รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่ ๓
สหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากการร่วมมือสนับสนุนขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน ช่วงที่ทำสงครามต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นมาเป็นการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีน ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มแปรเปลี่ยน
สมาชิกกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสหรือกองกำลังติดอาวุธขบวนการกู้ชาติลาวได้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทย เข้าไปปฏิบัติการทางทหารในฝั่งลาวช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๙ และ ๒๔๙๐ ทว่าไม่ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติการของฝ่ายเวียดมินห์บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณภาคใต้ของลาวได้มีการก่อตั้ง “คณะกรรมการลาวฝ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ขึ้นมาทำการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคนสำคัญ คือ หนูฮัก พูมสะหวันและไกสอน พมวิหาน ดำเนินการภายใต้ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีผู้นำชนชาติส่วนน้อยลาวเทิงหรือข่าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีประวัติการต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน คือสีทน กมมะดัน และผู้นำชนเผ่าลาวสูงหรือชนเผ่าม้งคือเฝยดาง เลาเบยยือ เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย
ความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติลาวถูกติดตามตรวจสอบทุกระยะ จากรายงานด้านการข่าว ฝรั่งเศสรู้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และยืนกรานต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวอย่างไม่สั่นไหวคลอนแคลน กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นมีปัญหาในเรื่องการเงินอย่างมาก จำต้องดิ้นรนหารายได้มาใช้ในการดำรงชีพ เจ้าสุวันะพูมาใช้ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรม สมัครเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าของไทย ส่วนทหารที่กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณเมืองต่างๆ ตลอดแนวน้ำโขงในฝั่งไทย หาเงินด้วยการขายแรงงานรับจ้างทำงานสุจริตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนงาน คนสวน แม้กระทั่งชกมวยตามงานวัด ฯลฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เงินที่หามาได้ให้แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้ส่วนตัว อีกสองส่วนมอบให้กองกลางเพื่อนำไปจัดซื้อหาอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช
นอกจากปัญหาด้านการเงินแล้ว ยังมีความแตกต่างและขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดค่อนข้างมาก จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งกันเองในช่วงต่อมา
ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยการตอกลิ่มให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดมีช่องว่างห่างยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือส่งชายาของเจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ยื่นข้อเสนอให้บรรดาเหล่าสมาชิกและรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นพิจารณา
ข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นิรโทษกรรมไม่เอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ทั้งหมด คืนยศและบรรดาศักดิ์ให้ดังเดิม อีกทั้งยังจ่ายค่าเดินทางให้อีก ๘๐๐,๐๐๐ เปียสต้า
การเผชิญปัญหาด้านการเงินและปัญหาความแตกต่างในแนวคิดส่งผลให้คนสำคัญในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น คือ เจ้าสุวันนะพูมา คำม้าว วิไล และกระต่าย โตนสะโสลิด ตลอดจนสมาชิกในรัฐบาลหลายคน รวมทั้งทหารลาวอิสระส่วนหนึ่ง ตัดสินใจรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมของฝรั่งเศส ยกเลิกการต่อสู้ ยุติการต่อต้าน แล้วเดินทางกลับคืนประเทศในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒
ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี ลุตุลาน จุงคำหมื่น ลุงเสิม และสีทน กมมะดำ ผู้นำของชนชาติขมุ รวมทั้งคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ มุ่งมั่นยืนกรานที่จะต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศต่อไปให้ถึงที่สุด
กระนั้นฝรั่งเศสก็ไม่ละความพยายาม ใช้วิธีเอาผลประโยชน์เข้าล่อในลักษณะขุดบ่อล่อปลาเหมือนเช่นเดิม โดยยืมมือเจ้ากรมแสงสุวันนะราช อนุชาของเจ้าเพ็ดชะลาด ซึ่งยอมรับนโยบายของฝรั่งเศสและยินยอมทำงานให้ ฝรั่งเศสจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดและเหล่าบรรดาสมาชิกในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น รวมทั้งชักจูงให้กองกำลังทหารลาวอิสระที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สกลนคร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย และในบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาวด้านริมฝั่งแม่น้ำโขง วางอาวุธยุติการต่อสู้ แล้วเดินทางกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
สหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากการร่วมมือสนับสนุนขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน ช่วงที่ทำสงครามต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นมาเป็นการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีน ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มแปรเปลี่ยน
สมาชิกกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสหรือกองกำลังติดอาวุธขบวนการกู้ชาติลาวได้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทย เข้าไปปฏิบัติการทางทหารในฝั่งลาวช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๙ และ ๒๔๙๐ ทว่าไม่ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติการของฝ่ายเวียดมินห์บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณภาคใต้ของลาวได้มีการก่อตั้ง “คณะกรรมการลาวฝ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ขึ้นมาทำการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคนสำคัญ คือ หนูฮัก พูมสะหวันและไกสอน พมวิหาน ดำเนินการภายใต้ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีผู้นำชนชาติส่วนน้อยลาวเทิงหรือข่าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีประวัติการต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน คือสีทน กมมะดัน และผู้นำชนเผ่าลาวสูงหรือชนเผ่าม้งคือเฝยดาง เลาเบยยือ เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย
ความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติลาวถูกติดตามตรวจสอบทุกระยะ จากรายงานด้านการข่าว ฝรั่งเศสรู้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และยืนกรานต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวอย่างไม่สั่นไหวคลอนแคลน กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นมีปัญหาในเรื่องการเงินอย่างมาก จำต้องดิ้นรนหารายได้มาใช้ในการดำรงชีพ เจ้าสุวันะพูมาใช้ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรม สมัครเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าของไทย ส่วนทหารที่กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณเมืองต่างๆ ตลอดแนวน้ำโขงในฝั่งไทย หาเงินด้วยการขายแรงงานรับจ้างทำงานสุจริตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนงาน คนสวน แม้กระทั่งชกมวยตามงานวัด ฯลฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เงินที่หามาได้ให้แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้ส่วนตัว อีกสองส่วนมอบให้กองกลางเพื่อนำไปจัดซื้อหาอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช
นอกจากปัญหาด้านการเงินแล้ว ยังมีความแตกต่างและขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดค่อนข้างมาก จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งกันเองในช่วงต่อมา
ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยการตอกลิ่มให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดมีช่องว่างห่างยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือส่งชายาของเจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ยื่นข้อเสนอให้บรรดาเหล่าสมาชิกและรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นพิจารณา
ข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นิรโทษกรรมไม่เอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ทั้งหมด คืนยศและบรรดาศักดิ์ให้ดังเดิม อีกทั้งยังจ่ายค่าเดินทางให้อีก ๘๐๐,๐๐๐ เปียสต้า
การเผชิญปัญหาด้านการเงินและปัญหาความแตกต่างในแนวคิดส่งผลให้คนสำคัญในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น คือ เจ้าสุวันนะพูมา คำม้าว วิไล และกระต่าย โตนสะโสลิด ตลอดจนสมาชิกในรัฐบาลหลายคน รวมทั้งทหารลาวอิสระส่วนหนึ่ง ตัดสินใจรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมของฝรั่งเศส ยกเลิกการต่อสู้ ยุติการต่อต้าน แล้วเดินทางกลับคืนประเทศในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒
ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี ลุตุลาน จุงคำหมื่น ลุงเสิม และสีทน กมมะดำ ผู้นำของชนชาติขมุ รวมทั้งคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ มุ่งมั่นยืนกรานที่จะต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศต่อไปให้ถึงที่สุด
กระนั้นฝรั่งเศสก็ไม่ละความพยายาม ใช้วิธีเอาผลประโยชน์เข้าล่อในลักษณะขุดบ่อล่อปลาเหมือนเช่นเดิม โดยยืมมือเจ้ากรมแสงสุวันนะราช อนุชาของเจ้าเพ็ดชะลาด ซึ่งยอมรับนโยบายของฝรั่งเศสและยินยอมทำงานให้ ฝรั่งเศสจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดและเหล่าบรรดาสมาชิกในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น รวมทั้งชักจูงให้กองกำลังทหารลาวอิสระที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สกลนคร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย และในบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาวด้านริมฝั่งแม่น้ำโขง วางอาวุธยุติการต่อสู้ แล้วเดินทางกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
No comments:
Post a Comment