ตอนที่๓
เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย)ทรงแถลงว่า ก่อนอื่นอยากจะทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตอบมาอย่างไรในเรื่องรัฐบาลใหม่นี้
๔.หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ในเวลานี้ยังไม่ได้รับตอบ แต่การแจ้งไปให้คณะทูตทราบในปัญหาของชาติทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะ ซึ่งจะต้องจัดการโดยเร็วที่สุด หาเกี่ยวข้องธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เพราะเกรงว่าอาจมีการแทรกแซงได้ อาศัยที่ประเทศเราเป็นประเทศที่เล็ก
๕.เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เวลานี้เข้าใจว่าคงไม่มี
๖.หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การแจ้งไปให้คณะทูตทราบถึงกิจการและทางดำเนินของคณะรัฐบาลใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกระทำโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ประเทศทั้งหลายทราบถึงความประสงค์อันดีของรัฐบาลใหม่ที่ได้ตั้งขึ้นนี้
๗.เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงถามว่า จะให้แจ้งถึงพฤติการณ์ที่ได้เป็นไปอันไม่เกี่ยวแก่การขอให้รับรอง หรือจะขอให้รับรองรัฐบาลใหม่ด้วย
๘. หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ต้องการขอให้รับรองรัฐบาลใหม่ด้วย
๙. เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การขอให้รับรองรัฐบาลคณะใหม่นั้น ถ้าเป็นการขอให้รับรองเดอยือร์แล้ว ก็จะต้องได้รับตอบจากพระเจ้าอยู่หัวก่อนหรือมิฉะนั้นข้าพเจ้าก็ลาออก
๑๐. หลวงประดิษฐ์ฯ ขอให้แจ้งไปว่าเวลานี้เสนาบดีได้ทำการไปด้วยความเห็นชอบของคณะราษฎร และขอให้แจ้งวิฑีดำเนินการของรัฐบาลใหม่ต่อสถานทูตทุกประเทศ
๑๑.เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศรับรองที่จะแจ้งไปยังคณะทูตทราบ
๑๒. พระยาพหลฯ กล่าวว่าในเรื่องนี้ได้คิดกันมานานและได้พยายามที่จะใช้วิธีล่ะม่อมที่สุดซึ่งจะหาวิธียอดเยี่ยมกว่านี้ได้
๑๓.พระยาศรีวิสารฯ (ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลชั่วคราวได้จัดการระวังอย่างเต็มที่แล้ว การแทรกแซงไม่มี
๑๔.หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่าเรื่องการจัดการรักษาความเรียบร้อยของประชาชนนี้ ทางคณะราษฎรได้จัดการทุกทางที่จะมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ผู้รักษาตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภูธรได้จัดการระวังอย่างเต็มที่ ส่วนตามหัวเมืองก็ขอให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย (พระยาราชนุกูล)แจ้งไปให้ทางฝ่ายบ้านเมืองรักษาความสงบเรียบร้อยไปตามเดิม
๑๕. ปลัดทูลฉลองกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม (พระยาพิพิธสมบัติ)แถลงว่าเวลานี้มีกิจการบางอย่างซึ่งปลัดทูลฉลองไม่มีอำนาจลงนามเพราะเสนาบดีไม่ได้มอบอำนาจไว้
๑๖.หลวงประดิษฐฯกล่าว ตามที่เข้าใจในระเบียบการปกครอง เห็นว่าเมื่อเสนาบดีไม่อยู่ ปลัดทูลฉลองก็มีอำนาจเซ็น แต่ถ้าปลัดทูลฉลองไม่ได้รับมอบอำนาจจากเสนาบดีไว้ ก็มีอำนาจทำได้โดยคำสั่งของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ในวันรุ่งขึ้น คือวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ พร้อมกับที่ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้รับโทรเลขจาก น.ต.หลวงศุภชลาศัย แจ้งเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ จากหัวหินโดยทางรถไฟ ก็ได้รับพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับอัญเชิญเสด็จกลับพระนครเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินด้วย ทางคณะราษฎรจึงได้เตรียมการที่จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ
ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ดังนี้
“ต่อมาในตอนค่ำวันที่ ๒๕ มิถุนายนนั้น พระยาพหลฯ จึงเชิญพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) อดีตอธิบดีกรมกฤษฎีกาแห่งกระทรวงมุรธาธร ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ พิจารณาตรวจร่างกฎหมายก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณานั้น ไปร่วมพิจารณากับคณะราษฎร ๓ คน (คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์)และปรีดีฯ หัวหน้าฝ่ายพลเรือน เรื่องร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมและร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งปรีดีฯเป็นผู้ร่างเบื้องต้นไว้เพื่อจะนำไปถวายพระมหากษัตริย์ในวันที่ ๒๖ เดือนนั้น ณ วังสุโขทัย พระยานิติศาสตร์ฯ ยืนยันว่าในหลวงเคยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ถูกอภิรัฐมนตรีและนายสตีเวนส์(เรย์มอนด์ บ.สตีเวนส์ ที่ปรึกษาการต่างประเทศ)กับพระยาศรีวิสารวาจา (ปลัดทูลฉลอง)ได้คัดค้านไว้
หัวหน้าคณะราษฎรจึงปรารภแก่พระยานิติศาสตร์ฯ ว่า เป็นน่าเสียดายที่ในหลวงมิได้ประกาศพระราชดำริให้ประชาชนทราบ ถ้าคณะราษฎรทราบก่อนแล้วก็จะไม่เอาชีวิตมาเสี่ยงในเรื่องที่จะได้อยู่แล้ว
พระยานิติศาสตร์ฯ ได้ขอให้ฝ่ายคณะราษฎรกล่าวไว้ในอารัมภบท(ของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕) ตามใจความที่ในหลวงรับสั่งในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่า
อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ๆ จะหาการกระทำหรือเพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็หามิได้
ฝ่ายคณะราษฎรได้ตกลงตามที่พระยานิติศาสตร์ฯ เสนอ
เมื่อผู้แทนคณะราษฎรได้นำร่างพระราชกำหนดดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังสุขโขทัยเมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราทานทันที
แต่รายละเอียดของพระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จากพระราชกระแสที่พระราชทานแก่ผู้แทนคณะราษฎร ๕ คนที่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า คือ พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีวิสารฯ พระปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ โดยมีเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เป็นผู้จดบันทึก”(จากบันทึกฉบับ ๖ มีนาคม ๒๕๒๖ ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ตอบคำถามบางประการของนิสิตนักศึกษา” ในหนังสือ “แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์”,มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ ๖๐ ปีประชาธิปไตยพ.ศ.๒๕๓๕ หน้า ๕๐)
Wednesday, April 16, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment