Monday, October 3, 2011

ลำดับ๖๔๗.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๖

คุณสุพจน์ตอบโต้ว่า บางทีอาจารย์ประเสริฐจะลืมไปว่าคำว่า REVOLUTION โดยความเข้าใจของคนทั่วไปที่รู้จักคำนี้ ในความหมายทางการเมือง แม้แต่ขบวนการที่เรียกร้องให้มีสภา “ดูมา” เมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๕ เลนินก็ยังเรียกขบวนการนั้นว่า REVOLUTION หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้า ไม่ใช่ย้อนถอยหลังเข้าคลอง หรือไม่ใช่ระบอบเปลี่ยนระบอบใหม่ให้กลับไปสู่ระบอบเก่าซึ่งเรียกว่า Reaction หรือปฏิกิริยา

ก็เห็นจะมีแต่ “คณะปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และผู้ที่ติดตามจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น ที่ใช้คำว่า Revolution หรือ ปฏิวัติ ผิดความหมายไปจากพฤติกรรมของคณะนั้น ที่เป็น Reaction หรือปฏิกิริยา

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีดังกล่าวหรือข้อเขียนของท่านผู้ใดก็แล้วแต่ ที่แสดงออกถึงความมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ภายหลังจากที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ผ่านไปแล้ว คือ ภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ย่อมไม่สลักสำคัญไปกว่าเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่แสดงออกโดยแถลงการณ์ยึดอำนาจของคณะราษฎร ที่ได้บ่งบอกไว้อย่างชัดแจ้งในแถลงการณ์นั้นแล้วว่า

“...มีความจำเป็นที่ประเทศชาติจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย”

๖๔๖.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๕

คุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้ยกคำสารภาพผิดหรือการวิจารณ์ตนเองของอาจารย์ปรีดีฯ ต่อบทบาททางการเมืองของท่านที่ผ่านมา แต่ประเสริฐฯ มุ่งวิจารณ์อาจารย์ปรีดีไปในประเด็นที่ว่าอาจารย์ปรีดีฯ ไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ(อีกรูปแบบหนึ่ง) โดยเฉพาะประเสริฐฯ อ้างข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีฯ ที่เขียนอธิบายคำว่า REVOLUTION ว่า

“ในขณะนั้นคำว่า REVOLUTION ยังไม่ได้แปลเป็นศัพท์เฉพาะว่า ปฏิวัติจึงแปลเป็นคำธรรมดาว่า เปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย”

แล้วประเสริฐฯ ก็สับอาจารย์ปรีดีฯ จากประโยคข้างต้นโดยทันทีว่า

”โดยไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น เป็นระบอบอะไร เราจึงไม่รู้ว่าระบอบที่จะสร้างขึ้นใหม่ตามทรรศนะของอาจารย์ปรีดีนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนั้น อาจเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ได้ อาจเป็นระบอบเผด็จการก็ได้ แสดงว่าความต้องการของอาจารย์ปรีดีนั้น ขอแต่ให้เป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายก็แล้วกัน

และแล้ว ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก็สรุปลงว่า

“กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดีไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการ เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการรูปหนึ่งเป็นระบอบเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว”

๖๔๕.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๔

อาจารย์ปรีดี ได้วิจารณ์ความผิดพลาดของท่านอีกครั้งหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร “เอเชียวีค” ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๗๙ ถึง ๔ มกราคม ๑๙๘๐ มีความตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงความผิดพลาดของท่านดังนี้

“ในปี ค.ศ.๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางขอพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ)

ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัดและโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี

ในปี ค.ศ.๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”

ลำดับ๖๔๔.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๓

อาจารย์ปรีดีฯ ตอบถึงจุดอ่อนของคณะราษฎรต่อไปว่า

“ประการที่ ๒ คิดแต่เพียงเอาชนะทาง “ยุทธวิธี” ในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไร จึงจะไม่ถูก “การโต้อภิวัฒน์” ซึ่งทำให้ชาติต้องถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ ๓ นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร ๓ ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ มีความรู้ความชำนาญทางการทหาร สามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีวิชาเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ และขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง

ประการที่ ๔ การเชิญท่านข้าราชการเก่ามาร่วมบริหาประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในขบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญถาวร ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕”

ลำดับ๖๔๓.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๒

ข้อที่ ๔. บทความของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร กล่าวว่า "เมื่อพูดถึงอาจารย์ปรีดีในฐานะที่เป็นผู้นำของการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร ผมมีแต่จะตำหนิอย่างเดียว..จะต้องตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสองต่อสองและต่อมวลชน ทั้งเมื่อยังไม่ตายและเมื่อตายไปแล้ว เพราะถ้าจะทำการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทยให้สำเร็จ ก็จะต้องตำหนิอาจารย์ปรีดีในการนำการปฏิวัติที่ผิดพลาด”

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล แสดงความเห็นว่า ดังที่กล่าวไปในข้อแรกว่าเห็นด้วยในหลักการที่จะวิจารณ์หรือประเมินผลงาน หรือ พฤติกรรมทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี เพื่อจะได้เป็นบทเรียนของคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป

ในกรณีนี้ อาจารย์ปรีดีก็ได้วิจารณ์ความผิดพลาดของท่านเองไว้อย่างมากมายหลายแห่ง ดังที่ได้กล่าวในข้อก่อนๆ และในการให้สัมภาษณ์ “ตะวันใหม่” ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘๐ ปี เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๓ “ตะวันใหม่” ได้ถามท่านว่า

“จุดอ่อนของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเมื่อปี ๒๔๗๕ คืออะไร จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้”

ต่อคำถามนี้ อาจารย์ปรีดีตอบถึงจุดอ่อนของคณะราษฎรดังนี้

“ประการที่ ๑ ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมืองและตัวอย่างในประวัติศาสตร์ จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นทรรศนะเผด็จการทาส-ศักดินา ซึ่งเป็น “การโต้อภิวัฒน์” ต่อการอภิวัฒน์ที่ตนเองได้เคยพลีชีพร่วมกับคณะ

ลำดับ๖๔๒.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุทร ๑๑

บทความของอาจารย์ปรีดีฯ มีต่อไปว่า

“ต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นำความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่๑ และประเภทที่ ๒ ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป.ฯ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ปฏิบัติการตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

เมื่อคุณสุพจน์ ได้นำข้อความของอาจารย์ปรีดีฯ มาแสดง ก็ได้เขียนต่อไปว่า

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นการยืนยันบอกให้รู้ว่าอาจารย์ปรีดีเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อย่างแน่นอน แต่เป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะราษฎร จึงไม่สามารถนำพาการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้อยวิจารณ์ของอาจารย์ประเสริฐ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป และไม่ตรงตามความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์

ลำดับ๖๔๑.สุพจน์โต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑๐

อาจารย์ปรีดีฯ กล่าวต่อไปว่า

“พันเอกพระยาพหลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ดำเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ และเมื่อถึงกำหนดออกตามวาระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ลาออก โดยพันเอกหลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อมา

ในระยะแรกที่พันเอกหลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดำเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงแค่นายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯได้รับแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายพลตรี

ครั้นอยู่มาไม่นาน ก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาส สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส คนสมัยนั้นได้กล่าวขวัญกันถึงว่า มีบางคนได้เข้าไปกราบไหว้ว่าได้แลเห็นแสงรัศมีอันเป็นอภินิหารออกจากกายของหลวงพิบูลฯ คำร่ำลือนั้นอาจขยายมากเกินไป ความจริงมีเพียงว่า

ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการฯ หลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังจำกันได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นำละครมาแสดง และในบางฉากท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบำฝูงไก่(หลวงพิบูลฯเกิดปีระกา) ระบำฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้จุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย

อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการแสดงเป็นชายง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญ แล้วได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชราก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้า แสดงอาการขวยเขิน แล้วหันไปประนมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ

ข้าพเจ้าเห็นว่าขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อยๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่าจตุสดมภ์ ที่คอยยกยอ ปอปั้น ก็ทำให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไป...”

ลำดับ๖๔๐.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๙

อาจารย์ปรีดีฯยังกล่าวถึงความเป็นมาของระบอบเผด็จการที่เกิดขึ้นในคณะราษฎรภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความบางตอนดังนี้

“มีหลายท่านที่หวังดีในสมัยนั้นได้วิจารณ์ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถอดถอนบทเรียน จากการที่ซุนยัดเซ็นได้มอบอำนาจให้แก่หยวนซีไข ขุนนางแห่งระบอบเก่าของจีนขึ้นเป็นประมุขรัฐบาลจีน ภายหลังที่การอภิวัฒน์ ค.ศ.๑๙๑๑ ของจีนได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว จึงเป็นเหตุให้หยวนซีไขทำลายชัยชนะก้าวแรกของการอภิวัฒน์นั้น แล้วตนเองได้ดำเนินการถอยหลังเข้าคลองทีละขั้นๆ แล้วก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์จีน (อยู่ได้ชั่วคราวก็ถึงแก่กรรม)

ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทำผิดในการเสนอคณะราษฎรให้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพราะสมาชิกคณะราษฎรอื่นๆ มิได้คุ้นเคยกับพระยามโนปกรณ์ฯ มาก่อนเท่ากับข้าพเจ้า ที่ได้เคยร่วมงานกับท่านผู้นี้ในกรมร่างกฎหมายและในการร่วมเป็นกรรมการสอบไล่นักเรียนกฎหมายหลายครั้ง

จึงได้มีการสนทนากับท่านผู้นี้ในระหว่างเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์นั้น แสดงว่าท่านกล้าตัดสินคดีโดยมิได้เกรงกลัวอำนาจสมบูรณาฯ ซึ่งนักเรียนกฎหมายหลายคนในสมัยนั้นนิยมชมชอบท่าน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าท่านมีลักษณะต่างจากหยวนซีไขที่เคยทรยศต่อพระเจ้าจักรพรรดิ์กวงสูของจีนที่ประสงค์จะพระราชทานระบบรัฐธรรมนูญให้แก่จีน

ข้าพเจ้ามีความผิดที่ไม่ได้วิจารณ์ให้ลึกซึ้งว่าพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นบุคคลที่มีซากความคิดแห่งระบบเก่าเหลืออยู่มาก แต่ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่พระยามโนปกรณ์ฯ ว่า ถ้าโดยลำพังท่านผู้เดียวแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะกระทำการโต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ หากท่านได้รับความสนับสนุนจากบางส่วนของคณะราษฎรเองที่มีทรรศนะอันเป็นซากตกค้างมาจากระบบเก่า และบุคคลอื่นๆที่เป็นขุนนางเก่าที่ได้รับเชิญให้มาเข้าร่วมรัฐบาล

ลำดับ๖๓๙.คุณสุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๘

การที่ในเวลาต่อมาไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรนั้น อาจารย์ปรีดีฯ ได้กล่าวไว้ในคำขวัญและบทความที่มอบให้แก่คณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำปี ๒๕๑๖ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับความล้มเหลวของการปฏิวัติประชาธิปไตย ดังนี้

“ ก. คณะราษฎรมีความผิดพลาดหลายประการ อันเป็นผลประจักษ์อย่างหนึ่งที่รู้กันว่ามีความแตกแยกกันภายในคณะราษฎร ปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ เหตุใดคณะราษฎรจึงมีความแตกแยกกัน ความแตกแยกนั้นเกิดขึ้นเพราะความแตกต่างกันในระดับจิตสำนึกแห่งความเสียสละ การเห็นแก่ตัวภายหลังที่ได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว และแตกต่างกันในทรรศนะทางสังคม ที่แต่ละคนและกลุ่มบุคคลที่มีซากทรรศนะเก่าค้างอยู่น้อยบ้างมากบ้าง

สมาชิกทุกคนมีทรรศนะตรงกัน และยอมพลีชีพร่วมกันเฉพาะการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น เมื่อได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว ได้แตกแยกกันตามทรรศนะคงที่ ถอยหลัง ก้าวหน้าที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มมีอยู่

ฝ่ายทรรศนะคงที่ก็พอใจที่ล้มระบอบสมบูรณาฯ แล้ว ฝ่ายก้าวหน้าต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฝ่ายถอยหลังต้องการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการ ที่แม้ดูผิวเผินว่าเป็นคนละอย่างกับระบอบทาส แต่ถ้าวิจารณ์ให้ถ่องแท้ก็คือ การปกครองอย่างระบอบทาสที่ถอยหลังไปยิ่งกว่าระบอบศักดินา”

ลำดับ๖๓๘.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๗

คุณสุพจน์ฯ เขียนต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าแถลงการณ์ของ “คณะราษฎร” ดังกล่าวนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติและก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย”

และในเค้าโครงเศรษฐกิจ ของอาจารย์ปรีดีฯ ในหมวดที่๑ ว่าด้วย “ประกาศของคณะราษฎร” อาจารย์ปรีดีฯ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งดังนี้

“ถ้ารัฐบาลได้จัดวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้เหมาะสมแล้ว การหางานให้ราษฎรทุกคนทำไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยากนั้น ย่อมเป็นทางที่รัฐบาลจะทำได้หาใช่เป็นการสุดวิสัยไม่ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันใหญ่ยิ่งของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

จากแถลงการณ์ของคณะราษฎร และจาก เค้าโครงการเศรษฐกิจ ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะชี้ให้เห็นว่าอาจารย์ปรีดีมีเจตนารมณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการรูปแบบหนึ่งมาเป็นระบอบเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ดังที่อาจารย์ประเสริฐ กล่าวหาแต่อย่างใดไม่

ลำดับ๖๓๗.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๖

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ได้ยกแถลงการณ์ของคณะราษฎร ซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่ทั่วไปแล้วว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้เขียน และได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจ ดังข้อความต่อไปนี้

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎรปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การที่แก้ไข ไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาล อื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกรู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้ สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร

๒๔๗๕

ลำดับ๖๓๖.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๕

ข้อ ๓. บทความของประเสริฐฯ อ้างว่า “อาจารย์ปรีดี เป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตยคนสำคัญที่สุดของคณะราษฎร กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร แต่แทนที่จะนำการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎรไปสู่ความสำเร็จ ท่านกลับเป็นต้นเหตุให้การปฏิวัติพัง พังมาจนถึงวันอสัญกรรมของท่าน และจะยังพังต่อไปอีกนานทีเดียว”

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ได้ตอบประเด็นนี้ไว้ว่า ก่อนจะระบุลงไปว่าใครเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร ควรจะได้ทำความรู้จักโครงสร้างของคณะราษฎรเสียก่อน

ถูกแล้วอาจารย์ปรีดีและเพื่อนอีก ๖ คน เป็นผู้วางแผนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาฯ มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาในฝรั่งเศส และเมื่อกลับมาไทยแล้วก็ติดต่อหาสมัครพรรคพวก เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป และเนื่องจากในประเทศก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ.พระยาทรงสุรเดช, พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีการประสานงานติดต่อกันระหว่างผู้มีความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองคำว่า “คณะราษฎร” จึงเกิดขึ้น

“คณะราษฎร” ประกอบด้วย ๓ สมาชิก คือ ๑. สายทหารบกจำนวน ๓๒ นายมีพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าสาย ๒.สายทหารเรือจำนวน ๒๑ นาย มีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน)เป็นหัวหน้าสาย ๓.สายพลเรือนจำนวน ๔๖ คนมีอำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)เป็นหัวหน้าสาย รวมทั้งหมด ๙๙ นาย (รายชื่อผู้ก่อการนี้ได้ตรวจและรับรองโดยผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ เก็บอยู่ ณ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา – จากหนังสือรัฐสภาไทย โดยประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา)

“คณะราษฎร” ได้ยกให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ และท่านผู้นี้เองที่เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ดังนั้นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร คือนำทั้งขบวน จึงควรจะเป็น พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนามากกว่า

Sunday, October 2, 2011

ลำดับ๖๓๕.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๔

ข้อ ๒. ประเสริฐฯบอกว่า ได้เขียนตำหนิอาจารย์ปรีดีลงใน “ตะวันใหม่” ซึ่งท่านได้อ่านที่ปารีสทุกฉบับ แต่อาจารย์ปรีดีก็ตำหนิผมเหมือนกัน แต่ผมตำหนิอาจารย์ปรีดีหนักกว่า โดยผมเปรียบท่านเป็นหมอที่รักษาคนไข้ให้ตาย

เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบในสิ่งที่ประเสริฐฯ กล่าวว่าอาจารย์ปรีดีก็ตำหนิตนเช่นกันนั้น คืออย่างไร คุณสุพจน์ ได้นำข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่โต้คำอวดอ้างของ พคท. ซึ่งอ้างว่า พคท.ได้ต่อสู้กับอังกฤษเรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ โดยท่านปรีดี ได้เขียนข้อความไว้หลายที่ดังนี้

“เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้มีสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว (หนังสือวัฒนธรรมแห่งโลก ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดทำขึ้น-สุพจน์) ชี้แจงเพิ่มเติมไว้ว่า ภายหลังสงครามโลก พรรคนั้นได้จัดตั้งองค์การการต่อสู้สัญญาสมบูรณ์แบบซึ่งอังกฤษบังคับให้ฝ่ายไทยต้องยินยอม สิ่งตีพิมพ์ดังกล่าวมิได้แจ้งไว้ว่าองค์การนั้นได้ต่อสู้อย่างไรบ้าง จึงน่าเสียดายที่ผมเพิ่งทราบถึงองค์การนั้น เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้วถึง ๓๒ ปี เพราะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ พรรคการเมืองที่นับถือลัทธิใดๆ ก็ได้สิทธิ์ตั้งขึ้นได้อย่างเปิดเผย และได้มีนิตยสารจำหน่ายจ่ายแจกอย่างเปิดเผย ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะไม่ลืม

แต่เหตุไฉนจึงไม่ปรากฏว่า นิตยสารของเขาได้แจ้งให้ประชาชนไทยสมัยนั้นทราบว่า พรรคของเขาได้ตั้งองค์การต่อสู้สัญญาสมบูรณ์แบบขึ้น อีกประการหนึ่ง พรรคของเขาก็มีกรรมการผู้หนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็น่าที่จะแจ้งให้ผมและรัฐบาลภายหลังสงครามโลกทราบบ้าง ว่า พรรคของเขาได้ตั้งองค์การเช่นว่านั้นขึ้น เพื่อจะได้มีแนวร่วมอันกว้างใหญ่ในการต่อสู้สัญญาสมบูรณ์แบบ...”

ข้อความที่ว่า “พรรคของเขาก็มีกรรมการผู้หนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” นั้น อาจารย์ปรีดีหมายถึง นายประเสริฐ เพราะขณะนั้นประเสริฐฯ ประกาศโดยเปิดเผยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นผู้แทนราษฎรสุราษฎร์ธานี

คุณสุพจน์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ตรวจพบ ที่อาจารย์ปรีดี กล่าวถึงอาจารย์ประเสริฐ หรือที่เรียกว่าตำหนิอาจารย์ประเสริฐ ก็มีอยู่เพียงเท่านี้

ลำดับ๖๓๔.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๓

นิตยสาร “หลักไท” ฉบับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ลงบทสัมภาษณ์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่กรุงปารีส. ประเสริฐ ได้เขียนบทความในหัวเรื่องว่า “อาจารย์ปรีดี : อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย”

ประเสริฐฯ แสดงทัศนะว่า "...และถ้าจะสรรเสริญท่านก็มีแต่อย่างเดียวว่า ท่านได้สร้างความผิดพลาดไว้ให้เป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลังสำหรับแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยต่อไปเท่านั้น"

คุณสุพจน์ได้อ่านบทวิจารณ์และเห็นว่าบทความของประเสริฐฯ ชิ้นนี้ มีความผิดพลาดอยู่หลายประการ และด้วยความเคารพในอาจารย์ประเสริฐ และเคารพในสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ที่ อาจารย์ปรีดี ได้มีส่วนสร้างไว้ จึงจำเป็นและเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อรักษาความถูกต้องแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งคุณสุพจน์จะชี้แจงในข้อที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนประวัติศาสตร์กระซิบจะไม่นำมาอ้างถึง

ข้อ ๑. ประเสริฐฯ เขียนว่า โดยที่อาจารย์ปรีดีฯ เป็นนักการเมือง เป็นนักวิชาการเป็นนักการศึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าของผลงานหรือพฤติกรรมทางการเมืองของท่าน เพื่อจะได้เป็นบทเรียนแก่คนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป คุณสุพจน์เห็นด้วยในหลักการนี้

ลำดับ๖๓๓.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๒

เรียบเรียงจากคำนำการพิมพ์ครั้งที่ ๒

อาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร (คำนำหน้าชื่อว่าอาจารย์นี้ เป็นคำที่คุณสุพจน์ใช้) ได้วิจารณ์ความคิดทางการเมืองและงานทางการเมืองของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ลงในนิตยสาร “หลักไท” ได้สร้างความสับสนให้ผู้ที่เคยติดตามความเคลื่อนไหวของอาจารย์ประเสริฐเป็นอย่างมาก

เพราะเขาเหล่านั้นมีทัศนะต่ออาจารย์ปรีดี เช่นเดียวกับคนส่วนมากที่ถือว่า อาจารย์ปรีดีมีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ยังผลให้ประเทศได้รับเอกราชทางศาลและทางศุลกากรที่เสียให้ต่างชาติกลับคืนมา

ตลอดจนการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของอาจารย์ปรีดี ที่ได้ร่วมมือกับสหประชาชาติ ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งยังผลให้ประเทศชาติรักษาเอกราชเอาไว้ได้ นี่คือคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อผลประโยชน์ของชาติ

แต่อาจารย์ประเสริฐกลับวิจารณ์ความคิดและงานทางการเมืองของอาจารย์ปรีดีไปในทางตรงข้ามกับทรรศนะของคนส่วนมาก เช่นว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ถูกต้อง เพราะพระปกเกล้าฯ เตรียมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หรือกล่าวว่างานของขบวนการเสรีไทยไร้คุณค่า เพราะอาจารย์ปรีดีนำประเทศชาติไปพึ่งอเมริกา และไปรับใช้อเมริกา ฯลฯ

การวิจารณ์ทำนองนี้ของ อ.ประเสริฐ แทนที่จะทำให้ผู้อ่านสับสนในตัวอาจารย์ปรีดี แต่กลับทำให้ผู้อ่านสับสนในความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ อ.ประเสริฐ มากยิ่งขึ้น เพราะถ้อยวิจารณ์ของ อ.ประเสริฐนั้น ตรงกันกับพวกซ้ายสุดขั้วและขวาตกขอบ ที่เคยวิจารณ์อาจารย์ปรีดีไว้เช่นนั้น แต่จากความคิดและการเคลื่อนไหวการเมืองของ อ.ประเสริฐที่เป็นมาและที่เป็นอยู่ เป็นปฏิปักษ์กับทั้งสองพวกนี้

ทรรศนะของ อ.ประเสริฐที่มีต่อ อาจารย์ปรีดีนั้น อาจเป็นทรรศนะของนักปฏิวัติที่คาดหวังไว้กับอาจารย์ปรีดี จนเกินไปจากความจริงอย่างอัตวิสัย เช่นกล่าวว่า ท่านถือว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำที่แท้จริงของคณะราษฎร ดังนั้นเมื่ออาจารย์ปรีดี ไม่สามารถนำการปฏิวัติประชาธิปไตยได้สำเร็จ ความผิดทั้งหลายจึงเป็นของผู้นำแต่ผู้เดียว

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล จึงได้เขียนหนังสือนี้ขึ้นมาตามมรรคาวิธีของนักวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเคารพนับถือที่เขามีอาจารย์ปรีดีและอาจารย์ประเสริฐ.

ลำดับ๖๓๒.สุพจน์ ด่านตระกูลโต้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ๑

เรียบเรียงจากคำนำการพิมพ์ครั้งที่ ๓

“นายปรีดี พนมยงค์ กับ บทวิจารณ์อันบิดเบือนประวัติศาสตร์ ของ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร” เป็นชื่อที่ใช้ในการพิมพ์ครั้งที่ ๓ เดิมชื่อหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร” อันเนื่องมาจาก การวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรและท่านปรีดี พนมยงค์ ของนายประเสริฐ ที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ด้วยมีเจตนาจะบิดเบือน ทั้งนี้ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ได้วิจารณ์ลงในหนังสือพิมพ์หลักไท ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือน และคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ได้โต้ตอบข้อเขียนอันเป็นเท็จของประเสริฐ โดยทำเป็นเล่มบางๆหลายเล่มติดต่อกัน และได้มีการรวบรวมทำเป็น ๓ เล่มตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘

แม้ว่าประเสริฐ ทรัพย์สุนทร จะตายไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เขาบิดเบือนนั้น ยังมีผู้สืบต่อและเผยแพร่ความเท็จนั้นอยู่จนทุกวันนี้ และโดยการสนับสนุนจุนเจือของพวกที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับคณะราษฎร ตามรอยเท้าที่สกปรกของบรรพชนของพวกเขา อันเป็นการประกอบอาชญากรรมทางปัญญาที่น่าละอายยิ่ง

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่เรียกร้องให้ผู้อ่านเชื่อข้อเขียนของเขาโดยปราศจากวิจารณญาณ แต่ขอให้ใช้มันโดยรอบคอบและปราศจากอคติ ๔ แต่สำหรับตัวคุณสุพจน์ ยืนยันว่าข้อเขียนของเขาทั้งหมดเป็นสัจจะทางประวัติศาสตร์ มีเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ได้ เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีจารึกเป็นลายลักษณ์และเป็นที่ยอมรับของบุคคลผู้เคลื่อนไหวอยู่ในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์บอกเล่าหรือประสบการณ์ที่ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร นำเอามาเขียนและปรุงแต่งด้วยอคติ