ความผันผวนทางการเมืองและยุคทมิฬหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐
บทที่ ๑ ความผันผวนทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
สถานะของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อย่างเด่นชัด กล่าวคือ ในชั้นต้นประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกยึดอย่างฉับพลัน แต่หลังจากนั้นในเวลาไม่นานนักก็ได้เข้าสู่สงครามมหาเอเซียบูรพาในภูมิภาคนี้ร่วมกับญี่ปุ่น ด้วยการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ความร่วมมือเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารแก่ญี่ปุ่นในการยึดครองประเทศอื่น นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมยึดครองดินแดนซึ่งใน “ประวัติศาสตร์” เป็นของไทย คือ นครหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และมงคลบุรี ฯลฯ ในขณเดียวกันผู้นำทางการเมืองกลุ่มอื่น คือท่านปรีดี พนมยงค์-ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนักการเมืองฝ่ายพลเรือน, กลุ่ม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมทั้งในและนอกประเทศ ก็ได้เคลื่อนไหวตอบโต้นโยบายสงครามของจอมพลแปลก พิบูลสงครามผู้นำฝ่ายทหาร และต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นด้วยการก่อตั้งองค์การลับใต้ดิน “เสรีไทย” ประสานกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การดำเนินนโยบายสองด้านและความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาวิกฤตินี้ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยดำรงเอกราชของชาติมิให้ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้ดังเช่นญี่ปุ่น แต่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งในกลุ่มผู้นำทั้งสามฝ่ายในระยะเวลาต่อมา
เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง พร้อมกับการประกาศสันติภาพของฝ่ายในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติหลาย ๆ ด้าน ทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์ผันผวนในประเทศ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะเคยประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลง เมื่อผู้นำฝ่ายพลเรือนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมมือสามัคคีกันเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การเจรจาตกลงคืนดินแดนต่าง ๆ ในมลายู อินโดจีน และรัฐฉาน ซึ่งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยึดครองไว้ในระหว่างสงครามคืนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ให้สามารถลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ยกเลิกสถานการณ์สงครามระหว่างกันได้
นอกจากนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ออกพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ “เพื่อให้เป็นไปตามวิถีแห่งประชาธิปไตยและเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่จะได้เจริญสัมพันธไมตรีกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย” แล้ว การแก้ไขปัญหาขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจึงบรรลุผลสำเร็จ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๘๙
แต่ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนชุดต่างๆ สามารถประสานงานเจรจากับต่างประเทศจนกระทั่งสถานการณ์ได้คลี่คลายลงนั้น กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาภายในประเทศที่คุกรุ่นรุนแรงอีกหลายประการ ปัญหาสำคัญในเบื้องต้นก็คือ ปัญหาที่รัฐบาลพลเรือนต้องรับภาระจากการใช้จ่ายเกินดุลย์ของรัฐบาลชุดจอมพลแปลก พิบูลสงครามในช่วงสงคราม ซึ่งมีรายจ่ายที่สำคัญที่สุดได้แก่การให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ยืม เฉพาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ .๒๔๘๔-๒๔๘๘ รวมเป็นเงินถึง ๑,๒๓๐,๗๐๑,๐๘๓ บาท นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังบังคับให้ไทยใช้อัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนใหม่ เหตุดังนี้ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดแนวโน้มทางด้านเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตามข้อตกลงทั่วไปกับประเทศอังกฤษข้อหนึ่งที่ให้จำกัดสินค้าออกของไทย ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศไปเป็นจำนวนมาก ปัญหาวิกฤติทางด้านการเงิน-การคลังนี้ รัฐบาลชุดพลเรือนทุกชุดต่างก็เร่งแก้ไข แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ สภาวะทางจิตใจของประชาชนเกิดความตึงเครียด สับสน ไม่พอใจต่อค่านิยม-ประเพณีเก่า ๆ ในขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะความยุ่งยากทางสังคม-เศรษฐกิจ พรรคการเมืองฝ่ายพลเรือน คือ ฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยม กลุ่มท่านปรีดี พนมยงค์ ก็กำลังต่อสู้ทางรัฐสภากับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ต่อจากนั้นไม่นานผู้นำฝ่ายทหารซึ่งถูกลดบทบาทลงในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ฉวยโอกาสท่ามกลางกระแสความสับสันกลับเข้ามาสถาปนาระบอบอำนาจนิยมอีกครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ สถานะทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงครามและผู้นำฝ่ายทหารอื่น ๆ ตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่เกียรติภูมิทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็สูงส่งและได้รับการยอมรับนับถือจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย อีกทั้งยังเป็นการรอมชอม-ร่วมมือกันของพลเรือนสองฝ่ายคือ กลุ่มของท่านปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มของนายควง อภัยวงศ์ ในการขจัดอำนาจอิทธิพลทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีการอภัยโทษนักโทษคดีทางการเมืองที่ต้องคำพิพากษาศาลพิเศษ รวมทั้งการประกาศให้ขุนนางและเจ้านายที่ถูกถอดยศศักดิ์แก่บรรดาศักดิ์ให้กลับดำรงตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และการถวายอารักขาดูแลความปลอดภัยแก่บรรดาเจ้านายในระหว่างสงคราม ฯลฯ แต่เมื่อสภาวะวิกฤติการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านพ้นไปแล้ว ความสามัคคีก็เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งอย่างชัดเจน
ความขัดแย้งนี้ได้สะท้อนอย่างเด่นชัด ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๔ ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์-อดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองตัวแทนทางภาคอิสาน ได้ก่อตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพขึ้น ในขณะที่ทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย ต่อมาพรรคทั้งสองได้รวมกันตั้งเป็นพรรค ประชาธิปัตย์ ท่านปรีดี พนมยงค์สนับสนุนให้นายดิเรก ชัยนามลงแข่งขันกับนายควง อภัยวงศ์ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ผลปรากฏว่านายควง อภัยวงค์เป็นผู้ชนะได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่ต่อมารัฐบาลก็ต้องลาออกทั้งคณะเพราะแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางฝ่ายค้านได้เสนอให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์รับไปปฏิบัติ โดยที่ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจรับไปปฏิบัติได้ ดังนั้นเมื่อสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์จึงประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีทันที ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างดูถูกดูแคลนคนอิสานว่า เป็น “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว”
จากนั้นท่านปรีดี พนมยงค์ก็ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และได้วางรากฐานที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงต่อไปโดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙ (ก่อนเหตุการณ์สวรรคต) ซึ่งคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๔๘๙ มี ๑๕ ท่าน ประกอบด้วย ฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ ๖ ท่านคือ ท่านปรีดี พนมยงค์, นายดิเรก ชัยนาม, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,นายเดือน บุนนาค, นายเตียง ศิริขันธ์ และนายเยื้อน พานิชวิทย์ ส่วนฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ มี ๖ คนคือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช,นายปริญญา จูฑามาศ และนายอินทร สิงหเนตร คนกลางอีก ๓ คน คือ มจ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระยามานวราชเสวีและนายพิชาญ บุญยง
ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นี้ได้มีการเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญและอำนาจนิติบัญญัติให้มี ๒ สภา สมาชิกและสภาทั้งสองต้องเลือกตั้งมาจากราษฎร แต่ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ยืนยันเจตนารมณ์และหลักการของระบอบประชาธิปไตยก็มีผลบังคับใช้อยู่เพียงปีครึ่งเท่านั้น เพราะถูกคณะทหารทำการรัฐประหารล้มล้างไปเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
บทที่ ๑ ความผันผวนทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
สถานะของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อย่างเด่นชัด กล่าวคือ ในชั้นต้นประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกยึดอย่างฉับพลัน แต่หลังจากนั้นในเวลาไม่นานนักก็ได้เข้าสู่สงครามมหาเอเซียบูรพาในภูมิภาคนี้ร่วมกับญี่ปุ่น ด้วยการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ความร่วมมือเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารแก่ญี่ปุ่นในการยึดครองประเทศอื่น นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมยึดครองดินแดนซึ่งใน “ประวัติศาสตร์” เป็นของไทย คือ นครหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และมงคลบุรี ฯลฯ ในขณเดียวกันผู้นำทางการเมืองกลุ่มอื่น คือท่านปรีดี พนมยงค์-ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนักการเมืองฝ่ายพลเรือน, กลุ่ม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมทั้งในและนอกประเทศ ก็ได้เคลื่อนไหวตอบโต้นโยบายสงครามของจอมพลแปลก พิบูลสงครามผู้นำฝ่ายทหาร และต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นด้วยการก่อตั้งองค์การลับใต้ดิน “เสรีไทย” ประสานกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การดำเนินนโยบายสองด้านและความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาวิกฤตินี้ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยดำรงเอกราชของชาติมิให้ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้ดังเช่นญี่ปุ่น แต่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งในกลุ่มผู้นำทั้งสามฝ่ายในระยะเวลาต่อมา
เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง พร้อมกับการประกาศสันติภาพของฝ่ายในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติหลาย ๆ ด้าน ทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์ผันผวนในประเทศ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะเคยประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลง เมื่อผู้นำฝ่ายพลเรือนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมมือสามัคคีกันเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การเจรจาตกลงคืนดินแดนต่าง ๆ ในมลายู อินโดจีน และรัฐฉาน ซึ่งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยึดครองไว้ในระหว่างสงครามคืนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ให้สามารถลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ยกเลิกสถานการณ์สงครามระหว่างกันได้
นอกจากนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ออกพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ “เพื่อให้เป็นไปตามวิถีแห่งประชาธิปไตยและเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่จะได้เจริญสัมพันธไมตรีกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย” แล้ว การแก้ไขปัญหาขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจึงบรรลุผลสำเร็จ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๘๙
