Friday, April 18, 2008

บทความที่๔๐๗.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๘)

คณะกรรมการราษฎร(ลาว)ประกาศเอกราช ตอนที่ ๔ (จบ)
รุ่งเช้าวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ประชาชนชาวลาวและชาวต่างประเทศอันได้แก่ จีนและเวียดนาม ได้มารวมตัวกันรอฟังคำแถลงประกาศเอกราชอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานแขวงเวียงจันทน์ เวลา ๐๗.๓๐ น. พญาคำม้าว ประธานคณะกรรมการราษฎรได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อประชาชน ชี้แจงถึงเหตุการณ์บ้านเมืองและจุดประสงค์ของ “คณะกรรมการราษฎร” เกี่ยวกับการประกาศเอกราชและอิสรภาพ

จากนั้นนายพล ทัม ไชยะสิดเสนา ได้ขึ้นมาอ่านคำปะกาศ ๕ ฉบับ คือ

๑.คำประกาศเอกราชและอิสรภาพของประเทศลาว

๒.คำประกาศรวมผืนแผ่นดินลาวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

๓. คำแถลงการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

๔.คำประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉับชั่วคราวและ

๕.คำประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

หลังเสร็จการประกาศเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.คณะกรรมการราษฎร ซึ่งมีพญาคำม้าวเป็นประธาน รวมทั้งบรรดาประชาชน ได้พากันไปเข้าเฝ้าเจ้าเพ็ดชะลาดและแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีขึ้น

เจ้าเพ็ดชะลาดออกมาต้อนรับและชี้แจงให้ทุกคนทราบว่า เวลานี้หมดภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว ต่อไปนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นในวันนี้เป็นผู้รับผิดชอบ คณะกรรมการราษฎรจึงกลับมาประชุมเพื่อจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในการดำเนินการจัดั้งสภาผู้แทนราษำร ได้มีการเชิญข้าราชการ ทหร พ่อค้าและประชาชนผู้ทรงคณวุฒิมาร่วมเป็นสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น ๔๕ คน ที่ประชุมได้เลือกพญาคูน พิลาวัน เป็นประธานสภา คำใบ พิลาพันเดด เป็นรองประธานและอำพอน พลราช เป็นเลขาธิการ หลังจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้ให้การรับรองรัฐบาลที่ได้จัดตั้งมาก่อนหน้านี้ โดยมีพญาคำม้าวเป็นนายกรัฐมนตรี

การประกาศเอกราช การมีอิสรภาพ-อธิปไตย การจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรและการมีรัฐบาลเอกราชแห่งชาติบรรลุวัตถุประสงค์โดยสมบูรณ์ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ถือได้ว่า เจ้าเพ็ดชะลาดและ “คณะกรรมการราษฎร” ได้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่ง

หลัง “คณะกรรมการราษฎร” ประกาศเอกราชและอิสรภาพ ส่งผลให้ลาวมีรัฐบาลเอกราชเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นรัฐบาลได้โทรเลขแจ้งไปยังนานาประเทศเพื่อให้รับรู้และรับรองการเป็นเอกราช ทว่ามีเพียงเวียดนามประเทศเดียวเท่านั้นที่ให้การรับรองในทันที นอกนั้นไม่มีประเทศอื่นใด

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกมาแถลงคัดค้านการประกาศเอกราชและอิสรภาพโดยถือว่า เจ้าชีวิตสว่างวงผู้เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ ได้ยินยอมให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอำนาจปกครองลาวดังเดิม จึงตอบโต้รัฐบาลเอกราชด้วยการถอนเงินในคลังออกไปเป็นจำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นในประเทศ และเมื่อกองทัพญี่ปุ่นถอนตัวออกไปจากลาว ก็ได้ขนเงินออกไปอีกเป็นเป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นมีเงินเหลือคงคลังไม่ถึงหนึ่งแสนกีบ ส่งผลให้ลาวต้องเผชิญกับวิกฤตด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรง

ต่อปัญหาดังกล่าว “สมาคมลาวเป็นลาว” ขบวนการชาตินิยม ที่แสดงจุดยืนว่าเป็นสมาคมของคนลาวผูรักชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในการพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยการขออนุญาตต่อรัฐบาลลาวอิสระ ทำการเรี่ยไรเงินจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำมาใช้จ่ายในภาครัฐและใช้ในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ พร้อมกันนี้ทางด้านรัฐบาลลาวอิสระได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังประเทศเวียดนามขอแบ่งเงินงบประมาณที่รวมกันอยู่ทั้งสามประเทศ ตามที่ฝรั่งเศสได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้ลาวทั้งสิ้น ๔ ล้านกีบ ทว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่เป็นผล ด้วยเหตุนี้รัฐบาลลาวอิสระจึงคิดหาทางออกด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้เองใบละ ๕๐ อัฐและ ๑๐ กีบ

นอกเหนือจากปัญหาภาวะวิกฤตด้านการคลังแล้ว ลาวยังต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน นั่นก็คือ รัฐบาลไม่มีกำลังทหารและไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากพอที่จะต่อต้านฝรั่งเศส ซึ่งหวนกลับมาเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่

ด้านคณะกรรมการราษฎรได้ยุบตัวเองและยุติบทบาทลงโดยปริยาย ตามมาตรา ๑๔ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งนี้เนื่องจากในการตั้งสภาผู้แทนราษฎร ผู้ได้รับเลือกให้เข้ามาส่วนใหญ่เนสมาชิกในคณะกรรมการราษฎรนั่นเอง

หลังจากตั้งรัฐบาลอิสระขึ้นเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เกิดปัญหามีรัฐบาลซ้ำซ้อนสองรัฐบาล คือ รัฐบาลหลวงพระบาง ซึ่งมีเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นนายกรัฐมนตรีหลังถูกเจ้าชีวิตปลดออกจากตำแหน่งมหาอุปราช ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ และรัฐบาลลาวอิสระ ซึ่งมีพญาคำม้าวเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลอิสระได้เสนอลู่ทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยโทรเลขไปยังเจ้าชีวิตสว่างวง ขอให้รับรองว่า รัฐบาลลาวอิสระเป็นของพระองค์เพียงรัฐบาลเดียวและในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลลาวอิสระได้ขอให้เจ้าชีวิตสว่างวงตอบกลับภายใน ๒๔ ชั่วโมง หากว่าเลยกำหนดนี้แล้วมิได้รับคำตอบประการใด รัฐบาลลาวอิสระก็จะดำเนินงานทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ทว่าไม่มีคำตอบใดๆ จากเจ้าชีวิตสว่างวง รัฐบาลลาวอิสระจึงได้ส่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งพร้อมกับคณะกรรมการพิเศษ ลงเรือเดินทางไปยังหลวงพระบางเพื่อกราบทูลทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ทันเดินทางไปถึงเมืองหลวงพระบาง บรรดาประชาชนซึ่งมีเจ้าบุนยะวัติ เจ้าแขวงหลวงพระบางเป็นหัวหน้า ได้พากันเข้ากราบทูลให้ทราบถึงการประกาศเอกราชและอิสรภาพ เจ้าชีวิตสว่างวงจึงได้ประกาศสละราชสมบัติ โดยให้เหตุผลว่า สุขภาพไม่สมบูรณ์เนื่องจากทรงดำเนินการกิจมานาน ทำหน้าที่เป็นเจ้าชีวิตสืบราชสมบัติแทน

จากนั้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๘ เจ้าสีสว่างวง อดีตเจ้าชีวิตก็ได้ส่งบันทึกลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ ให้คำมั่นสัญญาแก่รัฐบาลลาวอิสระ ซึ่งมีพญาคำม้าวเป็นนายกรัฐมนตรี ๓ ข้อ มีใจความสำคัญดังนี้

๑. ข้าพเจ้าสีสว่างอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศลาวอย่างแท้จริง

๒. ช่วงที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าชีวิตอยู่นั้น มิได้ลงนามในสัญญากับทูตฝรั่งเศสผู้หนึ่งผู้ใด เกี่ยวกับประเทศชาติลาว และ

๓. รัฐบาลใหม่นี้ตั้งขึ้นโดยประการใดก็ดี ข้าพเจ้ามิได้ผูกอาฆาตพยาบาทต่อคณะกรรมการราษฎรแต่อย่างใด ขอให้อโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้ทำหนังสือนี้ไว้เป็นสำคัญ”

No comments: