Thursday, April 17, 2008

บทความที่๔๐๔.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๕)

ตอน คณะกรรมการราษฎร(ลาว)ประกาศเอกราช ตอนที่ ๑

สถานการณ์ด้านความมั่นคงของลาวช่วงนั้นกล่าวได้ว่า ตกอยู่ในสถานภาพตึงเครียดอย่างรุนแรง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองทั้งนี้เนื่องจากในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ เจียงไคเช็คได้ส่งกำลังทหารจีนคณะชาติเข้ามารับผิดชอบในการปลอดอาวุธทหารญี่ปุ่นเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ เป็นจำนวนถึง ๔ กองทัพ และ ๓ กองพลผสมอิสระ รวมกำลังพลทั้งสิ้นถึง ๑.๒ แสนคน ทหารเหล่านี้ไม่ค่อยมีระเบียบวินย ใช้อำนาจรังแกชาวบ้าน หลังปลอดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้วมีแผนการที่จะยึดครองพื้นที่เหนือเส้นขนาดที่ ๑๖ ซึ่งครอบคลุมภาคเหนือของเวียดนาม ลาว และภาคอีสานของไทย

ในช่วงเดียวกันนี้ พลตรี ดักลาส เกรซี ได้นำกำลงทหารอินเดียจากกองพลทหารราบที่ ๒๐ ในนามของอังกฤษจำนวน ๑กองพล มาโดยทางเรือ และขึ้นบกที่ไซ่ง่อนเพื่อทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นใต้เส้นขนานที่ ๑๖ ได้ปลดปล่อยนักโทษและทหารฝรั่งเศสที่ถูกญี่ปุ่นขังไว้ รวมทั้งแจกจ่ายอาวุธของญี่ปุ่นให้ และเกิดการปะทะกันระหว่างทหารฝรั่งเศสกับทหารเวียดมินห์ในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง จนอังกฤษต้องประกาศกฏอัยการศึก

ด้านนายพล เดอโกลล์แห่งรัฐบาลฝรั่งเศสเสรีได้ส่งนายพล ฌ๊าค ฟิลิปเป เลอเคริ์ค พร้อมด้วยทหารคอมมานโด ๒ กองพัน มายังเวียดนามโดยทางเรือ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ และติดอาวุธทันสมัยล่าสุดของอเมริกันที่ฝรั่งเศสได้เช่าซื้อมา อีกทั้งยังได้รับมอบอาวุธของญี่ปุ่นที่กองทหารอังกฤษปลดมาอีกจำนวนหนึ่ง

สถานการณ์ด้านการทหารของอาณานิคมฝรั่งเศสในดินแดนลาวช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ เรียกได้ว่ายังคงมีอำนาจทางการทหารในระดับที่เข้มแข็ง ทั้งนี้เนื่องจากในการปกครองดินแดนอินโดจีนนั้น ฝรั่งเศสได้วางกำลังทหารไว้ตามเมืองต่างๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ รวมทั้งเมืองหลักตลอดแนวลำน้ำโขง

ฐานที่ตั้งทางทหารตามเมืองริมแม่น้ำโขงที่อยู่เหนือสุดคือป้อมคาร์โนท์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่แก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมืองถัดลงมาตามลำน้ำโขงซึ่งมีฐานทางทหารตั้งอยู่ก็คือเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ปากซัน ท่าแขก สะหวันเขด แก่งกอก และปากเซ

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังใฐานที่ตั้งทางทหารและฐานหน่วยคอมมานโดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ในภาคเหนือ มีฐานกองทหารหน่วยคอมมานโดตั้งอยู่ที่เมืองไซ ในแขวงอุดมไซ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานกองทหารหน่วยคอมมานโดตั้งอยู่ที่เมืองเชียงขวางและที่เมืองซำเหนือ ในภาคกลางมีฐานกองทหารหน่วยคอมมานโดตั้งอยู่ที่เมืองคำเกิด ยมราช ส่วนภาคใต้นั้นมีฐานกองทหารหน่วยคอมมานโดตั้งอยู่ที่สะหวันเขด สาละวัน และอัตปือ

ขณะเดียวกันทางฝ่ายเวียดมินห์ก็มีหน่วยงานของฝ่ายตนตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองชายแดนต่างๆ ของไทย ที่มีรอยต่อตะเข็บชายแดนกับลาว คือบริเวณฝั่งตรงข้ามกับเมืองเวียงจันทน์ ปากซัน ท่าแขก และสะหวันเขด โดยมีฐานของเวียดมินห์อยู่ในดินแดนลาวที่เมืองเซโปนและนาเป นอกนั้นเป็นฐานที่ตั้งในพื้นที่ชายแดนเวียดนามด้านตรงข้ามซำเหนือ เชียงขวาง และหัวพัน

ในช่วงเวลานั้นเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ของลาว ตั้งแต่เมืองสะหวันเขดลงไปจนถึงชายแดนกัมพูชาที่อัตปือ ล้วนเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของ “คณะลาวอิสระ” ซึ่งมีส่วนหนึ่งรับแนวคิดสังคมนิยมและอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ที่มีการเผยแพร่อยู่ในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียงจันทน์และเมืองต่างๆในทางภาคใต้ อันได้แก่ ปากเซ สะหวันเขด เซโปน สาละวัน อัตปือ เขมลาด คำเกิด รวมทั้งเชียงขวางในภาคเหนือ

กลุ่มแนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ดังกล่าวมีแกนนำสำคัญคือ เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี หนูฮัก พูมสะหวัน ไกสอน พมวิหาน และคำไต สีพันดอน เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ การกู้ชาติของลาวไม่ค่อยมีความเป็นเอกภาพในองค์กรเท่าใดนัก อันเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของลุคคลที่มีความแตกต่างในสถานภาพทางสังคม และมีความหลากหลายในทัศนะความคิดค่อนข้างมาก โดยมีพื้นฐานความคิดแบบเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม และสังคมนิยม

ในช่วงเวลานั้นพลังประชาชนยังมีความเข้มแข็ง แม้ว่าบรรดาผู้มีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศจะมีความแตกต่างกันในด้านความคิด ทว่าบรรดาสมาชิกในขบวนการกู้ชาติลาวมีแก่นแกนความคิดที่เป็นจุดร่วมเดียวกัน และหล่อหลอมให้ทุกคนร่วมใจกันต่อสู้ นั่นคือความรักชาติซึ่งเรียกขานกันในช่วงเวลานั้นว่า “ลัทธฮักชาติ” อันเป็นแนวคิดที่ปรากฏขึ้นในท่ามกลางกระแสแนวคิดชาตินิยมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

เหงียน ไอ ก๊อกหรือโฮจิมินห์และเหล่าพลพรรคได้เข้ามาปฏิบัติงานใต้ดินเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ก่อนหน้าที่แนวคิดชาตินิยมจะก่อตัวไปทั่วโลก

การเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์ดังกล่าวดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยเงื่อนไขการเข้าครอบรองและปกครองเป็นเจ้าอาณานิคมการแย่งชิงทรัพยากร และกดขี่ขูดรีดแรงงานชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตราการเข้มงวดทางภาษี และการใช้กำลังปราบปรามต่อชนเผ่าม้งซึ่งมีถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และกรณีการบังคับใช้แรงงานชนชาติข่าในภาคกลางและภาคใต้ในการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทางบก และเป็นแรงงานถ่อเรือสำรวจแม่น้ำโขง กระทั่งนำไปสู่การก่อตั้งพรรคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓

No comments: