Sunday, October 7, 2007

บทความที่ ๓๒๗. ตุลาแดงรำลึก (๓)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๓-
ในกรณี ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ หลายฝ่ายที่ไม่เข้าใจเรียกว่า ขบถวังหลวง บ้าง ขบถ ๒๖ กุมภาพันธ์ บ้าง แต่อาจารย์ปรีดีฯ เรียกว่า ขบวนการ ๒๖ กุมภา อันเป็นขบวนการที่ชอบธรรมที่จะปราบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นขบถ/และรัฐบาลที่เป็นผลพวงต่อมาจาก ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก็ย่อมตกอยู่ในฐานะขบถเช่นกัน เช่นเดียวกับขมายที่สืบต่อมาจากขโมย

เพราะว่าอำนาจสูงสุดของประเทศที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อำนาจอธิปไตย ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจดังกล่าวนี้แต่ภายหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ต่อมาอีก ๓ วันคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มอบอำนาจสูงสุดของประเทศที่พระองค์ทรงมีอยู่โดยชอบตามระบอบราชาธิปไตย คืนให้กับราษฎร ดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑ ของธรรมนูญการปกครองฉบับนั้น ที่ระบุไว้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร และนับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ อำนาจสูงสุดของประเทศจึงเป็นของราษฎรทั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย(ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม)และชอบโดยธรรม

รัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ถูกโค่นโดยรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณและคณะนั้น เป็นรัฐบาลที่ถืออำนาจสูงสุดของประเทศ โดยการมอบหมายของราษฎรจึงเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยธรรม ตามวิถีทางประชาธิปไตย

การโค่นล้มรัฐบาลถวัลย์ฯ โดยคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณและคณะจึงเป็นขบถ และแม้ว่ารัฐบาลควง อภัยวงศ์จะได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๐ แก่ผู้กระทำรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ไปแล้วก็ตาม

แต่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารที่เป็นขบถนั้นเอง และรวมทั้งวุฒิสภาที่ผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมา ก็เป็นวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่เป็นขบถเช่นกั และแม้คณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เป็นผู้ลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช อนุมัติพระราชบัญบัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ ก็เป็นคณะบุคคลที่คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่เป็นขบถตั้งขึ้นมาเช่นเดียวกัน

โดยสรุป พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๐ แก่ผู้กระทำการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายนจึงเป็นโมฆะ ความผิดของคณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ จึงยังอยู่และรัฐบาลที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ ที่เป็นขบถ จึงเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยธรรม

จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยธรรมที่ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ดำเนินการทางทหารช่วงชิงอำนาจรัฐคืนมาจากฝ่ายขบถ คือรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สืบต่ออำนาจจากรัฐบาลควง อภัยวงศ์ แต่เป็นโชคร้ายของประชาชนไทยที่ฝ่ายขบถหรือฝ่ายอธรรมเอาชนะฝ่ายธรรมและได้สืบต่ออำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยธรรมต่อๆ กันมาจนบัดนี้ บ้านเมืองของเราจึงวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเผด็จการจนบัดนี้นับแต่รัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐ เป็นต้นมา

ระหว่างเผด็จการทหารอำมาตยาธิปไตยและเผด็จการทุนอำมาตยาธิปไตยอันเป็นธรรมดาของช่วงระยะเวลาของการต่อสู้ระหว่างพลังใหม่ที่ก้าวหน้ากับพลังเก่าที่ล้าหลังที่ย่อมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ในที่สุดพลังใหม่ที่ก้าวหน้าจะต้องชนะพลังเก่าเสมอไป นี่คือกฎธรรมชาติ

ดังตัวอย่างการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยนายทุนหรือประชาธิปไตยเจ้าสมบัติ อันเป็นพลังใหม่ที่ก้าวหน้าในประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มแต่ปี ค.ศ.๑๗๘๙ การต่อสู้ระหว่างพลังใหม่ที่ก้าวหน้ากับพลังเก่าที่ล้าหลัง ดำเนินมาถึงปี ค.ศ.๑๘๗๑ ในระหว่างการต่อสู้ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๗๘๙ ถึงปี ค.ศ.๑๘๗๑ เป็นเวลาถึง ๘๒ ปี ต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ในที่สุดพลังใหม่ที่ก้าวหน้าประชาธิปไตยนายทุนเจ้าสมบัติก็ชนะพลังเก่าที่ล้าหลังศักดินาอำมาตยาธิปไตยอย่างเด็ดขาด

สำหรับในบ้านเมืองของเรา การปฏิวัติประชาธิปไตยเจ้าสมบัติหรือนายทุนเริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ จนบัดนี้ (๒๕๕๐) ก็เป็นเวลา ๗๕ ปีแล้ว อีก ๗ ปีจึงจะถึง ๘๒ ปีอย่างฝรั่งเศส และจะต้องประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกับฝรั่งเศสอย่างแน่นอน เพราะพลังใหม่ที่ก้าวหน้าย่อมชนะพลังเก่าที่ล้าหลังเสมอไป

แต่ก่อนเวลา ๘๒ ปีหลังหลัง ๘๒ ปีนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แต่ก็ต้องชนะแน่ๆ ในที่สุด เพราะนี่คือกฎธรรมชาติ

No comments: