิตที่สูงสุด

การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แก่ยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกามีทัศนะว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อเสถียรภาพ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ส่วนทางด้านการเมืองนั้น ก็โดยการผลักดันให้ประเทศเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อังกฤษ ลักเซมเบอร์ก และเนเธอแลนด์ ลงนามในสนธิสัญญาบรัสเซลส์ (Brussels Treaty) เพื่อจัดตั้งระบบความมั่นคงร่วมกันในยุโรปตะวันตก ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้เจรจากับประเทศกลุ่มยุโรปตะวันตก ๑๑ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลักเซมเบอร์ก โปรตุเกส เนเธอแลนด์ และแคนาดา จนสามารถลงร่วมกันในสนธิสัญญาเพื่อสถาปนาองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (North Atlantic Treaty Organization-NATO) ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำสำคัญ เพื่อต่อต้านการขยายตัวทางการเมือง-การทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เมื่อล่วงเข้าปี ๒๔๙๕ ประเทศกรีซและตุรกีก็ได้เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯเห็นว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนโครงการต่าง ๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการต่อต้านสหภาพโซเวียตเท่านั้น หากจะยับยั้งการขยายตัวของค่ายคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง ต้องเคลื่อนไหวทางการทหาร ประสานกับปฏิบัติการทางการเมืองซึ่งจัดตั้งเป็นองค์การนาโต้ไว้แล้ว จึงได้เรียกร้องให้มีการสถาปนาความร่วมมือทางการทหารในกลุ่มประเทศโลกเสรี แผนการนี้นำมาซึ่งการจัดตั้งกองทัพผสมของยุโรปตะวันตกจากหกประเทศสำคัญ ๆ พร้อมทั้งได้ฟื้นฟูกองทัพเยอรมันตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่คือนาซีเยอรมัน เพื่อเป็นแกนนำสำคัญ องค์กรนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “European Defense Community” (E.D.C) คณะกรรมาธิการฝ่ายทหารนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศภาคีสมาชิก ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการนั้นกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นทหารจากสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพลไอเซนฮาวเออร์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกขององค์การนาโต้

ทางสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการตอบโต้และป้องกันตนเองในทางเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งสภาความร่วมมือและช่วยเหลือทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน (Council for Mutual Economic Assistance-COMECON) ซึ่งมีลักษณะเดียวกับแผนการมาร์แชลล์ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยมีสมาชิกประกอบด้วย สหภาพโซเวียต โปแลนด์ บัลกาเรีย โรมาเนีย เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี อัลเบเนีย (ต่อมาลาออกในปี พ.ศ. ๒๕๐๓) เยอรมันตะวันออก และมองโกเลีย แต่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสหภาพโซเวียตมีทุนและทรัพยากรจำกัด และสนใจผลประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเองมากกว่าประเทศภาคีสมาชิก นอก จากนี้ประเทศภาคีสมาชิกยังถูกจำกัดตลาดให้ค้าขายเฉพาะกับสหภาพโซเวียตเท่านั้น จึงเป็นการจำกัดให้ประเทศภาคีฯต้องพึ่งพิงสหภาพโซเวียตมากขึ้น

ในทางการเมือง สหภาพโซเวียตได้จัดตั้งองค์การข่าวสารคอมมิวนิสต์ขึ้นมา (Communist Information Bureau-COMINFORM) เพื่อการประสานข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ในบรรดากลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออก นอกจากนั้นได้จัดตั้งองค์การทางการเมืองระหว่างประเทศ (International Communist Front Organization) ซึ่งดำเนินงานกว้างขวางทั่วโลกเป็นจำนวนมาก องค์กรบังหน้าเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐฯและองค์การนาโต้ กิจกรรมสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ ก็คือ สนับสนุนการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพ-ต่อต้านสงครามขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อโจมตีสหรัฐเพื่อและพันธมิตรเป็นต้น

เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๔๙๘ สหภาพโซเวียตได้สถาปนาองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Treaty Organization- Warsaw Pact) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหารขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก ๗ ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ เยอรมันตะวันออก โรมาเนีย เชคโกสโลวาเกีย บัลกาเรีย ฮังการี และอัลบาเนีย

สภาพความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสองในลักษณะ “สงครามเย็น” ได้ทวีความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นไป และได้ขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเซีย ดังนั้นเมื่อประกอบกับสภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในภูมิภาคนั้นแล้ว จึงยังผลให้เกิดวิกฤตการณ์ขัดแย้ง-เปลี่ยนแปลงที่สำคัญในทวีปเอเซีย คือ สงครามกลางเมืองและการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ.๒๔๙๒ วิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๗ และการปิดล้อมฝ่ายคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเซีย

No comments: