Wednesday, April 16, 2008

บทความที่๔๐๑.อภิวัฒน์สยาม ตอนที่๔

ตอนที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๑๙.๔๕ น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดาวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน เวลา ๐.๓๗ น. แล้วเสด็จตรงไปประทับที่วังสุโขทัย แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัยเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ มิถุนายนนั้น

เวลา ๙.๑๑ น. ของเช้าวันนั้น เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นำรถยนต์หลวง ๒ คัน เชิญนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยาพหลฯ ได้ให้นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรีหลวงวีระโยธา พร้อมด้วยรถยนต์หุ้มเกราะ ๒ คัน นักเรียนร้อย ๒ หมวด และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี นายจรูณ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้แทนคณะราษฎร จากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถึงพระราชวังสุโขทัยเมื่อเวลา ๑๑.๐๕ น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกท้องพระโรงเมื่อเวลา ๑๑.๑๕ น.พอคณะผู้แทนคณะราษฎรขึ้นท้องพระโรง พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ได้เบิกตัวนายพลเรือตรี พระศรยุทธเสนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้

ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนขึ้นอ่านพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับฟัง และทรงพยักพระพักตร์เป็นคราวๆ ด้วยความพอพระราชหฤทัย เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อ่านถวายสิ้นกระแสความแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีข้อความยืดยาว เพียงแต่ทรงสดับยัไม่เข้าใจดี จึงขอทอดพระเนตรเองอีกครั้งหนึ่ง แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้น้อมเกล้าถวายพระธรรมนูญการปกครอง ครั้นแล้วเวลา ๑๒.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้น

ครั้นเวลา ๑๒.๔๐ น. พระยาอิศราธิราชเสวีได้นำพระกระแสพระบมราชโองการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงให้คำตอบในวันที่ ๒๗ เดือนนี้ เวลา ๑๗ น. ตามทางราชการ
ท่านปรีดี พนมยงค์ได้เล่าเสริมความบางตอนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้
“อันที่จริงธรรมนูญฉบับที่ทูลเกล้าฯ ถวายในวันนั้น พระยาพหลฯได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเชิญพระยามโนปกรณ์ฯ และพระยานิติศาสตร์ฯ มาช่วยพิจารณาตั้งแต่คืนวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วได้นำเสนอพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระฤทธิ์ฯ เห็นชอบด้วยก่อน แล้วจึงนำมาถวายในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถ้ากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังเก็บแฟ้มธรรมนูญฉบับนั้นก็จะเห็นลายมือของพระยามโนฯ ที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น”

และอีกตอนหนึ่ง

“ในวันนั้น เมื่อในหลวงเสด็จขึ้นแล้ว พระยาอิศราธิราชเสวีได้เชิญผู้แทนคณะราษฎรออกไปนั่งที่ระเบียงพระตำหนักเพื่อรอคอยพระกระแสรับสั่ง และเมื่อมีพระกระแสพระบรมราชโองการมาว่าจะทรงให้คำตอบในวันรุ่งขึ้น คณะผู้แทนของคณะราษฎรก็เดินทางกลับ ต่อมาในวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน คือวันรุ่งขึ้นเวลา ๑๗ น. เจ้าพระยามหิธรฯ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรก็ได้นำธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ทูลเกล้าฯถวาย ณ วังสุโขทัยในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว มาพระราชทานคณะราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม”

No comments: