Monday, October 3, 2011

ลำดับ๖๔๗.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๖

คุณสุพจน์ตอบโต้ว่า บางทีอาจารย์ประเสริฐจะลืมไปว่าคำว่า REVOLUTION โดยความเข้าใจของคนทั่วไปที่รู้จักคำนี้ ในความหมายทางการเมือง แม้แต่ขบวนการที่เรียกร้องให้มีสภา “ดูมา” เมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๕ เลนินก็ยังเรียกขบวนการนั้นว่า REVOLUTION หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้า ไม่ใช่ย้อนถอยหลังเข้าคลอง หรือไม่ใช่ระบอบเปลี่ยนระบอบใหม่ให้กลับไปสู่ระบอบเก่าซึ่งเรียกว่า Reaction หรือปฏิกิริยา

ก็เห็นจะมีแต่ “คณะปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และผู้ที่ติดตามจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น ที่ใช้คำว่า Revolution หรือ ปฏิวัติ ผิดความหมายไปจากพฤติกรรมของคณะนั้น ที่เป็น Reaction หรือปฏิกิริยา

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีดังกล่าวหรือข้อเขียนของท่านผู้ใดก็แล้วแต่ ที่แสดงออกถึงความมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ภายหลังจากที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ผ่านไปแล้ว คือ ภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ย่อมไม่สลักสำคัญไปกว่าเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่แสดงออกโดยแถลงการณ์ยึดอำนาจของคณะราษฎร ที่ได้บ่งบอกไว้อย่างชัดแจ้งในแถลงการณ์นั้นแล้วว่า

“...มีความจำเป็นที่ประเทศชาติจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย”

๖๔๖.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๕

คุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้ยกคำสารภาพผิดหรือการวิจารณ์ตนเองของอาจารย์ปรีดีฯ ต่อบทบาททางการเมืองของท่านที่ผ่านมา แต่ประเสริฐฯ มุ่งวิจารณ์อาจารย์ปรีดีไปในประเด็นที่ว่าอาจารย์ปรีดีฯ ไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ(อีกรูปแบบหนึ่ง) โดยเฉพาะประเสริฐฯ อ้างข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีฯ ที่เขียนอธิบายคำว่า REVOLUTION ว่า

“ในขณะนั้นคำว่า REVOLUTION ยังไม่ได้แปลเป็นศัพท์เฉพาะว่า ปฏิวัติจึงแปลเป็นคำธรรมดาว่า เปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย”

แล้วประเสริฐฯ ก็สับอาจารย์ปรีดีฯ จากประโยคข้างต้นโดยทันทีว่า

”โดยไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น เป็นระบอบอะไร เราจึงไม่รู้ว่าระบอบที่จะสร้างขึ้นใหม่ตามทรรศนะของอาจารย์ปรีดีนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น อาจเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ได้ อาจเป็นระบอบเผด็จการก็ได้ แสดงว่าความต้องการของอาจารย์ปรีดีนั้น ขอแต่ให้เป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายก็แล้วกัน

และแล้ว ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก็สรุปลงว่า

“กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดีไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการ เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการรูปหนึ่งเป็นระบอบเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว”

๖๔๕.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๔

อาจารย์ปรีดี ได้วิจารณ์ความผิดพลาดของท่านอีกครั้งหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร “เอเชียวีค” ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๗๙ ถึง ๔ มกราคม ๑๙๘๐ มีความตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงความผิดพลาดของท่านดังนี้

“ในปี ค.ศ.๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางขอพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ)

ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัดและโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี

ในปี ค.ศ.๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”

ลำดับ๖๔๔.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๓

อาจารย์ปรีดีฯ ตอบถึงจุดอ่อนของคณะราษฎรต่อไปว่า

“ประการที่ ๒ คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไร จึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” ซึ่งทำให้ชาติต้องถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ ๓ นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร ๓ ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญทางการทหาร สามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีวิชาเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ และขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง

ประการที่ ๔ การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหาประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวร ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕”

ลำดับ๖๔๓.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๒

ข้อที่ ๔. บทความของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร กล่าวว่า "เมื่อพูดถึงอาจารย์ปรีดีในฐานะที่เป็นผู้นำของการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร ผมมีแต่จะตำหนิอย่างเดียว..จะต้องตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสองต่อสองและต่อมวลชน ทั้งเมื่อยังไม่ตายและเมื่อตายไปแล้ว เพราะถ้าจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยให้สำเร็จ ก็จะต้องตำหนิอาจารย์ปรีดีในการนำการปฏิวัติที่ผิดพลาด”

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล แสดงความเห็นว่า ดังที่กล่าวไปในข้อแรกว่าเห็นด้วยในหลักการที่จะวิจารณ์หรือประเมินผลงาน หรือ พฤติกรรมทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี เพื่อจะได้เป็นบทเรียนของคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป

ในกรณีนี้ อาจารย์ปรีดีก็ได้วิจารณ์ความผิดพลาดของท่านเองไว้อย่างมากมายหลายแห่ง ดังที่ได้กล่าวในข้อก่อนๆ และในการให้สัมภาษณ์ “ตะวันใหม่” ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘๐ ปี เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๓ “ตะวันใหม่” ได้ถามท่านว่า

“จุดอ่อนของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเมื่อปี ๒๔๗๕ คืออะไร จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้”

ต่อคำถามนี้ อาจารย์ปรีดีตอบถึงจุดอ่อนของคณะราษฎรดังนี้

“ประการที่ ๑ ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์ จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินา ซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ที่ตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ

ลำดับ๖๔๒.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุทร ๑๑

บทความของอาจารย์ปรีดีฯ มีต่อไปว่า

“ต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นำความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่๑ และประเภทที่ ๒ ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป.ฯ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ปฏิบัติการตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

เมื่อคุณสุพจน์ ได้นำข้อความของอาจารย์ปรีดีฯ มาแสดง ก็ได้เขียนต่อไปว่า

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นการยืนยันบอกให้รู้ว่าอาจารย์ปรีดีเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อย่างแน่นอน แต่เป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะราษฎร จึงไม่สามารถนำพาการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้อยวิจารณ์ของอาจารย์ประเสริฐ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป และไม่ตรงตามความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์

ลำดับ๖๔๑.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๐

อาจารย์ปรีดีฯ กล่าวต่อไปว่า

“พันเอกพระยาพหลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ดำเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ และเมื่อถึงกำหนดออกตามวาระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ลาออก โดยพันเอกหลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อมา

ในระยะแรกที่พันเอกหลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดำเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงแค่นายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯได้รับแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายพลตรี

ครั้นอยู่มาไม่นาน ก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาส สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส คนสมัยนั้นได้กล่าวขวัญกันถึงว่า มีบางคนได้เข้าไปกราบไหว้ว่าได้แลเห็นแสงรัศมีอันเป็นอภินิหารออกจากกายของหลวงพิบูลฯ คำร่ำลือนั้นอาจขยายมากเกินไป ความจริงมีเพียงว่า

ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการฯ หลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังจำกันได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นำละครมาแสดง และในบางฉากท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบำฝูงไก่(หลวงพิบูลฯเกิดปีระกา) ระบำฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้จุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย

อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการแสดงเป็นชายง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญ แล้วได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชราก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้า แสดงอาการขวยเขิน แล้วหันไปประนมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ

ข้าพเจ้าเห็นว่าขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อยๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่าจตุสดมภ์ ที่คอยยกยอ ปอปั้น ก็ทำให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไป...”