แต่ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนชุดต่างๆ สามารถประสานงานเจรจากับต่างประเทศจนกระทั่งสถานการณ์ได้คลี่คลายลงนั้น กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาภายในประเทศที่คุกรุ่นรุนแรงอีกหลายประการ ปัญหาสำคัญในเบื้องต้นก็คือ ปัญหาที่รัฐบาลพลเรือนต้องรับภาระจากการใช้จ่ายเกินดุลย์ของรัฐบาลชุดจอมพลแปลก พิบูลสงครามในช่วงสงคราม ซึ่งมีรายจ่ายที่สำคัญที่สุดได้แก่การให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ยืม เฉพาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ .๒๔๘๔-๒๔๘๘ รวมเป็นเงินถึง ๑,๒๓๐,๗๐๑,๐๘๓ บาท นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังบังคับให้ไทยใช้อัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนใหม่ เหตุดังนี้ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดแนวโน้มทางด้านเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตามข้อตกลงทั่วไปกับประเทศอังกฤษข้อหนึ่งที่ให้จำกัดสินค้าออกของไทย ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศไปเป็นจำนวนมาก ปัญหาวิกฤติทางด้านการเงิน-การคลังนี้ รัฐบาลชุดพลเรือนทุกชุดต่างก็เร่งแก้ไข แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ สภาวะทางจิตใจของประชาชนเกิดความตึงเครียด สับสน ไม่พอใจต่อค่านิยม-ประเพณีเก่า ๆ ในขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะความยุ่งยากทางสังคม-เศรษฐกิจ พรรคการเมืองฝ่ายพลเรือน คือ ฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยม กลุ่มท่านปรีดี พนมยงค์ ก็กำลังต่อสู้ทางรัฐสภากับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ต่อจากนั้นไม่นานผู้นำฝ่ายทหารซึ่งถูกลดบทบาทลงในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ฉวยโอกาสท่ามกลางกระแสความสับสันกลับเข้ามาสถาปนาระบอบอำนาจนิยมอีกครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ สถานะทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงครามและผู้นำฝ่ายทหารอื่น ๆ ตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่เกียรติภูมิทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็สูงส่งและได้รับการยอมรับนับถือจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย อีกทั้งยังเป็นการรอมชอม-ร่วมมือกันของพลเรือนสองฝ่ายคือ กลุ่มของท่านปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มของนายควง อภัยวงศ์ ในการขจัดอำนาจอิทธิพลทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีการอภัยโทษนักโทษคดีทางการเมืองที่ต้องคำพิพากษาศาลพิเศษ รวมทั้งการประกาศให้ขุนนางและเจ้านายที่ถูกถอดยศศักดิ์แก่บรรดาศักดิ์ให้กลับดำรงตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และการถวายอารักขาดูแลความปลอดภัยแก่บรรดาเจ้านายในระหว่างสงคราม ฯลฯ แต่เมื่อสภาวะวิกฤติการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านพ้นไปแล้ว ความสามัคคีก็เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งอย่างชัดเจน
ความขัดแย้งนี้ได้สะท้อนอย่างเด่นชัด ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๔ ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์-อดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองตัวแทนทางภาคอิสาน ได้ก่อตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพขึ้น ในขณะที่ทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย ต่อมาพรรคทั้งสองได้รวมกันตั้งเป็นพรรค ประชาธิปัตย์ ท่านปรีดี พนมยงค์สนับสนุนให้นายดิเรก ชัยนามลงแข่งขันกับนายควง อภัยวงศ์ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ผลปรากฏว่านายควง อภัยวงค์เป็นผู้ชนะได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่ต่อมารัฐบาลก็ต้องลาออกทั้งคณะเพราะแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางฝ่ายค้านได้เสนอให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์รับไปปฏิบัติ โดยที่ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจรับไปปฏิบัติได้ ดังนั้นเมื่อสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์จึงประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีทันที ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างดูถูกดูแคลนคนอิสานว่า เป็น “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว”
จากนั้นท่านปรีดี พนมยงค์ก็ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และได้วางรากฐานที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงต่อไปโดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙ (ก่อนเหตุการณ์สวรรคต) ซึ่งคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๔๘๙ มี ๑๕ ท่าน ประกอบด้วย ฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ ๖ ท่านคือ ท่านปรีดี พนมยงค์, นายดิเรก ชัยนาม, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,นายเดือน บุนนาค, นายเตียง ศิริขันธ์ และนายเยื้อน พานิชวิทย์ ส่วนฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ มี ๖ คนคือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช,นายปริญญา จูฑามาศ และนายอินทร สิงหเนตร คนกลางอีก ๓ คน คือ มจ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระยามานวราชเสวีและนายพิชาญ บุญยง
ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นี้ได้มีการเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญและอำนาจนิติบัญญัติให้มี ๒ สภา สมาชิกและสภาทั้งสองต้องเลือกตั้งมาจากราษฎร แต่ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ยืนยันเจตนารมณ์และหลักการของระบอบประชาธิปไตยก็มีผลบังคับใช้อยู่เพียงปีครึ่งเท่านั้น เพราะถูกคณะทหารทำการรัฐประหารล้มล้างไปเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
No comments:
Post a Comment