Thursday, October 4, 2007

บทความที่๓๒๒.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๕

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๖ การเข้าพบประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
รองประธานาธิบดีหลี่จุงเหรินประธานาธิบดีโรฮัส
ประธานาธิบดีทูรแทน พระเจ้ายอร์ชที่ ๖
ประธานาธิบดีเลออง บลุม ฯลฯ
-๓-
ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คและมาดามเจียงได้ต้อนรับเราอย่างฉันมิตร ระหว่างการสนทนา ด.ร.ที.วี.ซุง (T.V.SUNG) พี่ชายมาดามเจียง และรักษาการในตำแหน่งประธานสภาบริหารขณะนั้น(เทียบเท่านายกรัฐมนตรี)ก็ได้ร่วมสนทนาด้วย ประธานสภาบริหารของจีนได้สัญญากับข้าพเจ้าว่า จะสนับสนุนการเข้าขอเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของประเทศสยาม เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ประเทศสยามไม่ได้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น คณะผู้แทนจีนในองค์การสหประชาชาติจะได้รับแจ้งมติดังกล่าวของรัฐบาลจีน

ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คได้ขอกับข้าพเจ้าว่าให้เจ้าหน้าที่ทูตสยามทุกคนพำนักอยู่ที่นานกิงซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลจีน ไม่ให้พำนักที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งขณะนั้นเป็นที่พำนักของเอกอัครราชทูตอื่นๆ โดยเอกอัครราชทูตเหล่านั้น ส่งเพียงแค่เลขานุการที่รับผิดชอบกิจการของสถานทูตคนหนึ่งไปประจำที่นานกิง

ในสมัยนั้นเราจะเห็นขอทานมากมายที่นานกิงและทั่วประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ถึงขนาดที่ว่าเวลาไปจ่ายตลาดแต่ละครั้งกระเป๋าสตางค์จะไม่พอใส่ธนบัตรสำหรับซื้อของที่จำเป็นเลย

-๔-
เราได้ขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลจีนส่งมาอำนวยความสะดวก เพื่อเดินทางไปเยือนปักกิ่ง นครปักกิ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เป่ยผิง” หลังจากที่รัฐบาลย้ายที่ตั้งไปอยู่นานกิง หรี่จุงเหรินรองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น บุคคลผู้นี้รับผิดชอบในการป้องกัน “นครเป่ยผิง” และภูมิภาคด้านเหนือจากการรุกคืบหน้าของคอมมิวนิสต์ เขาได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาของฝ่ายพลเรือนของจีน (ที่ปรึกษาการเมือง)ที่ใกล้ชิดกับอเมริกา

ข้าพเจ้าจำได้ว่าบริเวณหน้าทางเข้าทำเนียบรัฐบาลด้านจตุรัส “เทียน อันเหมิน” ซึ่งเป็นสถานที่แขวนรูปของประธานเหมาฯ ในปัจจุบันนี้นั้น เมื่อก่อนเคยที่เป็นที่แขวนรูปของเจียงไคเช็ค กองบัญชาการของหรี่จุงเหรินตั้งอยู่ในพระราชวังจงหนานไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน

ขณะนั้นทั้งข้าพเจ้าและหรี่จุงเหรินไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอีก ๑๙ ปีต่อมา คือในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เราจะได้พบกันอีกครั้งหนึ่งที่ “ประตูเทียน อันเหมิน” อันมีชื่อเสียงนี้ เพื่อร่วมงานฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนครบรอบ ๑๖ ปี ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศสยามและความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ซึ่งนำโดยข้าพเจ้าเอง ทำให้ตัวข้าพเจ้าต้องขอลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลราษฎรจีน ส่วนหรี่จุงเหรินนั้นหลังจากข้าพเจ้าได้เข้าเยี่ยมที่ปักกิ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ไม่กี่เดือน เขาก็ได้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนคณะชาติและดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเดียวกัน ซึ่งย้ายมาอยู่ที่กวางตุ้ง

เมื่อกองทัพราษฎรซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยาตราเข้ามาใกล้เมืองกวางตุ้ง หรี่จุงเหรินก็ได้เดินทางออกจากจีนไปสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากการทดสอบระเบิดปรมาณูในจีนได้ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก หรี่จุงเหรินได้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาอย่างลับๆ และกลับเข้ามาในจีน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานเหมาฯ และนายกโจวเอินไหล ในฐานะผู้รักชาติชาวจีน เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามทำให้ประเทศจีนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เท่าที่ตนจะสามารถทำได้

ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ควรสังเกต คือ “ผู้สังเกตการณ์เกี่ยวกับจีน” ย่อมรู้ดีว่า มาดามเจียงไคเช็คเป็นน้องสาวคนสุดท้องของมาดามซุนยัดเซ็น (ดร.ซุนยัดเซ็นเป็นนักอภิวัฒน์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งนำการอภิวัฒน์เจ้าสมบัติของจีนในปี พ.ศ.๒๔๕๔)มาดามซุนยัดเซ็นยังคงดำเนินนโยบายของ ดร.ซุนยัดเซ็น ในส่วนที่เกี่ยวกับการร่วมมือกับคอมมิวนิสต์

มาดามซุนยัดเซ็นได้เป็นรองประธานาธิบดีคนหนึ่งของรัฐบาลราษฎรจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ และต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน(ปีที่ท่านปรีดี พนมยงค์เขียนเรื่องนี้-แด่บรรพชนฯ)ส่วนมาดามเจียงและเจียงไคเช็คก็ยังให้ความนับถือ ดร.ซุนยัดเซ็น เสมอมา

พี่สาวคนโตซึ่งเป็นภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีจีนและน้องสาวอีก ๒ คน ต่างก็มีความเข้าใจกันดีแล้วในช่วงสงครามต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งเป็นศํตรูร่วมกัน

ด้วยข้อเท็จจริงอันนี้ จึงน่าคิดว่าพี่น้อง ๓ คนนี้จะสามารถร่วมมือกันในอนาคต เพื่อการรวมชาติอย่างสันติของจีนหรือไม่

โจวเอินไหล และเจียงไคเช็คเคยร่วมมือกันที่สถาบันการทหารแห่งกวางตุ้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ตอนนั้นเจียงไคเช็คมียศพันตรี และโจวเอินไหลเป็นอาจารย์วิชาการเมือง โจวเอินไหลเป็นผู้ดำเนินการให้ปล่อยตัวเจียงไคเช็คเมื่อคราวถูกนายพลจางโซเหลียงจับกุมในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ต่อมาอีกหลายสิบปี เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โจวเอินไหลได้ให้สัมภาษณ์นายเจมส์ เรสตัน (Jame Reston) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นรองประธานหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ข้าพเจ้าของอ้างข้อความในจุลสารที่ตีพิมพ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นรายงานของนักหนังสือพิมพ์อเมริกันผู้นี้เกี่ยวกับความคิดของโจวเอินไหลที่มีต่อเจียงไคเช็ค ดังนี้

โจวเอินไหลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้จักเจียงไคเช็ค และที่แน่นอนอย่างหนึ่ง แม้ในสายตาของอเมริกันก็คือ เจียงไคเช็คเป็นคนที่ต่อต้านความกดดันจากอเมริกัน ไม่เหมือนกับ เหงียนวันเทียวที่ไซ่ง่อน เจียงไคเช็คเป็นคนรักชาติ และคนรอบข้างไม่เป็นเช่นนั้น ...” โจวเอินไหลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ซี.ไอ.เอ.ก็รู้เรื่องนี้ดี”

No comments: